กรณีศึกษา ทิฟฟี่ แอนตาซิล ซาร่า เกิดจาก อดีตเซลส์ขายยา

กรณีศึกษา ทิฟฟี่ แอนตาซิล ซาร่า เกิดจาก อดีตเซลส์ขายยา

21 ธ.ค. 2022
กรณีศึกษา ทิฟฟี่ แอนตาซิล ซาร่า เกิดจาก อดีตเซลส์ขายยา | BrandCase
หลายคนน่าจะรู้จัก ยาแก้หวัดทิฟฟี่ ยาลดกรดยาแอนตาซิล และยาลดไข้ซาร่า 
ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้ มีเจ้าของคนเดียวกัน 
คือบริษัทชื่อว่า ไทยนครพัฒนา
ที่น่าสนใจคือ บริษัทนี้ เกิดจากอดีตเซลส์ขายยา 
ที่ผันตัวเองมาทำธุรกิจผลิตยา จนสร้างรายได้กว่า 3,000 ล้านบาท ในวันนี้
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ?
BrandCase จะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้เกิดมาจาก คุณวินัย วีระภุชงค์ 
ที่อดีตครอบครัวมีอาชีพค้าปุ๋ยอยู่ที่จังหวัดราชบุรี 
จนเมื่อคุณวินัยอายุได้ 8 ขวบ คุณพ่อของเขาจากไป ด้วยไข้มาลาเรีย
ทำให้เขาต้องลาออกจากโรงเรียน เพื่อมาช่วยงานที่บ้าน พร้อมทั้งช่วยดูแลน้อง ๆ เพื่อแบ่งเบาภาระของคุณแม่อีกแรง
แม้จะออกจากโรงเรียน แต่เขายังคงหาเวลาว่าง เรียนรู้ด้วยตัวเอง 
โดยเฉพาะการเรียนภาษาอังกฤษ และภาษาจีนเพิ่มเติม จนเมื่อโตขึ้นมีโอกาสมาสมัครงาน และได้ทำงานเป็นเซลส์ขายยาของ บริษัท อังกฤษตรางู (เจ้าของแป้งเย็นตรางู ที่เรารู้จักกัน) ในเวลาต่อมา..
หน้าที่เซลส์ขายยาทำให้เขาได้เรียนรู้สรรพคุณ และรายละเอียดเกี่ยวกับยาหลายอย่าง 
จนวันหนึ่งเมื่อสั่งสมประสบการณ์มากเพียงพอแล้ว ทำให้เขาตัดสินใจออกมาทำธุรกิจเอง ด้วยการร่วมหุ้นกับญาติ เพื่อเปิด “ห้างหุ้นส่วนจำกัด นครพัฒนา” ในปี 2505
เมื่อกิจการของคุณวินัยไปได้ดี ต่อมา เขาก็ออกมาตั้งโรงงานเภสัชกรรมนครพัฒนา ก่อนจะแยกตัวออกมาเปิดบริษัทของตัวเองชื่อ “ไทยนครพัฒนา” และทำธุรกิจยามาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งต้องบอกว่า ปัจจุบัน นอกจากทิฟฟี่ แอนตาซิล และซาร่า ซึ่งเป็นสินค้าชื่อดังของบริษัทแล้ว 
ไทยนครพัฒนา ยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาและเวชสำอางแบรนด์อื่น ๆ อีก เช่น นีโอติก้า บาล์ม, ไดฟีลีน, เบนด้า 500, เบบี้ดอล, ยาดมท่านเจ้าคุณ, พรีม-โนบุ
โดยสินค้าของบริษัทนั้นมีการวางขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม หรือ CLMV ที่บริษัทนั้นเข้าไปทำธุรกิจตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว
ปัจจุบัน ภาพรวมมูลค่าตลาดยาในประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 230,000 ล้านบาท 
ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่พอสมควร จึงทำให้ตลาดนี้มีทั้งบริษัทยาข้ามชาติ และบริษัทยาสัญชาติไทยอีกจำนวนมากกว่า 1,000 ราย ที่เข้ามาแข่งขันกัน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดยา ไทยนครพัฒนา ก็ยังสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเอาไว้ได้ 
นั่นคือ ผลิตยาพื้นฐานที่ใช้รักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยในชีวิตประจำวัน เช่น ปวดศีรษะ เป็นไข้ เป็นหวัด ปวดท้อง
ซึ่งยาเหล่านี้ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “Over-the-Counter Drugs หรือ OTC  ซึ่งร้านขายยาสามารถขายให้ผู้ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์
นอกจากนี้ อีกหนึ่งจุดแข็งของไทยนครพัฒนา คือ การให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอย่างมาก เพื่อทำให้ยาของบริษัทนั้นมีชื่อเสียงในด้านคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ
ผลประกอบการของ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด
ปี 2563 รายได้ 3,372 ล้านบาท กำไร 910 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 3,267 ล้านบาท กำไร 735 ล้านบาท
ต้องบอกว่า ในวันนี้ ถ้าให้เรานึกถึงยาสามัญประจำบ้านที่แทบทุกบ้านต้องมีติดไว้ คงหนีไม่พ้นยาแก้ปวด ยาลดกรด และยาลดไข้ 
ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีชื่อของ ซาร่า ทิฟฟี่ และแอนตาซิล รวมอยู่ด้วย 
ทำให้ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมไทยนครพัฒนา ถึงประสบความสำเร็จอย่างมากในปัจจุบัน
และนี่คือเรื่องราวของอดีตเซลส์ขายยา ที่เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงาน และตัดสินใจมาเปิดกิจการเป็นของตนเอง 
จนสามารถสร้างธุรกิจยาสามัญที่รายได้ไม่สามัญอย่าง ไทยนครพัฒนา อาณาจักรยา ที่สร้างรายได้กว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี ไปแล้วนั่นเอง..
References
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.