Grab ประเทศไทย ทำกำไรได้แล้ว

Grab ประเทศไทย ทำกำไรได้แล้ว

30 พ.ค. 2023
Grab ประเทศไทย ทำกำไรได้แล้ว | BrandCase
ที่ผ่านมาธุรกิจของ Grab ในไทย ที่มีบริการ เช่น สั่งอาหาร เรียกรถ ขาดทุนหนักมาตลอด เพราะต้องการดึงดูดให้มีคนมาใช้บริการแพลตฟอร์ม
แต่ปี 2565 ที่ผ่านมา Grab ในไทย ทำกำไรได้แล้ว
ลองมาดูผลประกอบการ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งในนี้รวมรายได้จากทั้งบริการสั่งอาหาร และเรียกรถ
ปี 2562 รายได้ 3,193 ล้านบาท ขาดทุน 1,650 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 7,215 ล้านบาท ขาดทุน 284 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 11,376 ล้านบาท ขาดทุน 325 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 15,197 ล้านบาท กำไร 576 ล้านบาท
นอกจากนั้น ถ้ามาดูอีกบริษัทในเครือ Grab ที่ให้บริการด้านการเงิน อย่างเช่น ให้สินเชื่อ
บริษัท จีฟิน เซอร์วิสเซส (ที) จำกัด
ปี 2564 รายได้ 753 ล้านบาท กำไร 57 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 997 ล้านบาท กำไร 81 ล้านบาท
และถ้าลองไปดูผลประกอบการของ Grab Holdings ที่เป็นบริษัทแม่ จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ในสหรัฐอเมริกา
ปี 2563 รายได้ 16,297 ล้านบาท ขาดทุน 90,628 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 23,456 ล้านบาท ขาดทุน 119,818 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 49,787 ล้านบาท ขาดทุน 58,472 ล้านบาท
สรุปตรงนี้ จะเห็นว่า Grab ในภาพรวมทั่วโลก 3 ปีที่ผ่านมา รายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และกำลังมีแนวโน้มขาดทุนน้อยลง
ส่วน Grab ในไทย ก็ทำกำไรเป็นปีแรก ได้แล้ว
ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากการที่ Grab โฟกัสการทำกำไรมากขึ้น โดยลดต้นทุนทางธุรกิจ เช่น Incentives ที่ให้ร้านค้า ไรเดอร์ และโคดส่วนลดที่ให้ผู้ซื้อ
รวมถึงมีรายได้เพิ่มขึ้น จนถึงจุดที่สามารถทำกำไรได้ (Break Even Point) แล้วนั่นเอง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
หลายคนน่าจะสงสัยว่า ผลประกอบการของ Grab Holdings ที่เป็นบริษัทแม่ ทำไมถึงขาดทุนได้ถึง หลักแสนล้านบาท ทั้งที่มีรายได้ หลักหมื่นล้านบาท
คือที่เป็นแบบนี้เพราะว่า
Grab มีโมเดลธุรกิจเป็นตัวกลาง ไม่ได้เป็นเจ้าของรถ หรือมีร้านอาหาร เป็นของตัวเอง
การรับรู้รายได้ของบริษัท จะเป็นค่าธรรมเนียมที่ Grab ได้ แล้วนำไปหักเงิน Incentives ที่ให้ร้านค้า ไรเดอร์ และผู้ซื้อ
เช่น เราสั่งชานมไข่มุกใน Grab 100 บาท
สมมติให้ Grab ได้ค่าธรรมเนียม 20%
แปลว่า รายได้ค่าธรรมเนียมของ Grab จะเป็น 20 บาท
หากเรามีการใช้โคดส่วนลดอีก เช่น GRAB10 เป็นส่วนลด 10 บาท
และ Grab มีการจ่าย Incentives หรือเงินจูงใจให้กับร้านค้าและไรเดอร์ อีก 6.5 บาท
สรุปแล้ว ออร์เดอร์นี้ Grab บันทึกรายได้ลงบริษัทคือ 20 - 10 - 6.5 เท่ากับ 3.5 บาท
แต่มีรายจ่าย ที่จ่ายให้กับไรเดอร์และโคดส่วนลด ทั้งหมด 16.5 บาท
มันเลยทำให้ Grab ขาดทุนได้ถึงหลักแสนล้านบาท ทั้งที่มีรายได้ หลักหมื่นล้านบาท นั่นเอง..
Tag:grab
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.