สรุปที่มา “ความมินิมัล” จากนิกายเซน สู่แบรนด์ญี่ปุ่น MUJI และ UNIQLO

สรุปที่มา “ความมินิมัล” จากนิกายเซน สู่แบรนด์ญี่ปุ่น MUJI และ UNIQLO

14 ก.ค. 2022
สรุปที่มา “ความมินิมัล” จากนิกายเซน สู่แบรนด์ญี่ปุ่น MUJI และ UNIQLO | BrandCase
“น้อยแต่มาก” “เรียบหรูดูแพง” นี่คือสิ่งที่สะท้อนความ มินิมัล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตในฝัน ของใครหลาย ๆ คน
ไม่ว่าจะเป็น สไตล์การแต่งตัว, สไตล์การตกแต่งบ้าน ร้านอาหาร หรือร้านคาเฟ
ซึ่งถ้าพูดถึงความมินิมัล แล้วให้นึกถึงชื่อประเทศสักชื่อหนึ่ง คงจะนึกถึงใครไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ “ญี่ปุ่น”
ทำไม ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และร่ำรวยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
กลับขึ้นชื่อว่าเป็น ประเทศแห่งความเรียบง่าย น้อยแต่มาก
หรือที่เรียกว่า “มินิมัลลิสต์”
BrandCase จะสรุปให้ฟัง..
รู้หรือไม่ว่า ความมินิมัล ได้รับอิทธิพลและวิธีคิด มาจาก “นิกายเซน” ในศาสนาพุทธ
ตั้งแต่ในศตวรรษที่ 12 ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากนิกายเซน ซึ่งเป็นนิกายหนึ่ง ในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน ที่ได้รับการเผยแผ่ศาสนาจากจีนเข้ามา
โดยหัวใจของนิกายเซน คือสอนให้ฝึกสติ นั่งสมาธิ โดยไม่เน้นการท่องตำรา และนับถือบูชาเทพเจ้าองค์ใด
นิกายเซนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และได้แทรกซึมไปยังทุกส่วนของวัฒนธรรมญี่ปุ่น
ตั้งแต่การจัดสวน การชงชา และการจัดดอกไม้ หรือแม้แต่งานศิลปะใบแบบเซน
ซึ่งในยุคสมัยเดียวกัน งานศิลปะโดยทั่วไปในแบบตะวันตก จะต้องสวย และมีความสมบูรณ์แบบ
แต่งานศิลปะจากเซน กลับคิดตรงกันข้าม
สะท้อนผ่านปรัชญา “วาบิ ซาบิ” นั่นคือ ความเรียบง่าย สมถะ และไม่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ
สังเกตเห็นได้จากภาพวาดญี่ปุ่นสมัยก่อน ที่มีลายเส้นขาด ๆ หาย ๆ แต่เรียบง่าย สบายตา และมีพื้นที่ว่างเยอะ
ซึ่งศิลปะ และวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากนิกายเซนนี้เอง ได้แทรกซึมไปในวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นมาเรื่อย ๆ
จนกระทั่งช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ราว ๆ ปี 1951 นิกายเซน ได้เผยแผ่ไปสู่ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา
ในช่วงนั้น สหรัฐอเมริกา กับญี่ปุ่น กำลังร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
แต่ในทางกลับกัน วิทยาการต่าง ๆ ที่พัฒนาได้ไว กลับกระตุ้นให้คนอยากบริโภคมากขึ้น จนเกิดความฟุ่มเฟือย
และทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจตามมา
ในขณะเดียวกัน ก็มีคนอีกจำนวนมาก ที่เบื่อหน่ายจากความฟุ่มเฟือย ความเกินพอดี และอยากจะหาความสุขจากความเรียบง่ายมากขึ้น
นิกายเซน จึงได้เข้ามามีอิทธิพลในสหรัฐอเมริกา ในช่วงนั้น
ไล่เลี่ยกันกับศิลปะแบบ มินิมัล ที่ได้เข้ามามีบทบาทในช่วงต้นทศวรรษ 1960s
โดยแนวคิดนี้อธิบายโดย Barbara Rose นักวิจารณ์ศิลปะชาวอเมริกัน
เธอบอกว่า ความมินิมัล จะว่าด้วย “ความน้อย” เป็นหัวใจสำคัญ
โดยเป็นงานศิลปะที่เรียบง่าย สีสันไม่ฉูดฉาด และลดทอนรูปทรง เห็นแล้วดูว่าง เบา และสบายตา
เช่นเดียวกับศิลปะใบแบบ เซน
ส่วนในด้านของประเทศญี่ปุ่น ช่วงปี 1960 ไปจนถึงปี 1990
ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วขึ้นมาก
จนกลายเป็นผู้ส่งออกสินค้าอันดับต้น ๆ ของโลก
คนญี่ปุ่นในยุคดังกล่าว เกิดการบริโภคมากขึ้น และของใช้ในบ้านมีเยอะมากเกินความจำเป็น
มีคนบางกลุ่มที่ชอบสะสมของที่คลั่งไคล้
เช่น สะสมเครื่องเล่นเกม, เครื่องดนตรี, ฟิกเกอร์การ์ตูน และของใช้ต่าง ๆ
บางคนก็จะทิ้งของพวกนี้ไว้ เวลาย้ายบ้าน หรือเสียชีวิต จึงเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ของมือสองจากญี่ปุ่น ถูกนำเข้ามาขายในไทยเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจทำความสะอาดและเก็บกวาดที่พักผู้เสียชีวิต ซึ่งคนญี่ปุ่นเรียกว่า “โทคุชู เซโซ” มีบริษัทที่ทำธุรกิจนี้มากกว่า 10,000 แห่งทั่วญี่ปุ่น
สุดท้าย ก็มีคนญี่ปุ่นจำนวนมากเช่นกัน ที่เบื่อหน่ายความฟุ่มเฟือย และเกิดเป็นกระแสต่อต้านการบริโภคของใช้ต่าง ๆ ที่มากไป จนเกินความจำเป็น
นี่เป็นที่มาของกระแส “มินิมัลลิสต์” ที่ต่อมาก็ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และได้แทรกซึมไปในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น
- การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าโทนสีสบายตา
- การออกไปทานอาหาร ในร้านอาหารที่ดูเรียบง่าย ไม่หรูหรา เงียบและเป็นส่วนตัว
- การจัดตกแต่งบ้านให้ดี โดยการแยกของใช้ที่ไม่จำเป็นออก และการจัดวางของให้หาง่าย ๆ
- การจัดห้องให้ดูสบายตา มีพื้นที่ใช้สอยเยอะ แม้ว่าห้องจะมีขนาดเล็ก
เราจะเห็นได้จากแบรนด์ญี่ปุ่นในปัจจุบัน ที่นำเสนอสิ่งที่เรียบง่าย ผ่านสินค้าต่าง ๆ
และหลายแบรนด์ในปัจจุบัน ได้ตีตลาดออกไปทั่วโลก
โดยเฉพาะแบรนด์สินค้าแฟชั่น เช่น
- MUJI แบรนด์ขายเสื้อผ้าและของใช้ในบ้าน ที่ไม่เน้นขายตัวแบรนด์ แต่เน้นขายสินค้าที่มีคุณภาพ
- UNIQLO แบรนด์เสื้อผ้า ที่เน้นความเรียบง่าย ผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ และสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย
และยังมีแบรนด์สินค้าอื่น ๆ เช่น
- % ARABICA แบรนด์ร้านกาแฟญี่ปุ่น ที่มีคอนเซปต์ร้านที่เรียบง่าย แต่ชงแบบพิถีพิถัน มาตรฐานสูง
- BALMUDA แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่น ที่เน้นออกแบบให้มีขนาดเล็ก แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ
โดยแบรนด์ ที่ส่งออกสินค้ามินิมัลเหล่านี้ ล้วนเป็นแบรนด์ที่เราคุ้นเคย ที่เพิ่งได้รับความนิยมได้ไม่นาน
และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างเช่น MUJI
ปี 2011 บริษัทมีรายได้ 47,000 ล้านบาท กำไร 2,300 ล้านบาท
ปี 2021 บริษัทมีรายได้ 121,000 ล้านบาท กำไร 9,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระแส มินิมัลลิสต์ ที่ต่อต้านการบริโภคของใช้ต่าง ๆ นั้น ส่วนหนึ่งก็ทำให้การบริโภคลดลง ส่งผลไม่ดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เช่นเดียวกัน
เราจะเห็นได้จากค่าใช้จ่ายครัวเรือนของญี่ปุ่น
ปี 2011 มีค่าใช้จ่ายครัวเรือน 496,000 บาทต่อหัว
ปี 2021 มีค่าใช้จ่ายครัวเรือน 373,000 บาทต่อหัว
จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายครัวเรือนญี่ปุ่นลดลงกว่า 33% เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน
ในการบริโภคของกินของใช้ที่ลดลง
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ วิถีชีวิตของผู้คนที่เริ่มเปลี่ยนไป
เริ่มหันมาใช้แต่ของที่จำเป็นเท่านั้น ตามกระแสมินิมัลลิสต์ และอิทธิพลจากนิกายเซน
แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความมินิมัล ถือเป็น Soft Power ที่สำคัญของญี่ปุ่น
ที่นอกจากจะส่งให้แบรนด์ดัง ๆ ของญี่ปุ่นอย่าง MUJI, UNIQLO, % ARABICA เป็นที่รู้จักและนิยมไปทั่วโลกแล้ว
ความมินิมัล ยังส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของใครหลาย ๆ คน ทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก
ให้ใช้ชีวิตแบบไม่มากเกินความพอดี แต่มีคุณค่า อีกด้วย..
References
-http://www.sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/handle/123456789/14477/MA_Srayut_Inprayoon.pdf?sequence=1&isAllowed=y
-https://www.prachachat.net/world-news/news-73879
-https://www.ceicdata.com/en/indicator/japan/annual-household-expenditure-per-capita
-https://daily.redbullmusicacademy.com/2015/01/down-in-the-dumps-inside-japanese-collector-culture
-https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2159271
-https://ryohin-keikaku.jp/eng/ir/ir_archive/annual_report/
-https://www.bareo-isyss.com/service/decor-guide/wabi-sabi-decor/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.