กรณีศึกษา ปลากระป๋องไฮคิว เกิดเพราะ โรซ่า ล้มละลาย

กรณีศึกษา ปลากระป๋องไฮคิว เกิดเพราะ โรซ่า ล้มละลาย

22 ธ.ค. 2022
กรณีศึกษา ปลากระป๋องไฮคิว เกิดเพราะ โรซ่า ล้มละลาย | BrandCase
หลายคนน่าจะชอบกินซอสมะเขือเทศ หรือปลากระป๋องตรา โรซ่า
แต่รู้ไหมว่า โรซ่า เคยล้มละลาย และตระกูลเจ้าของก็มาทำแบรนด์ใหม่ ซึ่งก็คือ ไฮคิว
โดยในเวลาต่อมา ไฮคิว ก็ไปซื้อแบรนด์ โรซ่า กลับมาใหม่..
เรื่องราวตอนนั้น เป็นอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปเคสนี้ที่หลายคนยังไม่รู้ ให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
ในตอนแรก แบรนด์ที่กำเนิดก่อน คือ โรซ่า เริ่มต้นธุรกิจโดยพี่น้องตระกูลวังพัฒนมงคล ในช่วงปี 2516
โดยดำเนินการภายใต้ บริษัท โรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย) จำกัด
โรซ่า เริ่มจากธุรกิจซอสมะเขือเทศ
แต่เนื่องจากมะเขือเทศนั้น จะออกผลมากในฤดูหนาว ทำให้บริษัทต้องซื้อเครื่องคั้นน้ำมะเขือเทศแบบพิเศษมา เพื่อคั้นน้ำมะเขือเทศเข้มข้น เก็บไว้ใช้ในการผลิตตลอดปี
ทำให้ในบางครั้งบริษัทสามารถผลิตน้ำมะเขือเทศเข้มข้น ได้เกินปริมาณความต้องการ
และเมื่อบริษัทต้องการนำน้ำมะเขือเทศเข้มข้น ที่ผลิตเกินมาได้ไปขายต่อ ก็ไม่มีคนซื้อ
พอเป็นแบบนี้ บริษัทเลยเปิดโรงงานทำปลาประป๋องเป็นของตัวเองไปเลย
เพื่อรับซื้อซอสมะเขือเทศที่ผลิตเกิน นำมาแปรรูปทำปลากระป๋อง ภายใต้แบรนด์ปลากระป๋อง โรซ่า
ธุรกิจของ โรซ่า กำลังไปได้สวย แต่ดันมาสะดุด เพราะประสบปัญหาการบริหารสภาพคล่องผิดพลาด ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยเงินกู้ได้ตามกำหนด
จนถึงขั้นต้องยื่นล้มละลาย ในปี 2529
โดยช่วงที่ โรซ่า ล้มละลาย ทรัพย์สินจำพวกเครื่องจักร และโรงงาน ถูกสถาบันการเงินยึดไปขายทอดตลาด
ส่วนตัวแบรนด์ โรซ่า ถูกนำไปให้ พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง (เจ้าของปลาเส้น ตราทาโร) เช่าไปทำตลาด ในระหว่างที่กระบวนการฟ้องร้องล้มละลายยังอยู่ในชั้นศาล
และเรื่องราวตรงนี้นี่เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “ปลากระป๋อง ไฮคิว”
เมื่อคุณประมิตร วังพัฒนมงคล ลูกชายคนโตของตระกูล ไม่อยากทิ้งความรู้ และความเชี่ยวชาญที่มีเกี่ยวกับการทำซอส และปลากระป๋อง
เขาจึงตัดสินใจชวนเพื่อน ๆ และน้องคนเล็ก มาเปิดแบรนด์ปลากระป๋องใหม่ ชื่อ ไฮคิว
ไฮคิว มีชื่อเสียงขึ้นมา จากการเปลี่ยนกระป๋องแบบต้องใช้มีดเปิดฝา มาเป็นฝาแบบมีหูเปิด และทำให้แบรนด์ปลากระป๋องไฮคิว กลายเป็นที่ยอมรับในเวลาต่อมา
10 ปี หลังจาก โรซ่า ล้มละลาย ในปี 2539 คดีฟ้องล้มละลายก็สิ้นสุดลง
โดยศาลมีคำสั่งให้เอาแบรนด์ โรซ่า ขายทอดตลาด
ประจวบเหมาะกับในตอนนั้น ตระกูลวังพัฒนมงคล ที่มาทำปลากระป๋องไฮคิวจนมีเงินมากพอ ก็ไปประมูลซื้อ แบรนด์โรซ่า กลับมาอยู่ในมือได้อีกครั้ง
ซึ่งมันก็เลยทำให้ในวันนี้ บริษัท ไฮ คิว ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
มีแบรนด์หลัก ๆ ในเครือด้วยกันสองแบรนด์ คือ โรซ่า และ ไฮคิว นั่นเอง..
โดยในปี 2564 บริษัท ไฮ คิว ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
มีรายได้ 4,306 ล้านบาท
กำไร 472 ล้านบาท
เป็นอันสรุปสั้น ๆ ว่า ไฮคิว เกิดเพราะ เจ้าของเคยทำ โรซ่า มาก่อน แล้วล้มละลาย
แต่เรื่องนี้ ก็จบแบบแฮปปี
เพราะสุดท้าย โรซ่า ก็กลับมาอยู่ในมือของคนที่สร้างมันขึ้นมา เหมือนเดิม..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.