กรณีศึกษา ซีอีโอลดเงินเดือน ตลอดชีวิต เพื่อเพิ่มเงินเดือน ให้พนักงาน

กรณีศึกษา ซีอีโอลดเงินเดือน ตลอดชีวิต เพื่อเพิ่มเงินเดือน ให้พนักงาน

13 ส.ค. 2022
กรณีศึกษา ซีอีโอลดเงินเดือน ตลอดชีวิต เพื่อเพิ่มเงินเดือน ให้พนักงาน | BrandCase
คงเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อสำหรับหลายคน ถ้าวันหนึ่งซีอีโอเดินมาบอกกับเราว่า จะลดเงินเดือนของตัวเอง เพื่อนำมาเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงาน ให้พอ ๆ กับตัวเอง และไม่ได้ทำแค่เพียงชั่วคราว แต่จะทำตลอดไป
ที่น่าสนใจคือ เหตุการณ์ดังกล่าว กลับเกิดขึ้นจริงแล้วกับคุณ Dan Price ซีอีโอของ Gravity Payments บริษัทผู้ให้บริการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต สัญชาติอเมริกัน
ความน่าสนใจของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ทำไมเขาถึงทำแบบนี้ ?
BrandCase จะสรุปเคสนี้ให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในปลายปี 2554 เมื่อคุณ Dan Price สังเกตเห็น พนักงานคนหนึ่งดูไม่สบอารมณ์ขณะทำงาน เขาจึงหาโอกาสในการเข้าไปพูดคุยในช่วงพักกลางวัน
เมื่อถึงเวลาคุณ Price ก็ไม่รอช้า เข้าไปถามไถ่พนักงาน ว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในที่ทำงาน
และก็ได้รับคำตอบว่า “คุณมักจะโม้ถึงวินัยทางการเงินของตัวเอง แต่รู้หรือไม่ว่าด้วยเงินเดือนที่คุณให้ผมนี้ ไม่มีทางที่เราจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้เลย”
ซึ่งโดยปกติแล้วพนักงานคนที่ว่านี้ ไม่ได้เป็นคนที่จะชอบการโวยวาย
นั่นจึงทำให้คุณ Price ค่อนข้างช็อกกับคำตอบ และรู้สึกแย่มาก ที่เพิ่งรู้ว่าพนักงานของตัวเอง มีปัญหาเรื่องนี้กันอยู่
ทำให้เขาต้องกลับไปคิดทบทวน และตัดสินใจสร้างนโยบายเพิ่มเงินเดือน ให้แก่พนักงานทุกคนในอัตรา 20% ต่อปี
อย่างไรก็ดีคุณ Price ยังคิดว่าการเพิ่มเงินเดือนให้ทุกคนเท่านี้ คงไม่เพียงพอที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เขาจึงตัดสินใจ คิดแผนการที่ใหญ่กว่านั้นขึ้นมาอีก
นั่นก็คือ เสนอเงินเดือนขั้นต่ำให้แก่พนักงานที่ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทยราว 2,400,000 บาท
พร้อมลดเงินเดือนของตัวเองให้เหลือเพียง 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่ 1,100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งคิดเป็น 6% ของเงินเดือนเดิม ให้เท่ากับเงินเดือนขั้นต่ำของบริษัท
แน่นอนว่าการลดเงินเดือนของคุณ Price ในครั้งนี้ ทำให้เขาต้องลดระดับการใช้ชีวิตลงด้วย
โดยการขายบ้านหลังที่สอง และใช้เงินออมของเขาแทน
ซึ่งนักวิเคราะห์ทางการเงินทั้งหลายบอกว่า สุดท้ายแล้วบริษัทจะไปไม่รอดด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้พนักงานระดับอาวุโสบางคนก็ลาออกเพื่อประท้วง
เพราะไม่พอใจที่เงินเดือนของเด็กรุ่นใหม่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และมองว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาจะขี้เกียจ จนบริษัทไม่สามารถแข่งขันกับใครได้เลย
แต่เพียง 1 สัปดาห์หลังจากบริษัทประกาศปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานใหม่ ก็มีผู้สมัครงานยื่นเรซูเมรวมกว่า 4,500 ราย
ซึ่งหนึ่งในนั้น มีผู้บริหารระดับสูงของ Yahoo! ด้วย แม้ว่าตำแหน่งที่เขามาสมัคร จะโดนลดเงินเดือนลงจากเดิม 80-85% ก็ตาม
และนับจากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน อัตราการลาออกของพนักงานก็ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สะท้อนให้เห็นผ่าน จำนวนบุตรและบ้านของพนักงาน ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนบริษัทก็ยังคงเติบโตได้ดี และสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายใน 6 ปี สวนทางกับสิ่งที่เหล่านักวิเคราะห์คาดการณ์
และด้วยจากสถิติของสถาบันนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า ค่าตอบแทนของซีอีโอโดยเฉลี่ย สูงกว่าเงินเดือนของพนักงานทั่วไปถึง 320 เท่า
ทำให้คุณ Price พยายามแชร์เรื่องราวสนับสนุนเพิ่มเงินเดือนให้แก่บริษัทอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
ส่วนในปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทนี้ ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 จนสูญเสียรายได้ไปราว 55%
แต่บริษัทก็รอดมาได้ จากการที่พนักงานช่วยลดค่าใช้จ่าย ด้วยการยอมลดเงินเดือนของตัวเองลงถึง 50% จากเดิม
ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว บริษัทก็ได้กลับมาชดเชยเงินเดือน เมื่อสถานการณ์เริ่มกลับมาปกติอีกครั้ง
จบด้วยเรื่องราวที่น่ารัก ในวันครบรอบวันเกิดปีที่ 32 ของคุณ Price
คือเหล่าพนักงานได้เซอร์ไพรส์เขา ด้วยการหุ้นกันซื้อรถยนต์ Tesla Model S เป็นของขวัญ ซึ่งเป็นรถยนต์ที่เขาใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของมาโดยตลอด
“แม้ว่าเงินเดือนเก่าของผม จะทำให้ผมซื้อรถยนต์คันนี้ได้ง่าย ๆ แต่ผมมีความสุขมากกว่าเมื่อก่อนอีกนะ”
คุณ Price กล่าวปิดท้าย..
References
-https://www.cbsnews.com/news/dan-price-gravity-payments-ceo-70000-employee-minimum-wage/
-https://www.inc.com/magazine/201511/paul-keegan/does-more-pay-mean-more-growth.htm l
-https://en.wikipedia.org/wiki/Dan_Price
-https://www.businessinsider.com/gravity-payments-dan-price-ceo-raise-minimum-wage-revenue-2021-8
-https://www.bbc.com/news/stories-51332811
-https://people.com/human-interest/ceo-dan-price-says-companys-revenue-has-tripled-since-he-gave-employees-70000-minimum-salary/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.