รู้จัก ผู้ปลุกปั้น “นอร์ทอีส รับเบอร์” ธุรกิจยางพารา 10,000 ล้าน ในภาคอีสาน

รู้จัก ผู้ปลุกปั้น “นอร์ทอีส รับเบอร์” ธุรกิจยางพารา 10,000 ล้าน ในภาคอีสาน

6 ม.ค. 2023
รู้จัก ผู้ปลุกปั้น “นอร์ทอีส รับเบอร์” ธุรกิจยางพารา 10,000 ล้าน ในภาคอีสาน | BrandCase
ถ้าพูดถึงบริษัทที่ทำธุรกิจผู้ผลิตยางพารา ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ ในตลาดหุ้นไทย
เราจะต้องพูดถึง บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ หรือ NER
นอร์ทอีส รับเบอร์ คือบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับยางพารารายใหญ่ในภาคอีสาน
มีรายได้ต่อปี หลักหมื่นล้านบาท
และมีมูลค่าบริษัทในวันนี้ กว่า 11,000 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ ครั้งหนึ่ง นอร์ทอีส รับเบอร์ เคยเกิดวิกฤติ จนเกือบต้องเลิกกิจการมาแล้ว
แต่คุณชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท ก็สามารถแก้วิกฤติในครั้งนั้น และนำนอร์ทอีส รับเบอร์ ให้เดินทางมาถึงวันนี้
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปเรื่องนี้ให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
ต้องเล่าแบ็กกราวนด์กันสักนิดว่า
ครอบครัวของคุณชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ทำธุรกิจมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ซึ่งเป็นชาวจีนที่เดินทางมาแสวงหาโอกาสในชีวิตที่จังหวัดบุรีรัมย์
โดยรุ่นคุณปู่ของคุณชูวิทย์ ทำธุรกิจโดยเริ่มจากธุรกิจเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ และรับซื้อมันเส้นจากชาวบ้าน
ต่อมาในรุ่นคุณพ่อ ก็เริ่มขยายธุรกิจด้านการเกษตร เช่น ปลูกอ้อย ปลูกมัน
ในช่วงนั้น คุณพ่อและคุณแม่ของคุณชูวิทย์ ทำงานหนักและค่อนข้างลำบาก
คุณชูวิทย์จึงคิดอยากจะแบ่งเบาภาระของพ่อแม่
เมื่อรวมกับที่เขาไม่ได้ชื่นชอบระบบการเรียนเป็นทุนเดิม ทำให้เขาตัดสินใจเลิกเรียน และออกมาช่วยที่บ้านทำธุรกิจตอนอายุ 19 ปี เท่านั้น..
ทั้งคุณชูวิทย์ และครอบครัว เริ่มต้นบุกเบิกการปลูกยางพารา ในปี 2527
โดยช่วงแรก เริ่มต้นปลูกประมาณ 5-10 ไร่
ซึ่งต่อมาชาวบ้านบริเวณนั้น ก็เริ่มหันมาปลูกยางพารากันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีที่รับซื้อยางพารา
ดังนั้น น้ำยางที่กรีดได้ต้องถูกส่งมาขายที่จังหวัดระยอง ซึ่งทำให้เขาที่เดินทางมาขาย ก็มีโอกาสเรียนรู้ การทำธุรกิจยางพารามากขึ้น
นอกจากนี้ เขายังเดินทางไปภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกยางพาราที่สำคัญในไทย เพื่อไปสอบถามและขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจยางพาราของเขาให้ดีขึ้น
ในปี 2544 รัฐบาลไทยในขณะนั้น เริ่มมีการส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในตอนนั้น ครอบครัวของคุณชูวิทย์ ก็เริ่มมีเงินมากพอสมควร จากการขายยางพาราแล้ว
เมื่อรวมกับการที่น้ำยางของคุณชูวิทย์ที่ส่งมาขายที่ระยอง มักจะถูกกดราคา และมีต้นทุนในการขนส่ง
เรื่องนี้ก็ทำให้เขาเริ่มคิดที่จะตั้งโรงงานยางพาราขึ้นมาเองเสียเลย
จนเป็นที่มาของการก่อตั้ง “นอร์ทอีส รับเบอร์” ขึ้นในปี 2549 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน และผลิตภัณฑ์จากยางพารา
โดยเริ่มจากการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรในบริเวณใกล้เคียง แล้วนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน ขายให้กับคู่ค้าทั่วประเทศ และต่างประเทศด้วย
แต่มันก็มีช่วงหนึ่ง ที่ธุรกิจของเขามีปัญหา
และปัญหานั้น ก็ค่อนข้างหนัก จนบริษัทแทบจะต้องเลิกกิจการ
เหตุการณ์ที่ว่านี้ เกิดขึ้นในปี 2551
เมื่อบริษัทมีการเข้าทำสัญญาซื้อขายยางพาราล่วงหน้า แต่ไม่ได้มีการสต็อกของไว้ในมือ
ประเด็นก็คือ ยางพารา เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ตัวหนึ่ง ที่มีวัฏจักรราคาขึ้นและลงเป็นรอบ ๆ
ทำให้เมื่อราคาของยางพาราวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทก็ดันไม่มีเงินเพียงพอ ที่จะไปซื้อของมาขายให้กับคู่ค้า ตามที่สัญญาไว้ได้
ในตอนนั้นคุณชูวิทย์ มีทางเลือก 2 ทาง คือ
-ไม่ส่งมอบยางพารา เพราะไม่มีของ แต่ก็ต้องออกจากธุรกิจนี้ไป เพราะเสียชื่อเสียง และลูกค้าขาดความเชื่อถือ
-ไปเจรจากับลูกค้าตรง ๆ ยอมรับไปเลยว่า ไม่สามารถส่งมอบของตามที่ตกลงกันไว้ได้ แต่จะหาวิธีแก้ปัญหาอย่างเต็มความสามารถ
ซึ่งคุณชูวิทย์นั้น เลือกข้อ 2 ..
เขาเดินทางไปเจรจากับลูกค้ารายใหญ่ด้วยตัวเองที่สิงคโปร์ โดยอธิบายถึงสาเหตุที่ไม่สามารถส่งมอบได้ พร้อมกับเสนอทางออกให้ลูกค้า
โดยบอกว่า ของที่ไม่สามารถส่งมอบได้นั้น จะขอติดเป็นหนี้ไว้ และบริษัทจะผ่อนใช้ในงวดต่อไป โดยทยอยหักหนี้ไปเรื่อย ๆ
ซึ่งลูกค้ารายใหญ่รายนั้น ตอบตกลง และบอกว่า นอร์ทอีส รับเบอร์ เป็นรายเดียวที่มาเจรจา และแจ้งล่วงหน้า ก่อนที่จะถึงเวลากำหนดส่งของถึง 3 เดือน
ทำให้ทางฝั่งลูกค้านั้นมีเวลาเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะก็มีอีกหลาย ๆ เจ้าที่เจอปัญหาเดียวกันกับ นอร์ทอีส รับเบอร์ แต่เลือกที่จะเบี้ยวสัญญา
จากเหตุการณ์สำคัญในครั้งนั้น ก็ทำให้บริษัทปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ โดยหันมาใช้วิธีจับคู่คำสั่งซื้อขาย คือ ซื้อเข้ามา แล้วขายออกเลย
หรือไม่ก็ รับออร์เดอร์ขายเข้ามาก่อน แล้วค่อยซื้อเข้ามาเก็บไว้ เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาขาย และต้นทุนของสินค้า อย่างที่เคยเป็นปัญหาใหญ่
มาวันนี้ นอร์ทอีส รับเบอร์ ก็ออกสินค้าตัวอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมา อย่างเช่น ยางอัดแท่ง และยางผสม
ซึ่งเป็นที่ต้องการของทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ
ปัจจุบันรายได้หลักของ NER มาจากสินค้าหลัก 3 ตัว คือ
-ยางแผ่นรมควัน (RSS)
-ยางอัดแท่ง (STR)
-ยางผสม (Mixtures Rubber)
บริษัทจดทะเบียนอยู่ใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
มีมูลค่าบริษัท มากกว่า 11,000 ล้านบาท
และสำหรับผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2562 รายได้ 13,021 ล้านบาท กำไร 539 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 16,364 ล้านบาท กำไร 859 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 24,456 ล้านบาท กำไร 1,850 ล้านบาท
และ 9 เดือนแรก ปี 2565 รายได้ 18,093 ล้านบาท กำไร 1,380 ล้านบาท
References
-https://forbesthailand.com/people/entrepreneurs/ชูวิทย์-จึงธนสมบูรณ์-ner-เร
-https://techsauce.co/corp-innov/special-interview-ceo-north-east-rubber
-แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2564, บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์
-https://www.longtunman.com/34525
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.