“ไม่เกิน 30 วินาที” มาตรฐานจานด่วน ของ McDonald's สาขาแรก

“ไม่เกิน 30 วินาที” มาตรฐานจานด่วน ของ McDonald's สาขาแรก

15 ก.ย. 2022
“ไม่เกิน 30 วินาที” มาตรฐานจานด่วน ของ McDonald's สาขาแรก | BrandCase
ถ้าเราไปต่อแถวซื้อแฮมเบอร์เกอร์หน้าร้าน McDonald's สาขาแรก ที่ซานเบอร์นาร์ดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 1948 อาหารจะเสิร์ฟให้เรา ภายใน 30 วินาที..
ความเร็วที่เหลือเชื่อนี้ ทำให้วงการฟาสต์ฟูด ณ ตอนนั้นน่าตื่นตาตื่นใจขึ้นมาทันที
และกลายเป็นมาตรฐานสูง ของทั้ง McDonald's และฟาสต์ฟูดรายอื่น ๆ
คำถามคือ ทำไมตอนนั้น McDonald's เสิร์ฟอาหารได้เร็วมาก
เร็วในแบบที่เป็นนิยามของคำว่า “Fast Food” หรือ “จานด่วน” จริง ๆ
BrandCase จะเล่าเรื่องมุมนี้ ที่หลายคนยังไม่รู้ให้อ่านกัน
เกริ่นก่อนว่า ก่อนที่ McDonald's จะเป็นร้านอาหารฟาสต์ฟูดชื่อดังมาจนถึงปัจจุบัน McDonald's เคยเป็นร้านขายแฮมเบอร์เกอร์แบบ ไดรฟ์อิน (Drive-in) ซึ่งเป็นรูปแบบร้านที่นิยมมาก ในยุค 1940s
ไดรฟ์อินที่ว่า คือจะให้ลูกค้าเข้ามาจอดรถภายในร้าน และให้พนักงานมารับออร์เดอร์ รวมถึงนำอาหารมาเสิร์ฟให้ที่รถเลย
ถึงแม้ว่าร้านจะขายดีมาก แต่กลับมีปัญหา
เพราะลูกค้ายังต้องรออาหารที่สั่งเป็นเวลานาน แถมรอบการหมุนออร์เดอร์ก็ช้า เพราะกว่าจะสั่ง กว่าจะเสิร์ฟ และกว่ากินเสร็จถึงค่อยขับรถออกไป ก็ใช้เวลานานอยู่
ผู้ก่อตั้งร้าน คือ สองพี่น้องอย่างคุณ Richard และคุณ Maurice McDonald จึงตัดสินใจปิดร้านอาหารเป็นเวลา 3 เดือน
เพื่อคิดทบทวนแผนการดำเนินธุรกิจภายในร้านใหม่
ซึ่งหลัก ๆ ก็คือ การพยายามลดอะไรหลาย ๆ อย่าง ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการทำอาหารฟาสต์ฟูด ไม่ว่าจะเป็น
-เปลี่ยนจากให้พนักงานไปรับออร์เดอร์และเสิร์ฟอาหารที่รถ เป็นให้ลูกค้าเดินมาสั่งอาหารหน้าร้านเอง
-เปลี่ยนการใช้ภาชนะอย่าง จาน แก้วน้ำ มาเป็นแบบพลาสติกทั้งหมด โดยลูกค้าทานเสร็จแล้วก็สามารถทิ้งได้ทันที
-การลดเมนูอาหารจาก 25 เมนู ให้เหลือเพียงแค่เมนูที่ขายดีมาก ๆ ซึ่งมีอยู่เพียง 3 เมนู เพื่อลดปริมาณการสั่งวัตถุดิบมาสต็อกไว้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ทั้งสองพี่น้องก็ยังคิดระบบการทำงานขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องรออาหารนานเกินไป
-ให้พนักงาน 1 คนรับผิดชอบเพียงงานเดียว ซึ่งทำหน้าที่นั้นซ้ำไปซ้ำมา และควบคุมปริมาณอาหารให้เท่ากันทั้งหมด เพื่อให้พนักงานทำซ้ำได้เร็วขึ้น
-การออกแบบครัวทำอาหารให้มีประสิทธิภาพ แนวคิดคือ ให้พนักงานในครัวแต่ละคนเคลื่อนไหวน้อยที่สุด
-การใช้เครื่องมือที่ช่วยทำอาหารทีละมาก ๆ ให้เสร็จในเวลาอันรวดเร็ว เช่น การนำเครื่องทำ
มิลก์เชก 5 หัวมาใช้มากถึง 8 เครื่อง เพื่อให้สามารถทำมิลก์เชกได้ถึง 40 แก้วพร้อม ๆ กัน
ใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง “The Founder” ที่เล่าเรื่องการสร้างร้าน McDonald's ในช่วงแรกขึ้นมา ก็จะเห็นรายละเอียดที่น่าสนใจ อย่างเช่น
ระหว่างที่พนักงานย่างเนื้อ ก็จะมีพนักงานที่เตรียมขนมปังรอ และแฮมเบอร์เกอร์ทุกชิ้น จะต้องใส่วัตถุดิบต่าง ๆ ให้เท่ากัน เช่น แตงกวาดอง 2 ชิ้น และใช้อุปกรณ์ควบคุมการหยอดซอส ให้มีปริมาณเท่ากัน
ซึ่งทั้งสองพี่น้อง ก็ได้ทดลองใช้ระบบการจัดการร้านที่ว่านี้ มาเปิดเป็นร้านอาหารในรูปแบบใหม่ในปี 1948
ผลปรากฏว่าร้านอาหาร มีรายได้ลดลงในช่วงแรก เพราะว่าลูกค้ายังไม่คุ้นชินกับการเดินเข้าไปต่อคิวสั่งอาหาร
แต่ด้วยความไวในการทำอาหาร ไวในระดับที่เสิร์ฟออร์เดอร์ได้ ภายในไม่เกิน 30 วินาที หลังจากที่ลูกค้าสั่ง
ก็ทำให้ร้าน McDonald's กลายเป็นกระแสบอกต่อ จนสุดท้ายคนมาต่อคิวรอสั่งกันแบบล้นทะลัก
การจัดการร้านแบบนี้ ทำให้ McDonald’s สามารถลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลงไปได้มาก และมันนำมาซึ่งข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุน จนสามารถขายสินค้าถูกลงได้
ลูกค้าที่มาที่ร้าน McDonald’s ในตอนนั้น จะได้กินแฮมเบอร์เกอร์ในราคาที่ถูกกว่าเจ้าอื่นในตอนนั้น คือชิ้นละ 15 เซนต์ เทียบกับร้านค้าอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่จะขายกันชิ้นละประมาณ 20-25 เซนต์
จนในเวลาต่อมาคุณ Ray Kroc นักธุรกิจชาวอเมริกัน ก็ได้เห็นศักยภาพของร้าน McDonald's และมีวิสัยทัศน์อยากให้ McDonald's เป็นแฟรนไชส์ร้านอาหารฟาสต์ฟูดที่โด่งดังทั่วสหรัฐอเมริกา
จึงได้เข้ามาซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ รวมถึงกิจการของ McDonald's จากสองพี่น้องในเวลาต่อมา
และได้ทำให้ร้านอาหาร McDonald's เป็นวัฒนธรรมอาหารฟาสต์ฟูด
ยอดนิยมของชาวอเมริกัน และโด่งดังไปทั่วโลกในเวลาต่อมา
ทีนี้ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ถ้าเราไปสั่งอาหาร
คงจะน้อยครั้งมาก ๆ ที่จะได้รับอาหารภายใน 30 วินาที
ที่เป็นแบบนี้เราวิเคราะห์ได้ว่า
ร้านอาหารฟาสต์ฟูด เพิ่มเมนูอาหารให้หลากหลายขึ้น และถ้าหากเมนูนั้นสามารถตีตลาดลูกค้าส่วนใหญ่ได้ เมนูนั้นก็จะถูกเพิ่มเข้าไปกลายเป็นเมนูหลัก
เช่น เชนร้านอาหาร McDonald's ได้เพิ่มเมนู The Big Mac, The Egg McMuffin และ Chicken McNuggets
และหลาย ๆ สาขาก็ยังมีการเพิ่มเมนูอาหารประจำวัน ที่เป็นเอกลักษณ์ของร้านในพื้นที่นั้น ๆ
ด้วยเมนูที่มากขึ้น ก็ทำให้พนักงานในร้านไม่ได้ทำเมนูเดิมซ้ำ ๆ เหมือนเมื่อก่อน
แต่จะสลับทำหลาย ๆ เมนูตามที่ลูกค้าสั่ง
เช่น พนักงานต้องทอดนักเก็ตสลับกับทอดเฟรนช์ฟรายส์ หรือพนักงานต้องทำเมนูแฮมเบอร์เกอร์ที่มีสูตร หรือรสชาติที่แตกต่างกัน
และด้วยพฤติกรรมการบริโภคของคนที่เปลี่ยนไป
เช่น เทรนด์ใส่ใจสุขภาพ รวมไปถึงใส่ใจในคุณภาพของอาหารมากขึ้น
ก็ทำให้บรรดาร้านฟาสต์ฟูดในยุคหลัง ๆ มานี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ความเร่งด่วนของอาหารเพียงอย่างเดียว
แต่จะให้ความสำคัญกับวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร รวมไปถึงวิธีการทำอาหารที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น
เหตุผลเหล่านี้ ทำให้ร้านฟาสต์ฟูดทุกวันนี้ รวมถึง McDonald’s เอง ต้องใช้เวลานานมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อน
และถึงแม้ว่ามันอาจจะเทียบกันไม่ได้ ระหว่างในปี 1948 กับทุกวันนี้ ที่เมื่อก่อนจะเน้นเมนูน้อย ๆ ไม่ต้องใส่ใจเรื่องความเฮลที หรือสิ่งแวดล้อมอย่างทุกวันนี้
แต่ก็ต้องยอมรับว่า มาตรฐาน 30 วินาที ที่ McDonald’s เคยทำไว้ในช่วงแรก
มันคือนิยามของคำว่า “ฟาสต์ฟูด” จริง ๆ..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.