งีบหลับในที่ทำงานอย่างไร ให้สมองสดชื่น

งีบหลับในที่ทำงานอย่างไร ให้สมองสดชื่น

4 ม.ค. 2022
งีบหลับในที่ทำงานอย่างไร ให้สมองสดชื่น | THE BRIEFCASE
หลังจากรับประทานอาหารกลางวัน อาการที่ตามมาของคนส่วนใหญ่คือ เริ่มง่วงนอน แต่หลายคนก็เลือกที่จะไม่งีบหลับ เพราะกลัวว่าตัวเองจะดูไม่ดี หรือถูกเข้าใจว่าเป็นคนขี้เกียจ
แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วการงีบหลับในช่วงบ่าย สามารถเติมพลังให้ร่างกายและจิตใจของเรา เพื่อให้พร้อมสำหรับการทำงาน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง รวมถึงยังช่วยลดความเครียดอีกด้วย
สาเหตุที่เป็นแบบนี้ เพราะปกติแล้วหลังเราตื่นนอน สารอะดีโนซีนในสมองที่มีฤทธิ์ทำให้รู้สึกง่วงนอนจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามเวลา ซึ่งส่งผลให้การทำงานของสมองและร่างกายเริ่มมีประสิทธิภาพที่ต่ำลง
แต่ด้วยการงีบหลับสามารถช่วยลดสารเคมีในสมองตัวนี้ได้
นี่เลยเป็นเหตุผลว่า ทำไมการงีบหลับ ถึงเป็นเรื่องที่ดี
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก ที่ปัจจุบันหลายบริษัทในญี่ปุ่นและประเทศในโลกตะวันตกต่างพากันสนับสนุนให้พนักงานงีบหลับกันแล้ว
อย่าง มิตซูบิชิ เอสเตท บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ก็ได้มีนโยบายสร้างพื้นที่และช่วงเวลางีบหลับให้แก่พนักงานแล้ว
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การงีบหลับถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ
แต่บางคนอาจจะกำลังเจอกับปัญหา ที่งีบหลับแล้วแต่ก็ยังไม่ค่อยสดชื่น ทำให้ตื่นมาทำงานแล้วยังรู้สึกอึน ๆ มึน ๆ THE BRIEFCASE จึงขอยกเคล็ดลับการงีบหลับ ที่ทำให้สมองเรามีความสดชื่นมากขึ้น
1. ห่างจากโทรศัพท์
แน่นอนว่า การอยู่ใกล้กับโทรศัพท์จะทำให้จิตใจเราไม่สงบ และด้วยแสงสีฟ้าจากหน้าจอมือถือ ยังทำให้ร่างกายตื่นตัวอีกด้วย ด้วยเหตุผลเหล่านี้เราจึงควรตั้งปิดเสียง และตัดขาดโลกอินเทอร์เน็ตไปก่อน เพื่อที่จะได้โฟกัสกับการนอนอย่างเต็มที่
2. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การพักผ่อน
อยู่ในสภาพแวดล้อมผ่อนคลาย เช่น อยู่ในห้องที่มีแสงน้อย ๆ หรือหากต้องอยู่ห้องที่มีแสงสว่าง ก็ให้ใช้ผ้าปิดตาแทน
อยู่ในห้องที่ไม่มีเสียงรบกวน หรือหากมี ก็ให้ใช้หูฟังเปิดเพลง หรือฟังเสียงที่ฟังแล้วสบาย และสุดท้ายอุณหภูมิต้องพอเหมาะด้วย หากหนาวจนเกินไป ก็เตรียมเสื้อกันหนาวหรือผ้าห่มไว้เลย
3. ทานอาหารให้ถูกต้อง
ก่อนงีบหลับ ให้หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน หรือมีไขมันเป็นส่วนประกอบ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราหลับได้ยาก
และถ้าหากเราหิวจริง ๆ ให้เลือกทานสิ่งที่มีโปรตีนและแคลเซียมแทน เช่น นม
4. งีบหลับหลังจากทานอาหารมื้อกลางวัน
เหตุผลเพราะว่าหลังจากทานอาหารกลางวัน ซึ่งเป็นมื้อหนักไปแล้ว กลูโคส หรือน้ำตาลในอาหาร จะไปขัดขวางเซลล์สมองของเรา ไม่ให้ผลิตสารที่ช่วยสร้างภาวะตื่นตัว ทำให้เรามีอาการง่วงตามมา จึงนับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การงีบหลับ
5. สร้างให้เป็นกิจวัตรประจำวัน
เพื่อให้ร่างกายสามารถพักผ่อนได้อย่างรวดเร็ว ต้องฝึกงีบหลับให้เป็นนิสัย โดยกำหนดกิจวัตรประจำวันให้ชัดเจน
เช่น หลับสถานที่เดิม ในเวลาเดิม ขณะที่ฟังเพลงเดิม ๆ ตลอด เพื่อที่จะได้เป็นการส่งสัญญาณไปยังร่างกายของเรา ให้รับรู้ว่าถึงเวลาพักผ่อนและฟื้นฟูร่างกายแล้ว
ทั้งนี้ระยะเวลาที่เหมาะแก่การงีบหลับของคนส่วนใหญ่ คือ 10-20 นาที เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนเรายังหลับไม่ลึก ง่ายต่อการตื่น และรู้สึกสดชื่นหลังตื่นด้วย
ซึ่งถ้าหากหลับเกิน 30 นาที จะมีโอกาสเกิดอาการงัวเงีย และบางคนอาจจะมีอาการปวดหัวตามมา
ซึ่งหากไม่อยากให้มีอาการงัวเงียและปวดหัว ก็ต้องนอนให้นานขึ้นไปอีกประมาณ 30 นาที ถึงจะกลับสู่ภาวะปกติเช่นเดิม
ดังนั้นหากใครเพิ่งหัดงีบหลับ ก็ควรตั้งนาฬิกาปลุกไว้ด้วย เพื่อจะได้ไม่หลับเกินเวลาที่กำหนด จนเสียการงีบหลับที่ดีไปนั่นเอง
ทั้งหมดนี้ก็คือเคล็ดลับของการงีบหลับ ที่ช่วยให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น
และถ้าหากหัวหน้างานอนุญาตให้งีบหลับได้ ก็ลองหันมาพักงีบหลับกันบ้าง เพื่อให้สมองสดชื่น พร้อมทำงานต่ออย่างสดใสได้นั่นเอง..
References:
-https://www.spine-health.com/blog/how-power-nap-work
-https://thaipublica.org/2013/11/siesta/
-https://www.pobpad.com
-https://www.bbc.com/thai/international-59796416
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.