กลยุทธ์ อิงอร ขายสบู่บ้าน ๆ รายได้ 1,000 ล้าน

กลยุทธ์ อิงอร ขายสบู่บ้าน ๆ รายได้ 1,000 ล้าน

18 มิ.ย. 2023
กลยุทธ์ อิงอร ขายสบู่บ้าน ๆ รายได้ 1,000 ล้าน | BrandCase
ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัว ที่ทำสบู่สมุนไพรขาย คุณคิดว่าในแต่ละปี จะสามารถขายสบู่ ได้เท่าไร ?
คำตอบอาจจะมีตั้งแต่ 1 ล้านบาท 10 ล้านบาท ไปจนถึง 100 ล้านบาท
แต่รู้หรือไม่ว่า ? มีสบู่สมุนไพรบ้าน ๆ แบรนด์หนึ่ง ที่สามารถขายสบู่ได้ถึงปีละพันล้านบาท
แบรนด์นั้นคือ “สบู่อิงอร”
ปี 2565 สบู่อิงอร มีรายได้รวม 1,074 ล้านบาท และกำไร 206 ล้านบาท
แล้วอิงอร ใช้กลยุทธ์อะไร ?
BrandCase สรุปให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของสบู่อิงอร เกิดจาก คุณแนน-พิชญา ศรายุทธ ลูกเขยของผู้ก่อตั้ง บริษัท ดีเอฟที (ประเทศไทย) จำกัด
ย้อนกลับไปช่วงก่อนที่จะเกิดแบรนด์สบู่อิงอร
ธุรกิจเดิมของบริษัทนี้ เริ่มต้นมาจากการขายครีมแก้สิวแก้ฝ้า ที่เน้นขายในตลาดต่างจังหวัดมาก่อน
แต่เนื่องจากทำสินค้าเดิม ๆ มานาน ครีมแก้สิวแก้ฝ้าที่บริษัททำอยู่ ก็เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง
สมาชิกในบ้านก็เริ่มแยกย้ายกันออกไปทำธุรกิจอื่น
ในช่วงนั้น คุณแนน-พิชญา ศรายุทธ ว่าที่ลูกเขยของบ้านที่เพิ่งเรียนจบจากต่างประเทศ จึงเข้ามารับช่วงต่อ
ความท้าทายของคุณแนนในตอนนั้นคือ การมองหาสินค้าตัวใหม่ให้กับบริษัทของพ่อตา
คุณแนนจึงเริ่มจากการตั้งโจทย์ให้กับสินค้าตัวใหม่ คือ “ต้องเป็นสินค้าที่ทุกคนใช้ทุกวันและมีทุกบ้าน”
ประกอบกับพ่อตา เป็นคนที่มีความรู้เรื่องสมุนไพรเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
คุณแนนจึงตัดสินใจเลือกทำ สบู่สมุนไพร
เพราะมองว่าสบู่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้เป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว
และตลาดสบู่ในช่วงนั้น ก็ยังไม่ค่อยมีแบรนด์ไหนทำสบู่สมุนไพรคุณภาพดีออกมาขาย
เมื่อมองเห็นช่องทางธุรกิจใหม่ จึงเกิดเป็นแบรนด์สบู่สมุนไพร “อิงอร” ขึ้นมาในปี 2547
โดยมีสินค้าตัวแรก คือ สบู่อิงอร สูตรมะขาม
หลังจากนั้น สบู่สมุนไพรอิงอร ก็ค่อย ๆ เป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
ผลประกอบการที่ผ่านมาของ บริษัท ดีเอฟที (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของสบู่อิงอร
ปี 2563 รายได้รวม 994 ล้านบาท กำไร 223 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 1,110 ล้านบาท กำไร 235 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้รวม 1,074 ล้านบาท กำไร 206 ล้านบาท
แล้ว อิงอร มีวิธีการขายสบู่อย่างไร ให้รายได้แตะพันล้านบาท ?
-ใช้สื่อโฆษณาให้เหมาะสมตามยุคสมัย
เนื่องจากพ่อตาของคุณแนน เคยเป็นนักการตลาดและโฆษกมาก่อน
จึงทำให้แบรนด์อิงอร รู้จักการทำการตลาดด้วยการใช้สื่อโฆษณาเป็นอย่างดี
อย่างในยุคแรกที่คนไทยนิยมฟังวิทยุ อิงอรก็ทำการตลาดโดยโฆษณาผ่านสถานีวิทยุเป็นหลัก
ที่น่าสนใจคือ อิงอรจะเลือกจ้างดีเจท้องถิ่นในการโฆษณาสบู่อิงอร ทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคตามต่างจังหวัดได้ง่ายขึ้น
เมื่อเวลาผ่านไป เริ่มหมดยุคของการฟังวิทยุ
แบรนด์อิงอร จึงหันมาทำการตลาดโดยทำหนังโฆษณาผ่านทางทีวีแทน
พร้อมกับวลีฮิตติดหู “สวยจริง อิงอร”
และปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่มีการเสพสื่อออนไลน์มากกว่าการดูทีวี แบรนด์อิงอร ก็ทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยเหมือนกัน
เช่น การจัด Dancing Challenge บน TikTok เพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้จักแบรนด์มากขึ้น
-ใช้พรีเซนเตอร์ในกระแส เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ
เนื่องจากอิงอรเป็นสบู่สมุนไพรบ้าน ๆ ที่อยู่มานานแล้ว และกลุ่มลูกค้าหลักส่วนใหญ่คือคนต่างจังหวัด
หลายคนก็มองว่าอิงอรเป็นแบรนด์สบู่ที่เก่าและเชยแล้ว
ดังนั้นการทำให้แบรนด์อิงอรเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นใหม่อาจยังไม่พอ
แต่ต้องทำให้คนรุ่นใหม่หันมาใช้สบู่ของอิงอรด้วย
อิงอรจึงแก้ปัญหานี้ ด้วยการใช้พรีเซนเตอร์ที่เป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่ รวมถึงอีกหลาย ๆ รุ่น
ซึ่งก็คือ คุณใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์
เพื่อล้างความเก่าและความเชยของแบรนด์ออกไป
ทำให้แบรนด์อิงอรดูทันสมัยขึ้น และน่าใช้มากขึ้น
-ดิไซน์แพ็กเกจจิงใหม่ ให้ไม่เชย
ต่อให้แบรนด์จะจ้างพรีเซนเตอร์ที่วัยรุ่นแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าแพ็กเกจจิงของสินค้ายังดูเชยอยู่
คนรุ่นใหม่ก็คงไม่มีใครอยากซื้อสบู่อิงอรมาใช้
จากปัญหาตรงจุดนี้เอง ทำให้แบรนด์อิงอรมีการปรับแพ็กเกจจิงให้มีสีสันสดใสขึ้น
มีการออกแบบลวดลายที่อยู่บนแพ็กเกจจิง ให้ลายเส้นดูทันสมัยมากขึ้น
เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูเด็กลง และน่ารักสะดุดตา
ปัจจุบันอิงอร ไม่ได้มีแค่สบู่สมุนไพรแบบก้อน แต่บริษัทยังมีการแตกไลน์สินค้าไปเป็น ครีมอาบน้ำ โลชันบำรุงผิว แชมพูสระผม และครีมนวดผม
รวมถึงพัฒนาสูตรสมุนไพรใหม่ ๆ เช่น น้ำนมจมูกข้าว น้ำนมแพะ ส้ม และมะละกอ
เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้หลากหลายมากขึ้นด้วย
และตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ของแบรนด์สบู่สมุนไพรที่ชื่อ อิงอร
ทำให้เราเห็นแล้วว่า บางครั้งแค่มีสินค้าดีอาจไม่พอ
แต่แบรนด์ต้องฉลาดทำการตลาด ต้องปรับตัว และขยายตลาดไปหากลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ อยู่เสมอ
เพื่อให้แบรนด์ยังคงยืนอยู่ในตลาดได้ แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.