สรุป Big C ในไทย เซ็นทรัลปั้นแบรนด์ ตอนนี้เจ้าสัวเจริญ เป็นเจ้าของ

สรุป Big C ในไทย เซ็นทรัลปั้นแบรนด์ ตอนนี้เจ้าสัวเจริญ เป็นเจ้าของ

21 ก.ย. 2022
สรุป Big C ในไทย เซ็นทรัลปั้นแบรนด์ ตอนนี้เจ้าสัวเจริญ เป็นเจ้าของ | BrandCase
รู้หรือไม่ ? ห้าง “บิ๊กซี” (Big C) มาจากคำว่า “บิ๊ก เซ็นทรัล”
เพราะว่ากลุ่มเซ็นทรัล เป็นคนปลุกปั้นแบรนด์นี้ขึ้นมา ให้เป็นห้างสรรพสินค้าแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต แห่งแรกของเมืองไทย
ในเวลาต่อมา ห้าง Big C ก็เปลี่ยนมือหลายครั้ง
จนมาถึงเจ้าของคนปัจจุบัน คือกลุ่ม BJC บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของเมืองไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจของ เจ้าสัวเจริญ เจ้าของเบียร์ช้าง
แล้วเส้นทางของ Big C มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?
BrandCase จะสรุปเรื่องราวมุมนี้ที่หลายคนยังไม่รู้ ให้อ่านกัน
ราว 30 ปีก่อน ในปี 2536 กลุ่มเซ็นทรัล ได้เปิดห้างค้าปลีกชื่อ “เซ็นทรัลซูเปอร์สโตร์” ที่แยกวงศ์สว่าง
โดยตั้งใจให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท ในราคาย่อมเยา
จนกระทั่งกลุ่มเซ็นทรัล ได้ปั้นแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีชื่อว่า “Big C” ขึ้นมา
โดยร่วมทุนกับ กลุ่มอิมพีเรียล ซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ในปัจจุบัน
ชื่อห้าง Big C เปิดตัวที่แจ้งวัฒนะเป็นสาขาแรกในปี 2537
ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้า รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต แห่งแรกของเมืองไทย
ไล่เลี่ยกับการเปิดตัวห้าง Lotus ของกลุ่ม CP ซึ่งเปิดตัวในช่วงปลายปีเดียวกัน
ส่วนกลุ่มโรบินสันในเวลานั้น ก็ได้จับมือกับ Land & House เปิด Save One Supercenter ที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
และในเวลาต่อมา ซูเปอร์มาร์เก็ต หลาย ๆ แห่งของกลุ่มเซ็นทรัล ได้ถูกรีแบรนด์เป็นห้าง Big C อย่างเช่น
-ห้างเซ็นทรัลซูเปอร์สโตร์ ของกลุ่มเซ็นทรัล ทั้ง 2 สาขา ก็ได้เปลี่ยนเป็น Big C วงศ์สว่าง และ Big C ราษฎร์บูรณะ
-ในช่วงที่กลุ่มเซ็นทรัล ได้เข้าซื้อกิจการของกลุ่มโรบินสันในปี 2539
Save One Supercenter ถูกโอนมาอยู่กับ Big C ซึ่งในเวลาต่อมาก็คือ Big C สาขารังสิต
โดยในช่วงแรก ห้าง Big C มักจะขยายสาขา โดยใช้ที่ดินของกลุ่มเซ็นทรัล โดยการทำสัญญาเช่าระยะยาว
ซึ่งห้าง Big C ก็ได้ขยายสาขาไปเรื่อย ๆ จนมีจำนวนมากกว่า 20 สาขา
จนกระทั่งถึงปี 2541 กลุ่มเซ็นทรัลได้ประสบปัญหา ภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นมาก จากการปล่อยลอยตัวค่าเงินบาท เพราะวิกฤติต้มยำกุ้ง
ทำให้กลุ่ม Big C ได้ตัดสินใจหากลุ่มนายทุนต่างชาติเข้ามาช่วยเหลือ
และก็มีบริษัทชื่อ Casino Group จากฝรั่งเศส ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน Big C ด้วยสัดส่วน 63%
และในช่วงเวลานั้น กลุ่ม Tesco จากประเทศอังกฤษ ก็เข้ามาซื้อกิจการ Lotus จากกลุ่ม CP ที่เจอปัญหาคล้าย ๆ กันกับกลุ่มเซ็นทรัล ด้วยเช่นกัน
หลังจาก Casino Group เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ Big C ก็ได้ขยายสาขาออกไปในต่างจังหวัดมากขึ้น
จนเริ่มมีสาขาในต่างจังหวัด มากกว่าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี 2550
ต่อมาในปี 2553 Casino Group ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Big C ได้เข้าซื้อกิจการห้าง “Carrefour” ในประเทศไทย และเปลี่ยน Carrefour ทุกสาขา ให้กลายเป็น Big C ทั้งหมด
ซึ่งในบางสาขา ก็จะอัปเกรดเป็น Big C Extra เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนมากขึ้น
นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ห้าง Carrefour ที่หลายคนคุ้นเคยในช่วงเวลานั้น หายไปเลย เพราะถูกเปลี่ยนเป็น Big C แทน
ทำให้ในต้นปี 2554 Big C ในตอนนั้น มีสาขาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 71 สาขา เป็น 105 สาขา และสามารถตีตื้นพี่ใหญ่แห่งวงการค้าปลีกอย่าง Tesco Lotus
ที่มีสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตอยู่ราว 121 สาขาในขณะนั้น
ต่อมา ตลาดค้าปลีกเริ่มแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้น และผู้คนเริ่มมองหาความสะดวกสบาย จากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านมากขึ้น
ทำให้ Big C ต้องหันมาศึกษา และพัฒนาโมเดลธุรกิจร้านสะดวกซื้ออย่าง Mini Big C
และร้านขายยา Pure ขึ้นมาอย่างจริงจัง เพื่อเจาะตลาดคนในชุมชนมากขึ้น
รวมถึงแข่งขันกับ Tesco Lotus Express ที่ได้พัฒนาโมเดลร้านสะดวกซื้อมาก่อน
จุดเปลี่ยนสำคัญของ Big C เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2559
เมื่อทาง Casino Group ประสบปัญหาด้านการเงิน จึงได้ทำการเปิดประมูลเพื่อขายกิจการ
โดยกลุ่ม TCC Group ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้กิจการ Big C ในประเทศไทยไป
ขณะที่ผู้ปลุกปั้นเดิมอย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ประมูลได้สิทธิ์บริหาร Big C ในประเทศเวียดนาม
เรื่องนี้ทำให้ Big C ในไทย มาอยู่ภายใต้บริษัท BJC หรือ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
ที่เป็นหนึ่งในเครือ TCC Group
และทำให้ BJC มีทั้งธุรกิจต้นน้ำ ที่คอยผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในหลากหลายแบรนด์ แล้วส่งให้กับห้างร้านต่าง ๆ
และธุรกิจปลายน้ำ ที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Big C คอยกระจายสินค้าที่ตัวเองผลิต ให้ถึงมือผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม Big C เองก็ยังคงต้องเจอกับคู่แข่งตลอดกาลอย่าง Tesco Lotus
ที่ทำห้างสรรพสินค้าและร้านค้า เพื่อเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มเดียวกัน
ซึ่งในปี 2563 Tesco จากประเทศอังกฤษ ได้ขายกิจการ Tesco Lotus
ในประเทศไทย กลับคืนให้กับกลุ่ม CP
และกลุ่ม CP ก็ได้มีการรีแบรนด์ Tesco Lotus ใหม่ทั้งหมด และปรับปรุงห้างร้าน เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
โดยเปลี่ยนจาก Tesco Lotus เป็น Lotus’s และเปลี่ยนจาก Tesco Lotus Express เป็น Lotus’s Go Fresh
ส่วนทาง Big C เอง ก็ได้ออกโมเดลซูเปอร์มาร์เก็ตใหม่
ในชื่อ Big C Food Place เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในเมือง
และมีแผนในการเปลี่ยนโฉมห้างสรรพสินค้า ในบางสาขาของตัวเองเช่นกัน
เช่น ปรับปรุงห้าง Big C สาขารัชดาภิเษก ให้กลายเป็น Big C Place ภายในปี 2565
หากพูดถึงสภาพการแข่งขันในปัจจุบัน เราลองไปดูสาขาของซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งสองแบรนด์ ในปี 2565
กลุ่ม BJC มี Big C ไฮเปอร์มาร์เก็ต 154 สาขา และ Mini Big C 1,431 สาขา
กลุ่ม CP มี Lotus’s ไฮเปอร์มาร์เก็ต 224 สาขา และ Lotus’s Go Fresh 2,171 สาขา
จะเห็นว่า ถ้าเทียบกันแบบไซซ์ต่อไซซ์
ห้าง Big C จะมีช่องทางในการขายที่น้อยกว่า Lotus’s ทั้ง 2 รูปแบบนี้
ทีนี้ถ้ากลับไปพูดถึง กลุ่มเซ็นทรัล
หากยังจำกันได้ ในช่วงต้นของบทความนี้ Big C สมัยที่เซ็นทรัลเป็นผู้ปลุกปั้นนั้น หลายสาขาตั้งอยู่บนที่ดินของกลุ่มเซ็นทรัล และทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว ราว ๆ 30 ปี
ถ้านับตั้งแต่ช่วงที่กลุ่มเซ็นทรัลขยาย Big C ตั้งแต่ช่วงปี 2536-2539
หมายความว่า กลุ่มเซ็นทรัล ก็น่าจะยังได้ประโยชน์จาก Big C ทางอ้อม จากการเก็บค่าเช่าที่ดินไปจนจบสัญญาเช่าในช่วงปี 2566-2569
และปัจจุบัน ทาง Big C ก็น่าจะเช่าที่ดินของกลุ่มเซ็นทรัลต่อ
สรุปเรื่องนี้ก็คือ ห้าง Big C ในประเทศไทย มีกลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้ปลุกปั้น
ก่อนจะต้องขายกิจการให้ต่างชาติ ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง
และปัจจุบัน Big C ในไทย ก็อยู่ในการดูแลของกลุ่ม BJC ในเครือ TCC Group
ซึ่งเป็นเครือธุรกิจของ เจ้าสัวเจริญ และตระกูลสิริวัฒนภักดี นั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.