ครัวการบิน ธุรกิจอาหาร รายได้ไม่ธรรมดา ของการบินไทย

ครัวการบิน ธุรกิจอาหาร รายได้ไม่ธรรมดา ของการบินไทย

2 มี.ค. 2023
ครัวการบิน ธุรกิจอาหาร รายได้ไม่ธรรมดา ของการบินไทย | BrandCase
แม้ธุรกิจของการบินไทยจะขาดทุน และถูกวิพากษ์วิจารณ์หลาย ๆ เรื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แต่ก็มีอีกหนึ่งธุรกิจข้างใน ที่น่าสนใจ นั่นคือ “ครัวการบิน”
ครัวการบินไทย คือเบื้องหลังของเมนูดัง ๆ อย่างเช่น ปาท่องโก๋การบินไทย, ซาลาเปาทอด
มีร้านอาหารชื่อดังของตัวเอง อย่างร้านเบเกอรี Puff & Pie และร้านอาหาร Royal Orchid
และครัวการบินไทย ก็สร้างรายได้ไม่ธรรมดา ให้กับการบินไทย
เช่น ในปี 2562 ครัวการบินไทย สร้างรายได้ 8,534 ล้านบาท
ครัวการบินไทย เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
แล้วทำไม สายการบิน ถึงต้องมีธุรกิจครัว เป็นของตัวเอง ?
BrandCase จะสรุปให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
ครัวการบินก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2503 หรือเมื่อ 63 ปีก่อน โดยเริ่มจากการเช่าโรงซ่อมเครื่องบินในสนามบินดอนเมือง เพื่อผลิตอาหารซัปพอร์ตบริการอาหารบนเครื่องบินของสายการบินของตัวเอง
ส่วนสาเหตุที่ การบินไทย ต้องมีธุรกิจอาหารเป็นของตัวเอง ก็เพราะว่า
ขั้นตอนในการผลิตอาหารที่ต้องเสิร์ฟบนเครื่องบิน มีความซับซ้อนมากกว่าขั้นตอนการผลิตอาหารทั่วไป
เพราะด้วยปริมาณอาหาร ที่ต้องเสิร์ฟหลายหมื่นมื้อต่อวัน และจำเป็นต้องทำเสร็จให้ทันก่อนที่เครื่องบินจะ Take off
อาหารหลาย ๆ เมนูจึงอาจจะต้องมีการผลิตล่วงหน้าแบบข้ามวัน ก่อนจะทำให้เย็นลงเพื่อรักษาความสดใหม่เอาไว้
นอกจากนั้น แรงดันอากาศและค่าความชื้นบนเครื่องบิน ก็ส่งผลให้ความสามารถในการดมกลิ่นและรับรู้รสชาติของผู้โดยสารนั้นน้อยลงได้ถึง 30%
ทำให้อาหารบางชนิดที่จะนำขึ้นไปเสิร์ฟบนเครื่องบิน มีกรรมวิธีการผลิต ที่ไม่เหมือนอาหารทั่ว ๆ ไป
ในขณะที่วิธีการปรุงอาหารส่วนใหญ่เองก็จะถูกปรุงให้สุกแค่ประมาณ 50-60% เท่านั้น เพื่อรักษาความสดใหม่
และป้องกันไม่ให้อาหารสุกจนเกินไป จากการต้องนำอาหารเหล่านี้ขึ้นไปอุ่นอีกครั้งหนึ่งบนเครื่องบิน
และนอกจากนั้น ถ้าไม่ทำธุรกิจผลิตอาหารเอง ก็อาจจะเจอปัญหาด้านรสชาติ และคุณภาพของอาหาร ที่ควบคุมได้ยากด้วย
โดยปัจจุบัน ครัวการบิน มีครัวอยู่ใน 3 สนามบินหลัก คือ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง และกระบี่
ซึ่งนอกจากป้อนอาหารให้สายการบินไทยเองแล้ว
ครัวการบิน ก็ยังเป็นผู้ผลิตอาหารบนเครื่องบินให้กับสายการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมกว่า 50 สายการบิน
ในปี 2562 ครัวการบินสามารถสร้างรายได้ 8,534 ล้านบาท
โดยสัดส่วนรายได้ ปี 2562 คือ
1.ธุรกิจจำหน่ายอาหารบนเครื่องบิน คิดเป็นรายได้ราว 90%
2.ธุรกิจอาหารที่ไม่ได้จำหน่ายบนเครื่องบิน ซึ่งส่วนนี้ ก็รวมถึง ร้านเบเกอรี Puff & Pie และร้านอาหาร Royal Orchid คิดเป็นรายได้ราว 10%
จะเห็นว่า ครัวการบินไทย มีรายได้หลัก จากการจำหน่ายอาหารบนเครื่องบิน ซึ่งคิดเป็นถึงราว 90% ของรายได้รวม
แต่พอเกิดโรคระบาดตั้งแต่ปี 2563 ครัวการบิน ก็มีรายได้ลดลง
โดยปี 2563 มีรายได้ 2,262 ล้านบาท
ส่วนปี 2564 รายได้หายไปค่อนข้างหนัก โดยช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ครัวการบินไทย มีรายได้ 451 ล้านบาท
ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ครัวการบินไทย ก็ต้องปรับตัว
เช่น ทอดปาท่องโก๋ มาขายข้างนอก ขายของผ่านช่องทางดิลิเวอรี หรือร้านค้าปลีกที่เป็นพันธมิตร เช่น 7-Eleven, Café Amazon
และเริ่มขยายร้านอาหารให้เครือของตัวเองออกไปมากขึ้น เพื่อหารายได้จากช่องทางอื่น
เพราะช่องทางขายหลัก อย่างเครื่องบินของสายการบินตัวเอง และของลูกค้าเจ้าอื่น
มันขึ้นบินไม่ค่อยได้ นั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.