กรณีศึกษา ธุรกิจโรงแรม สำหรับคนตาย ในญี่ปุ่น

กรณีศึกษา ธุรกิจโรงแรม สำหรับคนตาย ในญี่ปุ่น

31 ส.ค. 2022
กรณีศึกษา ธุรกิจโรงแรม สำหรับคนตาย ในญี่ปุ่น | BrandCase
หากพูดถึง “โรงแรม” หลายคนอาจจะนึกถึง สถานที่พักตากอากาศสบาย ๆ
พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสุดประทับใจ
แต่วันนี้ BrandCase จะพาไปรู้จักกับหนึ่งในประเภทโรงแรม ที่เรียกได้ว่าแปลกสุดในโลก
ที่บอกแบบนั้นก็เพราะว่าโรงแรมแห่งนี้ ไม่ได้เป็นสถานที่สำหรับคนเป็น แต่มีไว้สำหรับ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
โรงแรมแห่งนี้ชื่อว่า “Lastel” ซึ่งอยู่ใน ประเทศญี่ปุ่น
แล้วทำไมญี่ปุ่น ถึงมีโรงแรมประเภทนี้ ?
อย่างที่เรารู้กันดีว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว
เพราะมีประชากรอายุเกิน 65 ปี เกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็ยังมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ปี 2000 อัตราการเสียชีวิต 8 คน ต่อประชากร 1,000 คน
ปี 2010 อัตราการเสียชีวิต 10 คน ต่อประชากร 1,000 คน
ปี 2020 อัตราการเสียชีวิต 11 คน ต่อประชากร 1,000 คน
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีประชากรราว 100 ล้านคน แปลว่าจะมีคนเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 1.1 ล้านคนต่อปี
ด้วยจำนวนผู้สูงอายุจำนวนมาก รวมกับอัตราการเสียชีวิตที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น
ธุรกิจหลังความตาย จึงเติบโตขึ้นตาม
โดยหนึ่งในธุรกิจนั้นก็คือ Lastel โรงแรมสำหรับผู้ล่วงลับ
Lastel มีจุดเริ่มต้นจากคุณฮิสะโยชิ เทระมูระ ผู้ประกอบธุรกิจรับจัดพิธีศพ ที่เข้าใจความลำบากของการหาสถานที่ สำหรับจัดพิธี
แล้วทำไมผู้เสียชีวิต ยังต้องนอนโรงแรม ?
ก็ต้องบอกว่าชาวญี่ปุ่น มีพิธีกรรมทางศาสนาที่ค่อนข้างซับซ้อน ตั้งแต่เกิดจนถึงเสียชีวิต
ส่วนใหญ่แล้วเมื่อทารกเกิดมาครบ 1 เดือน พ่อแม่จะพาทำพิธีสักการะเทพเจ้าแบบชินโต
เมื่อโตขึ้นชาวญี่ปุ่นหลายคน นิยมจัดงานแต่งงานในโบสถ์แบบคริสเตียน เพราะมีความเรียบเรียบง่ายกว่า การแต่งงานตามแบบชินโต หรือแบบดั้งเดิม ท่ีจะมีกฎระเบียบเคร่งครัดมาก
ซึ่งที่ญี่ปุ่น ผู้ที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนก็สามารถจัดพิธีแต่งงานแบบคริสเตียนได้
และเมื่อเสียชีวิตลงจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแบบพุทธ
แล้วประเพณีดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น สำหรับผู้เสียชีวิต เป็นอย่างไร ?
หลังจากมีคนเสียชีวิต ญาติจะเป็นผู้นำศพของผู้เสียชีวิตกลับมาไว้ที่บ้านเป็นเวลา 1 คืน
หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “โอะทสึยะ” เพื่อให้เหล่าญาติได้ใช้เวลาครั้งสุดท้ายกับผู้เสียชีวิต ก่อนที่จะนำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป
แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตที่วุ่นวาย จนไม่สะดวกเดินทางมาร่วมพิธี หรือบรรดาญาติพี่น้องที่ต่างแยกกันอยู่ จนส่งผลให้ขนาดครอบครัวเล็กลง
ไปจนถึงขนาดของบ้านและประเภทที่อยู่อาศัย ที่อาจจะไม่สอดคล้องต่อประเพณีดั้งเดิมอีกต่อไป
จึงเป็นที่มาของไอเดีย “โรงแรมชั่วคราว” สำหรับผู้เสียชีวิตและญาติ
ที่โรงแรมจะคอยอำนวยความสะดวก ตั้งแต่ห้องพักสำหรับประเพณีโอะทสึยะ, สถานที่จัดพิธีศพ ไปจนถึงรถรับส่งไปยังสถานที่เผา
นอกจากนี้โรงแรม Lastel ยังมีบริการห้องเย็นชั่วคราวในกรณีที่เตาเผามีไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในญี่ปุ่นปัจจุบัน ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เตาเผาในบางพื้นที่มีจำนวนเท่าเดิม จนในบางครั้ง อาจจะต้องรอเตาเผาตั้งแต่ 4 วันไปจนถึง 10 วัน
ในส่วนของค่าบริการสำหรับห้องเย็นนั้น จะเริ่มต้นที่ 3,200 บาทต่อคืน
โดยญาติเอง ก็สามารถเดินทางมาเยี่ยมได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ปัจจุบัน โรงแรม Lastel มีอยู่ 2 สาขา และตั้งอยู่ในเมืองโยโกฮามา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโตเกียว
จากเรื่องนี้ เราสามารถสรุปได้ว่า ไม่ว่าไอเดียธุรกิจของเรา จะแปลกขนาดไหน
แต่หากมันสามารถรองรับความต้องการของตลาดได้ เราก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน
อย่างในกรณีของคุณฮิสะโยชิ เทระมูระ ที่เล็งเห็นว่าความลำบากของการหาสถานที่สำหรับจัดพิธีศพ
กำลังเป็นปัญหาสำหรับใครหลายคน
จึงได้ไอเดียธุรกิจโรงแรมผู้ล่วงลับอย่าง Lastel ที่หากใครมองเผิน ๆ จากภายนอก ก็คงบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า แปลก
แต่หากมาดูเนื้อธุรกิจและปัญหาที่ชาวญี่ปุ่นต้องเผชิญกันอยู่แล้ว
ก็ต้องบอกเลยว่า ตรงจุด และ ตอบโจทย์ มากเลยทีเดียว..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.