กรณีศึกษา MOS Burger คู่แข่งตัวตึง ของ McDonald's ในญี่ปุ่น

กรณีศึกษา MOS Burger คู่แข่งตัวตึง ของ McDonald's ในญี่ปุ่น

15 มิ.ย. 2023
กรณีศึกษา MOS Burger คู่แข่งตัวตึง ของ McDonald's ในญี่ปุ่น | BrandCase
ในหลายประเทศ เจ้าตลาดฟาสต์ฟูดที่ขายเบอร์เกอร์ จะเป็นแบรนด์อย่างเช่น McDonald's, Burger King, KFC
แต่รู้หรือไม่ว่าที่ญี่ปุ่น มีแบรนด์ชื่อว่า “MOS Burger” ที่ขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 เป็นรองเพียงแค่ McDonald's
แล้ว MOS Burger เป็นใคร ?
ทำไมถึงเป็นคู่แข่งตัวตึง ของ McDonald's ในญี่ปุ่น
BrandCase จะสรุปให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของ MOS Burger เริ่มขึ้นในปี 1971 โดยคุณซาโตชิ ซากุระดะ ที่ตอนนั้นยังเป็นพนักงานออฟฟิศแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น
คุณซาโตชิ เห็นคนญี่ปุ่น ต่อแถวเข้าคิวซื้อเบอร์เกอร์จากร้าน McDonald's ที่เพิ่งจะเข้าเปิดสาขาแรกในญี่ปุ่น ที่ย่านกินซ่า
ด้วยแถวที่ยาวจนล้นออกมานอกร้าน คุณซาโตชิ จึงเกิดไอเดียที่อยากจะทำร้านเบอร์เกอร์ของตัวเองขึ้นมาบ้าง
เพราะคุณซาโตชิมองว่า แม้ว่าคนญี่ปุ่นจะเริ่มรับวัฒนธรรมการทานเบอร์เกอร์จากสหรัฐอเมริกาเข้ามา
แต่ลึก ๆ แล้วคนญี่ปุ่น ก็ยังมีความเป็นชาตินิยม และยังมีวัฒนธรรมการทานที่เป็นเอกลักษณ์
ประกอบกับที่คุณซาโตชิ เคยมีโอกาสเดินทางไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา
และประทับใจในรสชาติของเบอร์เกอร์ร้านที่ชื่อว่า Original Tommy’s เป็นอย่างมาก
เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปลอสแอนเจลิส เพื่อเรียนรู้วิธีการทำเบอร์เกอร์ และวิธีในการบริหารร้านจากเจ้าของร้าน Original Tommy’s
ผ่านไป 1 ปีหลังจาก McDonald's ได้เข้ามาเปิดสาขาในญี่ปุ่น
คุณซาโตชิ ก็ตัดสินใจทดลองเปิดร้านเบอร์เกอร์ของตัวเองขึ้นมา ที่เมืองนาริมาซึ กรุงโตเกียว ในปี 1972 โดยใช้ชื่อร้านว่า “MOS Burger”
แล้ว MOS Burger ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นได้อย่างไร ?
ต้องบอกว่า สิ่งที่คุณซาโตชิได้เรียนรู้มาจากร้าน Original Tommy’s
คือแม้ว่าทำเลของร้าน จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่มีคนพลุกพล่าน เหมือนแบรนด์ฟาสต์ฟูดอื่น ๆ แต่ร้าน Original Tommy’s ก็ยังมีลูกค้าประจำที่แวะเวียนกลับมาทานเบอร์เกอร์ที่ร้านเสมอ
โดยสิ่งสำคัญมากกว่าทำเลของร้านอาหาร คือ รสชาติ
โดยแทนที่ทางร้านจะทำเบอร์เกอร์ทิ้งไว้ เพื่อให้สามารถเสิร์ฟได้อย่างรวดเร็ว เหมือนฟาสต์ฟูดหลายเจ้าในตอนนั้น
MOS Burger เลือกที่จะปรุงเบอร์เกอร์หลังจากได้รับออร์เดอร์ เพื่อให้อาหารมีรสชาติดีที่สุด
คุณซาโตชิยังได้นำวิธีการทำเบอร์เกอร์มาพัฒนาต่อยอด โดยปรับรูปแบบให้เข้ากับรสนิยมของชาติญี่ปุ่นมากขึ้น
เช่น เบอร์เกอร์ซอสเทริยากิ และเบอร์เกอร์ทงคัตสึ ที่กลายเป็นเมนูซิกเนเชอร์ของ MOS Burger
หรือการลองเปลี่ยนจากการใช้แป้งขนมปัง เป็นการใช้ข้าวญี่ปุ่นมาประกบเป็นเบอร์เกอร์แทน
ซึ่งปัจจุบัน MOS Burger กลายเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นโตเกียว มีมูลค่าบริษัทราว 23,400 ล้านบาท และมีรายได้ในปีที่ผ่านมาประมาณ 19,500 ล้านบาท
และที่น่าสนใจคือเรื่อง จำนวนสาขา
ซึ่งหากลองมาดูแบรนด์ฟาสต์ฟูดที่มีจำนวนสาขาเยอะ ๆ ในญี่ปุ่น
McDonald's มีประมาณ 2,900 สาขา
MOS Burger มีประมาณ 1,300 สาขา
KFC มีประมาณ 1,100 สาขา
จะเห็นว่า แม้ MOS Burger จะมีสาขาห่างจาก McDonald's อยู่ไม่น้อย แต่ก็ชนะแบรนด์ฟาสต์ฟูดดัง ๆ หลายเจ้าในญี่ปุ่นได้
และขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ท้าแข่งกับทาง McDonald's ได้อย่างน่าสนใจ
นอกจากนั้น MOS Burger ก็ยังคงมีสาขาในต่างประเทศอีกกว่า 9 ประเทศ รวมกว่า 400 สาขา รวมถึงในไทยด้วย
โดย MOS Burger ในไทยนั้น ถูกนำเข้ามาเปิดสาขาแรกตั้งแต่ปี 2007
ปัจจุบันผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์ MOS Burger ในไทย คือบริษัท มอส เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
ซึ่งผู้ถือหุ้นรายสำคัญในบริษัทนี้
คือ คุณพิธาน องค์โฆษิต CEO ของบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย
ปิดท้ายด้วย ที่มาของชื่อแบรนด์ MOS Burger..
ชื่อนี้มาจาก อักษรตัวแรกของคำว่า Mountain, Ocean และ Sun
ซึ่งสื่อถึง ความสูงส่งดั่งภูผา
มีใจกว้างเหมือนมหาสมุทร
และมีไฟแห่งความหลงใหลที่ไม่เคยหมดไป แบบพระอาทิตย์..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.