ซีอีโอ Google แก้ปัญหา คุยกันไม่รู้เรื่องในที่ประชุม อย่างไร ?

ซีอีโอ Google แก้ปัญหา คุยกันไม่รู้เรื่องในที่ประชุม อย่างไร ?

11 ก.พ. 2022
ซีอีโอ Google แก้ปัญหา คุยกันไม่รู้เรื่องในที่ประชุม อย่างไร ? | THE BRIEFCASE
ความคิดเห็นก็ไม่ได้ งานก็ไม่เดิน
คนพูดหน้าเดิม ๆ คนฟังก็ไม่กล้าออกความเห็น เพราะกลัวที่ประชุมจะเสียเวลา แล้วงานจะออกมาดีได้อย่างไร ?
หลายบริษัทน่าจะเคยเจอปัญหาในการประชุมแบบนี้
และรู้หรือไม่ว่า บริษัทระดับโลกอย่าง Google ก็เจอปัญหาแบบนี้เหมือนกัน
แล้วซีอีโอของ Google อย่าง Sundar Pichai เขามีวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ?
THE BRIEFCASE จะเล่าให้ฟัง..
เมื่อไม่นานมานี้ Sundar Pichai CEO ของ Google ก็ได้เปิดเผยว่า Google กำลังเจอปัญหาเรื่องการสื่อสารกับพนักงาน และระหว่างพนักงานด้วยกันเอง
ปัญหาที่ว่านี้คือ หลาย ๆ ทีมใน Google พอเวลาประชุมแล้วต้องออกความเห็น จะไม่กล้าออกความเห็นอย่างเต็มที่เพราะกลัวหลายเรื่อง ทั้งกลัวที่ประชุมจะเสียเวลา กลัวความเห็นของตัวเองไปขัดกับความเห็นส่วนมาก
และในยุคที่ต้องสื่อสารกันผ่านทางออนไลน์ ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนโดยตรงน้อยลง ทำให้การสื่อสารแบบตรงไปตรงมายิ่งแย่กันไปใหญ่
ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการร้องเรียนกันตั้งแต่ระดับทีม ระดับโปรเจกต์ ไปจนถึงหูผู้บริหารระดับสูงของ Google อย่าง Sundar Pichai
และวิธีที่ Sundar Pichai หยิบมาแก้ไขปัญหา คุยกันไม่รู้เรื่องในที่ประชุม
ก็คือ “การจำกัดจำนวนคนในการเข้าประชุม”
เขาบอกว่าการประชุมที่ดี ถ้าเป็นไปได้ ควรมีไม่เกิน 10 คน ถึงจะช่วยลดปัญหาด้านการสื่อสารตามที่พนักงานร้องเรียนมาได้
เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับ ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่พบว่าจำนวนคนที่ทำให้การประชุมมีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็คือ 5-9 คนเท่านั้น
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า
การประชุมที่มีคนจำนวนมาก มักจะมีประเด็นระหว่างบุคคลเพิ่มมากขึ้น และการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมไม่มากเกินไป ยังสามารถสร้างความสนิทสนมได้มากกว่า ทำให้ตัดสินใจหรือหาข้อสรุปได้เร็วขึ้น
เรื่องนี้ยังไปคล้าย ๆ กับแนวคิดในการประชุมของ เจฟฟ์ เบโซส มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Amazon.com
ที่เขาตั้งชื่อว่า The 2-pizza rule หรือ “กฎพิซซา 2 ถาด”
โดยกฎนี้บอกว่า ในการประชุมแต่ละครั้ง ต้องมีจำนวนคนเข้าร่วมแค่พอกินพิซซา 2 ถาดได้พอดี หรือประมาณไม่เกิน 8-10 คน
อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้จำนวนคน
คือคนที่เข้าร่วมในห้องนั้น
ต้องเกี่ยวข้องจริง ๆ กับประเด็นที่จะคุยกัน..
References
-https://www.inc.com/jeff-steen/
-https://www.cnbc.com/2021/12/21/
-https://hbr.org/2018/06/
-https://www.inc.com/sean-wise/
-https://www.blockdit.com/posts/5ff533bb3c1ef70317496121
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.