กรณีศึกษา กลยุทธ์สร้างสินค้า ให้มีอายุขัยจำกัด แบบ Apple

กรณีศึกษา กลยุทธ์สร้างสินค้า ให้มีอายุขัยจำกัด แบบ Apple

22 เม.ย. 2022
กรณีศึกษา กลยุทธ์สร้างสินค้า ให้มีอายุขัยจำกัด แบบ Apple | BrandCase
หลายผลิตภัณฑ์ที่เราคุ้นเคยกันนั้น แม้ว่าเราจะดูแลรักษา ทะนุถนอมในการใช้งานเป็นอย่างดี
แต่ก็มักมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ปีบ้าง 8 ปีบ้าง เช่น สมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์
ซึ่งปัญหาที่หลาย ๆ คนมักต้องเจอคือ บางครั้งตัวฮาร์ดแวร์หรือตัวเครื่องนั้นยังใช้งานได้ดีอยู่ แต่ตัวซอฟต์แวร์ หรือแม้กระทั่งแบตเตอรี่ กลับเริ่มเสื่อมสมรรถภาพ
แล้วทำไม หลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี จึงมักให้อายุเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเหลือเพียงเท่านั้น
กลยุทธ์ทางธุรกิจที่บริษัทเหล่านี้ใช้นั้น เรียกว่า “Planned Obsolescence”
หรือการกำหนดอายุขัยให้กับสินค้าแบรนด์ของตัวเอง
ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีการ เช่น
- การออกแบบสินค้าให้ใช้งานได้ดี แค่ในช่วงเวลาหนึ่ง
- การเสนอสินค้าใหม่ ที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาสินค้าเดิม
โดยการทำเช่นนี้ก็จะยิ่งทำให้ลูกค้าอยากหันไปใช้สินค้ารุ่นที่ใหม่กว่า ดีกว่า และรีบละทิ้งของเก่าไปในที่สุด
และจุดประสงค์ที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ ต้องมีการทำ Planned Obsolescence นั่นก็เป็นเพราะว่า มันสามารถดึงให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าใหม่ และเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีดีมานด์สำหรับสินค้ารุ่นต่อ ๆ ไปนั่นเอง
หนึ่งในบริษัทที่มีการทำ Planned Obsolescence อยู่บ่อย ๆ ก็คือ Apple
โดยที่ผ่านมา ผู้ใช้งานหลาย ๆ คนจะเริ่มสังเกตว่าแบตเตอรี่ หรือฮาร์ดแวร์บางอย่างจะเริ่มเสื่อมลง หลังจากใช้งานไปได้ประมาณ 2-3 ปี
หรือบางครั้ง ถึงแบตเตอรี่จะอยู่ในสภาพดีแค่ไหน แต่ในเรื่องของซอฟต์แวร์ ก็จะมีการอัปเดตเวอร์ชันใหม่ ๆ และอาจไม่รองรับในโทรศัพท์รุ่นเก่า ๆ แล้ว
ถึงแม้ว่าตัวแบรนด์อย่าง Apple เองนั้น จะไม่ได้มีการออกมายอมรับตรง ๆ ว่าพวกเขาตั้งใจทำให้อายุการใช้งานของสินค้านั้นสั้นลง แต่ก็มีรายงานต่าง ๆ ที่ชี้แจงว่า ซอฟต์แวร์อัปเดตของ Apple นั้น ทำให้โทรศัพท์รุ่นเก่า ๆ ทำงานช้าลงจริง
เช่น มีกลุ่มผู้ใช้งานไม่น้อยที่สังเกตเห็น และก็สร้างความไม่พอใจ จนมีการฟ้องร้องกันใหญ่โต ในปี 2017
โดยคดีนี้มีชื่อเรียกว่า “Batterygate” หรือการที่ Apple ตั้งใจลดสมรรถภาพของ iPhone รุ่นเก่า ๆ ลง เมื่อแบตเตอรี่เริ่มเสื่อม และทำให้ Apple ต้องยอมจ่ายเงินชดเชยมูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท ในที่สุด
อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะคิดว่าการทำ Planned Obsolescence นั้นเป็นเรื่องที่ดูไม่ค่อยดีเท่าไรนัก
แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า มันก็มีข้อดีของมันอยู่
เช่น ช่วยประหยัดต้นทุน โดยแทนที่จะใช้วัสดุเกรดสูง ๆ อยู่ได้ 10 ปี ก็อาจจะลดมาเป็นวัสดุที่มีอายุการใช้งาน 5 ปีแทน เพื่อให้แบรนด์สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง
หรือทำให้บริษัทต้องพยายามพัฒนาเทคโนโลยี ให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น เช่น การอัปเดตซอฟต์แวร์ใหม่ทุกปี หรือการออกสินค้ารุ่นใหม่ ๆ สู้กับคู่แข่งให้ได้อย่างรวดเร็ว
แต่อย่างไรก็ตาม การทำ Planned Obsolescence นั้น ควรพิจารณาความเสี่ยงให้รอบด้านเสียก่อน
เพราะถึงแม้หลายบริษัทจะคิดว่ามันสามารถดึงลูกค้าและเม็ดเงินได้อย่างมหาศาล
แต่มันก็อาจกลายเป็นดาบสองคม ที่ทำให้ลูกค้าไม่พอใจ และพากันหนีออกจากแบรนด์ของเรา ก็เป็นได้..
References:
-https://www.investopedia.com/terms/p/planned_obsolescence.asp
-https://www.investopedia.com/apple-aapl-reaches-settlement-over-iphone-batterygate-5088300
-https://thestandard.co/apple-fines-3-43-billion-for-batterygate-case/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.