กรณีศึกษา บะหมี่หมื่นลี้ ธุรกิจ 100 ล้าน เจ้าของเป็น นักบัญชี

กรณีศึกษา บะหมี่หมื่นลี้ ธุรกิจ 100 ล้าน เจ้าของเป็น นักบัญชี

11 ก.ค. 2023
กรณีศึกษา บะหมี่หมื่นลี้ ธุรกิจ 100 ล้าน เจ้าของเป็น นักบัญชี | BrandCase
บางครั้งการที่เราชอบหรือหลงใหลในอะไรบางอย่าง ก็อาจสามารถนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจ จนประสบความสำเร็จได้
เหมือนกับเรื่องราวของ “บะหมี่หมื่นลี้” ธุรกิจผลิตเส้นบะหมี่รายได้หลัก 100 ล้านบาท ที่สร้างขึ้นมาโดย “นักบัญชี” ที่หลงใหลในการทานบะหมี่มาก ๆ
แล้วเรื่องราวของ บะหมี่หมื่นลี้ น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของบะหมี่หมื่นลี้ เกิดจากคุณลาวัลย์ ศรีรุ่งเรืองจิต ที่เปิดสำนักบัญชีเล็ก ๆ และดูแลด้านบัญชีให้กับบริษัทส่งออกอาหารของครอบครัว
แต่พอเธอมีลูก เธอก็เริ่มกังวลว่ารายได้ของตัวเองที่มีอยู่นั้น จะไม่เพียงพอที่จะส่งเสียให้ลูกเรียนหนังสือในอนาคต คุณลาวัลย์จึงเริ่มมองหาช่องทาง ในการหารายได้เพิ่ม
ด้วยความที่เธอเป็นคนที่ชอบทานบะหมี่เป็นทุนเดิม และดูแลบริษัทส่งออกอาหารของครอบครัวด้วย
ทำให้เธอมีความคิดที่จะทำธุรกิจผลิตเส้นบะหมี่ เธอจึงเริ่มเก็บหอมรอมริบ เพื่อเป็นทุนมาทำธุรกิจนี้
ในระหว่างที่เก็บสะสมทุน คุณลาวัลย์ก็เริ่มศึกษาหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร หรือ Food Science ด้วยตนเอง
รวมถึงลองไปปรึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อนำความรู้และงานวิจัยที่มีประโยชน์ มาช่วยในการวางแผนธุรกิจ
จนในปี 2545 คุณลาวัลย์ ก็ได้จัดตั้ง บริษัท ยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด และเริ่มผลิตสินค้าอย่างเป็นทางการในอีก 2 ปีต่อมา
โดยยึดหลักการง่าย ๆ คือ ถ้าเราอยากทานแบบไหน ก็อยากให้ลูกค้าได้ทานแบบนั้น
โดยบะหมี่ของคุณลาวัลย์นั้น ไม่ใช้แป้งฟอกสี ปราศจากวัตถุกันเสีย และสีสังเคราะห์
นอกจากนี้เธอยังจัดการทำระบบมาตรฐานการผลิตต่าง ๆ ทั้งระบบประกันคุณภาพในการผลิตอาหาร การผลิตอาหารตามหลักอาหารฮาลาล รวมไปถึงเครื่องหมายเชลล์ชวนชิม
เรียกได้ว่า มาตรฐานไหนที่สินค้าของคุณลาวัลย์ จำเป็นต้องมี เธอก็ทำให้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ทั้งหมด เพื่อทำให้ บะหมี่หมื่นลี้ ของเธอ ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน นอกจากเส้นบะหมี่แบรนด์หมื่นลี้ ซึ่งเป็นตัวชูโรงแล้ว บริษัทก็ยังได้ขยายไลน์สินค้าของตัวเองออกไปอีกหลายกลุ่ม
เช่น แผ่นเกี๊ยวจีน, แผ่นเกี๊ยวซ่า, เส้นยากิโซบะ, เส้นราเม็น และเส้นอุด้ง
ภายใต้เครื่องหมายการค้า หมื่นลี้, มัมปูกุ, เส้นเงิน และเส้นไหม
โดยนอกจากขายในไทย ก็มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งในทวีปเอเชียและยุโรป
ส่วนในประเทศไทยนั้น บริษัทได้ทำการจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง ผ่านการวางขายตามตลาด และร้านโมเดิร์นเทรด
รวมถึงยังรับจ้างผลิตสินค้าให้กับลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อไปทำเป็น Ready to eat และ Ready to cook
รายได้และกำไรของ บริษัท ยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด เจ้าของบะหมี่หมื่นลี้
ปี 2564 รายได้ 109 ล้านบาท กำไร 25 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 113 ล้านบาท กำไร 12 ล้านบาท
ต้องบอกว่าถึงแม้ในตลาดเส้นบะหมี่ จะมีคู่แข่งหลายราย และมีรายใหญ่ที่มีทุนหนา
แต่อาหารประเภทเส้นนั้น เป็นอาหารที่สามารถทานได้ทุกเพศ ทุกวัย และได้รับความนิยม แทบไม่ต่างจากข้าว ทำให้ธุรกิจบะหมี่หมื่นลี้นั้น เติบโตเรื่อยมา
มาถึงตรงนี้ เราคงได้เห็นว่าธุรกิจบะหมี่หมื่นลี้ รายได้หลัก 100 ล้านบาท เริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัวของผู้ก่อตั้งอย่างคุณลาวัลย์ ที่หลงใหลในการทานบะหมี่
แล้วค่อยนำมาต่อยอดให้กลายเป็นธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จ..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.