รู้จัก บุคลิกแบบ Ambivert ส่วนผสมระหว่าง Extrovert และ Introvert

รู้จัก บุคลิกแบบ Ambivert ส่วนผสมระหว่าง Extrovert และ Introvert

12 ธ.ค. 2021
รู้จัก บุคลิกแบบ Ambivert ส่วนผสมระหว่าง Extrovert และ Introvert | THE BRIEFCASE
หากพูดถึงบุคลิกภาพของแต่ละคน แน่นอนว่าย่อมมีความแตกต่างกันไป
แต่ถ้าเรานำบุคลิกภาพของคนมาจัดกลุ่ม เพื่อให้เข้าใจพื้นฐานบุคลิกของคนเราให้ง่ายขึ้น
จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. Extrovert
คือ คนที่ชอบเข้าสังคม ชอบใช้เวลากับคนอื่น ๆ หรือชอบอยู่กับคนกลุ่มใหญ่ ๆ ไม่ชอบอยู่คนเดียว เวลาไปไหนหรือทำงานมักจะชอบทำกับคนจำนวนมาก ๆ มีมนุษยสัมพันธ์ดี เป็นคนเฮฮาปาร์ตี
ซึ่งคนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ มักเหมาะที่จะทำงานอย่างพนักงานต้อนรับลูกค้า พยาบาล นักแสดง พิธีกร หรืออาชีพที่ต้องพบปะคนบ่อย ๆ และรักการบริการเป็นชีวิตจิตใจ
2. Introvert
คือ คนที่ชอบอยู่กับตัวเอง ชอบใช้เวลาร่วมกับเพื่อนสนิทกลุ่มเล็ก ๆ มากกว่าใช้เวลากับคนจำนวนมาก หรือเป็นคนที่ชอบเก็บตัวเงียบ ๆ ชอบอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองหรือคนที่มีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง
ซึ่งคนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้มักเหมาะที่จะทำงานอย่าง นักวิจัย นักบัญชี โปรแกรมเมอร์ นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ หรืองานอะไรก็ตามที่ต้องใช้สมาธิในการทำงาน
เพราะไม่ต้องมีการพบปะผู้คนเยอะ ๆ เหมือนอย่างกรณีของคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Extrovert
แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจาก 2 บุคลิกภาพข้างต้นแล้ว
ยังมีบุคลิกภาพที่เป็นเหมือนส่วนผสมกันระหว่าง Extrovert และ Introvert อีกด้วย
ซึ่งคนที่มีบุคลิกภาพเช่นนี้จะถูกเรียกว่า “Ambivert”
แล้วบุคลิกภาพของ “Ambivert” เป็นอย่างไร ?
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Ambivert มักจะสามารถปรับตัว และปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพได้เก่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม
เช่น ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องทำงานกับคนส่วนใหญ่ เขาจะมีบุคลิกภาพแบบ Extrovert
ในขณะเดียวกัน หากต้องมาทำงานที่เน้นการใช้สมาธิ ต้องทำงานคนเดียว เขาจะมีบุคลิกภาพแบบ Introvert
ทีนี้ เราลองนึกสถานการณ์ต่อไปนี้..
ถ้ามีเพื่อนชวนเราออกไปเที่ยว ไปงานปาร์ตี และเราก็ตอบรับว่าจะไปสนุกกับเพื่อน
แต่เราจะจำกัดเวลาของตัวเองเพื่อไปทำเรื่องส่วนตัวอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้น ถ้าเพื่อนชวนไปเที่ยวต่อแบบยาว ๆ เราก็จะปฏิเสธเพื่อนทันที
หรือแม้แต่การที่มีคนมาชวนเราคุยนั่นคุยนี่ เราก็พร้อมที่จะคุยกับพวกเขาสักพัก จนเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เวลาที่เราจำกัดไว้ เราก็จะขอปลีกตัวออกจากกลุ่มคนดังกล่าว
ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ที่ว่านี้คือ คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Ambivert นั่นเอง
แล้วจุดเด่นของการเป็นคนแบบ Ambivert คืออะไร ?
1. ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี
ในชีวิตการทำงาน หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป
แน่นอนว่า เราต้องรู้ว่าช่วงเวลาไหนที่ควรเงียบ ควรอยู่คนเดียว ช่วงเวลาไหนที่ควรพูด ควรเข้ากลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ กับคนอื่น
เช่น ถ้าเราได้รับมอบหมายงานที่ต้องใช้สมาธิในการทำงานอย่างมาก เราก็ต้องมีบุคลิกภาพแบบ Introvert แต่เมื่อเราต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น เราก็ต้องเริ่มเข้าไปพูดคุย สอบถาม ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน เราก็ต้องพร้อมที่จะปรับบุคลิกภาพมาเป็นแบบ Extrovert ได้เสมอ
2. ยืดหยุ่นในการทำงาน
หลายคนอาจคิดว่า พนักงานขาย ควรต้องเป็นคนที่มีบุคลิกแบบ Extrovert คือ เป็นคนคุยเก่ง มีลีลาท่าทางในการพูดนำเสนอสินค้าที่มีความน่าสนใจ เพื่อให้สามารถทำยอดขายได้ดี
แต่ Adam Grant ศาสตราจารย์ที่ Wharton School ของมหาวิทยาลัย Pennsylvania บอกว่า
จากงานวิจัยของเขานั้นพบว่า พนักงานขายที่มีบุคลิกแบบ Ambivert สามารถปิดการขายได้ดี และสร้างรายได้ให้แก่บริษัทได้ดีกว่าพนักงานที่เป็น Extrovert และ Introvert
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าคน Ambivert ใช้จุดเด่นที่อยู่ตรงกลางระหว่างบุคลิกแบบ Extrovert และ Introvert เพื่อช่วยให้การทำงานของพวกเขามีความยืดหยุ่นมากขึ้น
อย่างกรณีของพนักงานขาย เขาจะพูดให้ข้อมูลพร้อมกับโน้มน้าวให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าและบริการของบริษัทได้ดี แต่ในขณะเดียวกัน เขาจะมีช่วงเวลาที่หยุดนิ่ง เงียบ พร้อมกับให้เวลาลูกค้าได้คิด และตัดสินใจด้วยตัวเขาเองเช่นกัน
ซึ่งการทำแบบนี้ กลับช่วยให้พนักงานขายปิดการขายได้ดีกว่าคนที่เป็นแบบ Extrovert และ Introvert อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเห็นได้ชัดเจน
3. มีลักษณะของการเป็นผู้ฟังที่ดี และผู้พูดที่ดี
หลายครั้งเราคงเคยเห็น บางคนนั้นเป็นผู้พูดที่ดี แต่กลับเป็นผู้ฟังที่ไม่ดี หรือบางคนนั้นเป็นผู้ฟังที่ดี แต่กลับเป็นผู้พูดที่ไม่ดีเอาเสียเลย
นั่นก็เพราะว่า คนเหล่านั้นอาจมีลักษณะของการเป็น Introvert และ Extrovert ด้านใดด้านหนึ่งแบบสุดขั้ว
เช่น ในที่ประชุม คนที่มีบุคลิกแบบ Introvert มักจะนั่งฟังเงียบ ๆ ไม่กล้าออกความเห็นใด
หรือคนที่มีบุคลิกแบบ Extrovert มักจะชอบพูดหรือแสดงความคิดเห็น จนบางครั้งอาจไม่ได้ฟังสิ่งที่คนอื่นพูด
ในขณะที่คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Ambivert เขาจะรู้ว่าเวลาไหนที่ควรพูด
เช่น ในช่วงที่เปิดโอกาสให้ถามหรือแสดงความเห็น หรือเวลาไหนควรฟังซึ่งเป็นช่วงที่คนอื่นในที่ประชุมกำลังพูด ซึ่งบุคลิกภาพแบบนี้ถือเป็นลักษณะของการเป็นผู้ฟังที่ดี และผู้พูดที่ดี นั่นเอง
มาถึงตรงนี้ แน่นอนว่าแต่ละคนจะมีบุคลิกภาพแบบใด ก็ย่อมขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิต พฤติกรรม และความชอบส่วนตัวของแต่ละคน
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ ไม่ว่าเราจะมีบุคลิกภาพแบบไหน เมื่อเราต้องอยู่ร่วมกันในสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของการทำงาน
ถ้าเรารู้จักเรียนรู้และสามารถเลือกจุดเด่นของแต่ละบุคลิกภาพมาใช้ให้เข้ากับสถานการณ์
ก็น่าจะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานได้ดีไม่น้อย..
References
-https://www.medicinenet.com/what_is_an_ambivert_person/article.htm
-https://en.wikipedia.org/wiki/Extraversion_and_introversion
-https://en.wikipedia.org/wiki/Adam_Grant
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.