กรณีศึกษา เจ้าสัวธนินท์ ขายแม็คโคร-โลตัส ตอนต้มยำกุ้ง เพื่อรักษา เซเว่น-ทรู

กรณีศึกษา เจ้าสัวธนินท์ ขายแม็คโคร-โลตัส ตอนต้มยำกุ้ง เพื่อรักษา เซเว่น-ทรู

28 มี.ค. 2023
กรณีศึกษา เจ้าสัวธนินท์ ขายแม็คโคร-โลตัส ตอนต้มยำกุ้ง เพื่อรักษา เซเว่น-ทรู | BrandCase
หากพูดถึงวิกฤติทางการเงิน รุนแรงที่สุด ที่ประเทศไทยเคยเจอ
หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เมื่อช่วงปี 2540
ในเวลานั้น ก็มีหลากหลายบริษัทใหญ่ ๆ ในไทยที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งก็รวมถึงธุรกิจของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของเครือ CP
วิธีแก้ปัญหาของเจ้าสัวธนินท์ ในตอนนั้น
คือการยอมขายธุรกิจบางส่วนไป
เพื่อรักษาธุรกิจอื่นในเครือให้อยู่ต่อไปได้
ซึ่งธุรกิจสำคัญที่ต้องยอมขายไป คือ สยามแม็คโคร และโลตัส ที่เครือ CP ปลุกปั้นมา
เรื่องราวตอนนั้นเป็นอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
ในเวลานั้นมีธุรกิจหลัก ๆ ที่เขาดูแลอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน
-ธุรกิจค้าส่ง ได้แก่ สยามแม็คโคร
-ธุรกิจค้าปลีก ได้แก่ 7-Eleven และโลตัส
-ธุรกิจโทรคมนาคม ได้แก่ เทเลคอมเอเชีย หรือก็คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน
แล้วช่วงวิกฤติมันเกิดอะไรขึ้น ?
ในช่วงที่เกิดวิกฤตินั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท
ทำให้จากเดิมที่ค่าเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25 บาท กลายมาเป็น
1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 55 บาท
เงินบาทอ่อนตัว เป็นเท่าตัว ภายในเวลาชั่วข้ามคืน
ซึ่งเรื่องนี้ก็ไปกระทบกับบริษัทที่กู้เงินจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
เพราะหากกู้เงินมาเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เวลาคืนก็ต้องคืนเป็นดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน
เทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ หากก่อนที่จะเกิดวิกฤติ บริษัท กู้เงินมา 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงิน 250 ล้านบาท
เวลาคืน ก็ต้องคืนเป็นเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่พอค่าเงินบาทลอยตัว เราจะต้องใช้เงินมากถึง 500 ล้านบาท เพื่อแลกเป็นดอลลาร์สหรัฐคืนให้กับเจ้าหนี้
ซึ่งหลาย ๆ บริษัทของเจ้าสัวธนินท์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ทั้งเทเลคอมเอเชีย ที่กู้เงินจากต่างชาติมาลงทุนในธุรกิจเคเบิล รวมถึง โลตัส ที่เพิ่งกู้เงินจากต่างชาติมาลงทุนขยายสาขาเพิ่ม
จากเดิมที่ธุรกิจกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี แต่วันหนึ่งกลายเป็นบริษัทที่ต้องมีหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
และถึงแม้จะกำลังไปได้สวย แต่ต้องบอกว่า บางธุรกิจนั้นก็ยังไม่คืนทุน จึงทำให้ไม่สามารถชำระหนี้มหาศาลขนาดนั้นได้
แล้วเจ้าสัวธนินท์ ทำอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจของเขาอยู่รอด ?
แน่นอนว่าเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ เขาก็ต้องตัดสินใจขายกิจการบางอย่างทิ้ง เพื่อรักษาธุรกิจอื่น ๆ ให้อยู่รอดต่อไป
และในเวลานั้น ธุรกิจที่เจ้าสัวธนินท์ต้องการรักษาไว้มากที่สุดก็คือ ธุรกิจโทรศัพท์อย่างเทเลคอมเอเชีย
แล้วเพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น ?
สาเหตุหลักเลยคือเจ้าสัวธนินท์มองว่า เทเลคอมเอเชีย กำลังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ดีในอนาคต
โดยในตอนนั้นทางเครือซีพี ได้ลงทุนทำสายเคเบิลใยแก้วใต้ดินเป็นมูลค่ามหาศาล และทางซีพีก็ถือเป็นบริษัทแรก ๆ ของโลกที่หันมาลงทุนในด้านนี้
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการขายธุรกิจเทเลคอมเอเชีย ถึงไม่อยู่ในหัวของเขาเลย
ทีนี้เมื่อคิดที่จะเก็บรักษาเทเลคอมเอเชียไว้แล้ว เขาก็ต้องมาเลือกว่าจะต้องขายกิจการอะไรมาใช้หนี้ได้บ้าง
โดยตัวเลือกแรกที่เขาเลือกก็คือ โลตัส
ในเวลานั้น ต้องบอกว่าธุรกิจของโลตัสกำลังไปได้ดีมาก และมีการขยายสาขาไปมากถึง 20 สาขา
ซึ่งเจ้าสัวธนินท์มองว่าถ้าจะขายก็ต้องรีบขาย โดยในตอนนั้นทันทีที่เขาประกาศขายกิจการโลตัส ก็มีคนติดต่อสนใจซื้อทันที โดยไม่มีการต่อรองราคาใด ๆ ซึ่งก็ขายได้ในราคาดีตามที่คุณธนินท์คาดหวังไว้
แต่การขายโลตัสไปนั้น ก็ยังไม่สามารถนำมาชำระหนี้ได้หมด เจ้าสัวธนินท์ จึงต้องเลือกขายอีกหนึ่งธุรกิจคือ สยามแม็คโคร ซึ่งพอขายธุรกิจสยามแม็คโครได้สำเร็จ ก็มีเงินมากเพียงพอที่จะชำระหนี้ทั้งหมด
และทำให้เขายังสามารถรักษาอีก 2 ธุรกิจไว้ได้ นั่นก็คือ
-เทเลคอมเอเชีย
-7-Eleven
ซึ่งหลังจากนั้นเจ้าสัวธนินท์ก็ได้เน้น ขยายธุรกิจเดิมที่มีทั้งค้าปลีก การเกษตร โทรคมนาคม จนค่อย ๆ เติบโตขึ้น
และสุดท้าย ก็สามารถกลับมาซื้อกิจการที่เคยขายไปได้สำเร็จ
โดยได้กลับไปซื้อ สยามแม็คโคร กลับมาในปี 2556
และกลับมาซื้อ โลตัส ในปี 2563
References
-หนังสือ ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว
-https://www.prachachat.net/d-life/news-379506
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.