กรณีศึกษา กลยุทธ์สนับสนุน SME ของ ซีพี ออลล์

กรณีศึกษา กลยุทธ์สนับสนุน SME ของ ซีพี ออลล์

26 ธ.ค. 2022
กรณีศึกษา กลยุทธ์สนับสนุน SME ของ ซีพี ออลล์ | BrandCase
รู้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้มีสินค้าจาก SME มากกว่า 8,000 รายการ เข้าไปขายในร้าน 7-Eleven เช่น 
- กล้วยหอมทอง สินค้าจากเกษตรกร ที่คุ้นตาในร้าน 7-Eleven แทบทุกสาขา
- ครีมซอง สมูทโตะ (SMOOTO) ที่ขายดี จนมีรายได้มากกว่า 600 ล้านบาท
ซึ่งทำให้ 7-Eleven กลายเป็นหนึ่งช่องทาง ที่ SME หลายราย อยากที่จะนำสินค้าเข้าไปวางขาย..
แล้ว ซีพี ออลล์ เจ้าของ 7-Eleven ใช้กลยุทธ์อะไรมาสนับสนุน แบรนด์สินค้า SME เหล่านี้ ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ 
เรื่องนี้ คุณยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 
เคยบอกไว้ว่ากลยุทธ์ที่ทาง ซีพี ออลล์ ใช้สนับสนุน SME ของไทย มีชื่อเรียกว่า “กลยุทธ์ 3 ให้”
สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ เป็นข้อ ๆ คือ
1. ให้ช่องทางขาย 
เป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการ SME ได้นำเสนอสินค้า เพื่อเข้ามาจำหน่ายในร้าน 7-Eleven 
และผ่านช่องทางออนไลน์  
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของ 7-Eleven เนื่องจากมีสาขามากถึง 13,660 สาขา กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย 
โดยในปีที่แล้ว 7-Eleven ที่เป็นสาขาขนาดใหญ่ จำนวน 2,300 สาขาทั่วประเทศ ได้จัดทำชั้นวางที่มีชื่อว่า SME Shelf เพื่อเป็นชั้นสำหรับจัดวางสินค้าของ SME โดยเฉพาะ 
และในปี 2565 นี้ 7-Eleven ได้ขยายความสำเร็จต่อเนื่องจากปีก่อนด้วย “โครงการ SME เสน่ห์ภาค” 
ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยผลักดันสินค้าท้องถิ่นที่มีศักยภาพให้เข้ามาจำหน่ายในร้าน 7-Eleven 
ทำให้ปัจจุบันมีสินค้า SME วางจำหน่ายที่ร้านค้า 7-Eleven มากกว่า 6,000 สาขาทั่วประเทศ 
ขณะเดียวกัน ยังมีสินค้าของ SME วางจำหน่ายบนช่องทาง All Online ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า ทั้งกลุ่มอาหารและกลุ่มของใช้ 
ซึ่งในตอนนี้มีสินค้า SME ที่วางจำหน่ายทั้งบนช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ในร้าน 7-Eleven มากกว่า 8,000 รายการแล้ว
2. ให้ความรู้ จัดอบรมสัมมนา แก่ผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง 
เช่น กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME นำเสนอสินค้าได้โดยตรง 
พร้อมรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของ ศูนย์ 7 สนับสนุน SME ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น เพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการและเกษตรกรในทุกด้าน
หรือกิจกรรมสัมมนา “SME 3ก แกร่ง เก่ง กล้า” กิจกรรมให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อ SME โดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา 
และกิจกรรมร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ช่วยพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด เป็นต้น 
3. ให้การเชื่อมโยงเครือข่าย 
ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนจัดโครงการและกิจกรรม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME
เช่น ศูนย์ 7 สนับสนุน SME ที่จัดงานสัมมนาในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานในผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทอาหาร 
หรือความรู้ด้านการทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์
รวมทั้งจัดกิจกรรมและโครงการร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน อย่างโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกกล้วยหอมทองปลอดสารเคมีให้กับเกษตรกร
ในปี 2566 ซีพี ออลล์ ได้วางแผนไว้ว่าจะขยายความร่วมมือและโครงการต่าง ๆ ไปต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SME และเกษตรกรได้เข้าถึงกิจกรรมได้ง่ายขึ้น
ซึ่งการให้ช่องทางการขาย ให้ความรู้ และให้การเชื่อมโยงเครือข่าย 
ก็เพื่อเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ SME ในเรื่องของข้อจำกัดทั้งด้านองค์ความรู้ และงบประมาณในการทำการตลาด 
และเพื่อแก้ปัญหาหลักของสินค้า SME คือ ผู้บริโภคไม่รู้ว่าจะหาซื้อได้จากที่ไหน และไม่มั่นใจว่าสินค้าแต่ละชิ้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน
วิเคราะห์ตรงนี้ง่าย ๆ คือ ซีพี ออลล์ มองว่า
สินค้า SME ของไทยที่มีคุณภาพและศักยภาพ มีอยู่จำนวนมากนั่นเอง
ถ้าส่งเสริมดี ๆ นอกจากตัว SME จะได้ประโยชน์แล้ว
ตัว ซีพี ออลล์ ที่เป็นคนรับของมาขาย ก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย..
References
-ข่าวประชาสัมพันธ์ CP ALL
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.