ทำไม Lazada ได้กำไรจาก ส่งพัสดุ เป็นหลัก

ทำไม Lazada ได้กำไรจาก ส่งพัสดุ เป็นหลัก

15 ก.ย. 2022
ทำไม Lazada ได้กำไรจาก ส่งพัสดุ เป็นหลัก | BrandCase
รู้หรือไม่ Lazada Express ที่ทำธุรกิจส่งของและโลจิสติกส์
ทำกำไร ได้เยอะกว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเครือตัวเอง
เพื่อให้เข้าใจภาพ มาดูผลประกอบการปีล่าสุด (ปีบัญชี 2565) ของสองบริษัทนี้..
บริษัท ลาซาด้า จำกัด (เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Lazada)
-รายได้ 20,675 ล้านบาท
-กำไร 413 ล้านบาท
-อัตรากำไร 2%
บริษัท ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส จำกัด
-รายได้ 16,060 ล้านบาท
-กำไร 2,700 ล้านบาท
-อัตรากำไร 17%
จะเห็นว่า รายได้ของ Lazada Express น้อยกว่า Lazada แต่กลับทำกำไรได้เป็น 6.5 เท่า
ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ?
BrandCase จะวิเคราะห์ให้อ่าน แบบเข้าใจง่าย ๆ
-เรื่องแรก Lazada Express ไม่ต้องทำการตลาดอะไรมาก
ที่เป็นแบบนี้เพราะ Lazada ที่เป็นตลาดออนไลน์ เป็นคนทำตลาดให้อยู่แล้ว
ซึ่งการทำตลาดของ Lazada ก็มีหลายวิธี
ตั้งแต่โฆษณาโปรโมตตรง ๆ ตามช่องทางสื่อต่าง ๆ ไปจนถึงการอัดโคดส่วนลด และทำแคมเปญวันเบิ้ล เช่น 9.9 หรือ 11.11
ลองมาดูโครงสร้างรายได้และค่าใช้จ่าย ของ 2 บริษัทนี้ ในปีบัญชี 2565 กันอีกรอบ
บริษัท ลาซาด้า จำกัด
-รายได้รวม 20,675 ล้านบาท
-ต้นทุนขาย 9,339 ล้านบาท
-ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 10,918 ล้านบาท
-รายจ่ายรวม 20,257 ล้านบาท
-กำไร 413 ล้านบาท
บริษัท ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส จำกัด
-รายได้รวม 16,060 ล้านบาท
-ต้นทุนขาย 12,213 ล้านบาท
-ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 1,124 ล้านบาท
-รายจ่ายรวม 13,337 ล้านบาท
-กำไร 2,700 ล้านบาท
โดยค่าใช้จ่ายในการทำตลาด ถือว่าเป็นค่าใช้จ่าย ในการขายและบริการ ซึ่งจะเห็นว่า Lazada ที่เป็นอีคอมเมิร์ซ มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นสัดส่วนที่สูงมาก
ส่วน Lazada Express กลับมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ต่ำกว่าหลายเท่า
แต่จะไปมีต้นทุนขายที่สูงแทน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าพนักงานขนส่ง
ทีนี้หลายคนอาจจะตั้งคำถาม ถ้า Lazada Express ไม่ทำตลาด แล้วคนจะมาใช้บริการได้อย่างไร ?
คำตอบมันอยู่ที่ข้อถัดไป ซึ่งก็คือ..
-ผู้ซื้อและผู้ขาย บน Lazada จะถูก “Default” หรือถูกวางตัวเลือกแรก ให้ใช้บริการของ Lazada Express
Default Option หมายถึง ทางเลือกเริ่มต้นที่ถูกเลือกไว้ให้เราอยู่แล้ว
สำหรับเรื่องนี้คือ ผู้ซื้อและผู้ขายของบน Lazada จะถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ว่าต้องใช้บริการจัดส่งสินค้าของ Lazada Express
กรณีที่ผู้ขาย อยากเปลี่ยน หรือเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ซื้อ ด้วยการเลือกผู้จัดส่งเป็นเจ้าอื่น ที่ไม่ใช่ Lazada Express ก็ต้องติดต่อคุยกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมันก็จะเพิ่มความยุ่งยาก
เพราะฉะนั้น ของที่ซื้อขายกันบนแพลตฟอร์ม Lazada
ส่วนมากก็จะใช้บริการจัดส่งสินค้า ของ Lazada Express โดยที่ตัว Lazada Express เอง ไม่ต้องเสียเงินโปรโมตอะไรมากมาย
ซึ่งกลยุทธ์แบบนี้ ก็มีแบรนด์ดัง ๆ ใช้กันทั่วไป
อย่างเช่น Apple ที่ให้ Safari มาเป็นเบราว์เซอร์หลัก ทำให้คนใช้ iPhone, iPad ก็นิยมใช้ Safari แทนที่จะไปเสียเวลาดาวน์โหลด Chrome ของ Google มาใช้
สรุปคือ Lazada Express ไม่จำเป็นต้องใช้งบทำการตลาดเยอะ
เพราะอย่างไรก็มีคนมาใช้บริการอยู่แล้ว จากการเป็นทางเลือกแรก ในการซื้อขายกันบนแพลตฟอร์ม Lazada
ส่วนตัว Lazada ที่เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
แม้จะมีรายได้มากก็จริง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดสูงมาก ที่ต้องแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่น ๆ
ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากจนทำให้มีกำไร น้อยกว่าธุรกิจขนส่งของตัวเอง
มันก็เลยทำให้เครือ Lazada ในตอนนี้ ได้กำไรจากการส่งพัสดุเป็นหลัก นั่นเอง..
Reference
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.