กรณีศึกษา TikTok กำลังเป็นฐานทัพ ของนักสร้างคอนเทนต์ ASMR

กรณีศึกษา TikTok กำลังเป็นฐานทัพ ของนักสร้างคอนเทนต์ ASMR

7 ก.ค. 2022
กรณีศึกษา TikTok กำลังเป็นฐานทัพ ของนักสร้างคอนเทนต์ ASMR | BrandCase
โดย ASMR เป็นคำที่ย่อมาจาก Autonomous Sensory Meridian Response หรือก็คือ อาการตอบสนองต่อประสาทรับความรู้สึกอัตโนมัติ
เช่น เสียงกระซิบ เสียงกระทบของวัตถุต่าง ๆ ซึ่งเมื่อเราฟังซ้ำไปซ้ำมา จะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายโดยไม่รู้ตัว
หลายคนที่เสพสื่อวิดีโอผ่านทาง YouTube อาจจะเคยได้ยิน หรือได้ดูวิดีโอในรูปแบบเสียง ASMR อย่างเสียงกระซิบ เสียงข่วน หรือเสียงเคี้ยว กันมาบ้างพอสมควร
โดยเฉพาะกับคนที่ชอบดูวิดีโอโชว์กินอาหาร ก็มักจะเคยเห็นคอนเทนต์แนวนี้กันอยู่บ่อย ๆ
แต่มาวันนี้ คอนเทนต์ ASMR ที่เคยโด่งดังใน YouTube กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในช่องทางอื่น
โดยเฉพาะ “TikTok” ซึ่งมีข้อมูลบอกว่า มียอดการรับชมคอนเทนต์ ASMR ใน TikTok ไปแล้ว มากกว่า 372,800 ล้านครั้ง
ซึ่งในปัจจุบันได้มีครีเอเตอร์หลายคน ที่ได้ผลิตคอนเทนต์ ASMR ไม่ว่าจะเป็นการกิน การทำอาหาร การแต่งหน้า การแคะหู และถ่ายทอดเสียงเหล่านั้นด้วยไมโครโฟนที่เก็บและดูดเสียงได้ดี
หรือแม้กระทั่งการจัดของเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถนำมาสร้างเป็นคลิป ASMR อัปโหลดลง YouTube และ TikTok ให้คนเข้าไปฟังกันได้
และสิ่งที่ทำให้เหล่านักสร้างคอนเทนต์ ASMR หรือเรียกกันอีกชื่อว่า ASMRtists ขยายช่องทางการเผยแพร่ผลงานไปยัง TikTok คือ
- ฟีเชอร์ ไลฟ์สตรีมมิง ของ TikTok นั้น สามารถเพิ่มประสบการณ์ และเข้าถึงผู้ชมได้มากกว่า ในขณะที่การไลฟ์ใน YouTube จะเข้าถึงเพียงแค่ผู้ที่ติดตามช่องเท่านั้น ทำให้โอกาสที่ผู้ชมรายใหม่จะเห็นนั้นมียากกว่าใน TikTok และยากที่จะเข้าถึงช่องเพื่อกดติดตาม
ที่เป็นแบบนี้เพราะ อัลกอริทึมของ TikTok จะแนะนำคอนเทนต์ ที่ระบบคิดว่ามีความน่าสนใจให้คนดู จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนเข้ามาเห็นคอนเทนต์ ASMR บน TikTok เป็นจำนวนมาก
เช่น จากเดิมที่เคยไลฟ์ผ่าน YouTube สามารถดึงดูดผู้ชมได้เพียง 200 คน แต่เมื่อเปลี่ยนมาไลฟ์บน TikTok อาจจะสามารถดึงดูดคนดู ได้มากถึง 300,000 - 500,000 คน ต่อการไลฟ์ 40 นาที
Lucy Davis หนึ่งในนักสร้างคอนเทนต์ ASMR ยังให้สัมภาษณ์ว่า เธอสร้างช่องบน YouTube มาก่อน แต่กลับมีผู้ติดตามเพียงแค่ 1 แสนคน
แต่เมื่อเทียบกับบัญชีใน TikTok ที่สร้างหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน กลับมียอดผู้ติดตาม เป็น 6 เท่า หรือราว ๆ 6 แสนคน
เรื่องนี้ยังนับว่าเป็นข้อดีที่ทำให้เหล่านักสร้างคอนเทนต์ ASMR เข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่เคยรู้จัก ASMR มาก่อนได้ และเป็นอีกช่องทางที่จะนำผู้ชมจากแพลตฟอร์มนี้ ติดตามต่อไปยังช่อง YouTube ของพวกเขาด้วย
เนื่องจากนักสร้างคอนเทนต์เหล่านี้มองว่า YouTube ยังสามารถสร้างรายได้จากยอดการรับชม ได้มากกว่า TikTok นั่นเอง..
แล้ว ASMR ที่ว่านี้มันเกิดขึ้นมานานแค่ไหน ?
ต้องบอกก่อนว่าจริง ๆ แล้ว คลิป ASMR นั้นมีมานานมากแล้ว โดยข้อมูลจาก Google Trends พบว่า “ASMR” เป็นคำที่มีผู้คนค้นหาตั้งแต่เมื่อ ปี 2012 ซึ่งคำนี้มีการค้นหาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน
และประเทศที่มีการค้นหา ASMR มากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ ประเทศเกาหลีใต้
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไรนัก เพราะปกติแล้วเรามักจะเห็นรายการวาไรตีของเกาหลีใต้ หยิบเอาการกินอาหารแบบ ASMR มาใช้ในเกมการแข่งขัน เพื่อเรียกเสียงหัวเราะ และยอดคนดูอยู่เป็นประจำ
โดยช่อง YouTube ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนี้ ก็คือ Hongyu ASMR 홍유 ซึ่งเป็นช่องของชาวเกาหลีใต้ ที่ตอนนี้มีผู้ติดตามสูงถึง 13.5 ล้านคน
ส่วนหัวข้อที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดในคอนเทนต์ประเภท ASMR คือ “การกิน” รองลงมาเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “หู”
ซึ่งถ้าหากลองสังเกตวิดีโอ ASMR ที่เรามักจะเห็นก็ล้วนเป็นเรื่องของการกินอาหารโชว์ หรือไม่ก็เป็นเสียงแคะหูจากไมโครโฟนจำลอง ที่มีลักษณะคล้ายกับใบหูของคน วางไว้ด้านซ้ายและด้านขวาของไมโครโฟน
แต่อย่างไรก็ตามกระแสของ ASMR ไม่เพียงแค่นิยมนำมาสร้างคอนเทนต์เพื่อความผ่อนคลายเท่านั้น แต่ ASMR ยังถูกนำมาใส่ในโฆษณาของแบรนด์ใหญ่หลายตัว
เช่น IKEA, KFC หรือแม้กระทั่ง Apple เองก็ยังมีการใช้เสียง ASMR ในการโปรโมตสินค้าเช่นกัน
นี่ก็เป็นเรื่องราวของกระแส ASMR จากที่เคยเป็นเพียงความชอบฟังของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นกระแสที่หลายคนทั่วโลกชอบฟัง
และต้องบอกว่าตอนนี้ TikTok ก็กำลังเป็นฐานทัพสำคัญ ของนักสร้างคอนเทนต์แนวนี้ ไปแล้ว..
References:
- https://www.insider.com/asmr-tiktok-instead-of-youtube-growth-subscribers-2022-7?
- https://trends.google.com/trends/explore?date=all_2008&gprop=youtube&q=ASMR
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.