สรุป 4 ไอเดีย ขายสินค้าเดิม ให้ได้อัตรากำไรสูงขึ้น

สรุป 4 ไอเดีย ขายสินค้าเดิม ให้ได้อัตรากำไรสูงขึ้น

4 พ.ค. 2024
สรุป 4 ไอเดีย ขายสินค้าเดิม ให้ได้อัตรากำไรสูงขึ้น | BrandCase
อัตรากำไรสุทธิ วิธีคิดก็คือ (กำไรสุทธิ/รายได้รวม) x 100
ซึ่งเมื่อคิดออกมาแล้วจะได้เป็น %
โดย % ที่ว่านี้จะบอกว่า ทุก ๆ รายได้ 100 บาท เราทำกำไรได้กี่บาท
เช่น รายได้ 100 บาท มีกำไรสุทธิ 20 บาท อัตรากำไรสุทธิคือ 20%
รายได้ 100 บาท มีกำไรสุทธิ 2 บาท อัตรากำไรสุทธิคือ 2%
ทีนี้จะเห็นว่า ในมุมของคนที่ทำธุรกิจ ใคร ๆ ก็อยากมีอัตรากำไรสูง ๆ
เพราะจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับที่ลงเงินลงแรงไป
แล้วเราจะมีวิธีอย่างไร ที่จะช่วยปรับ อัตรากำไรของเราให้สูง ๆ ขึ้นได้บ้าง ?
ต้องหมายเหตุว่า ปัจจัยที่ทำให้อัตรากำไรสุทธิสูงหรือต่ำนั้นมีหลายอย่าง ซึ่งเรื่องของ การแข่งขันในตลาด สภาพสินค้า และบริการที่แตกต่างกัน ก็มีผลให้อัตรากำไรนั้นสูงขึ้นหรือลดลงตามไปด้วย
แต่ทีนี้ถ้ามาดูปัจจัยภายใน ก็ยังพอมีวิธีในการช่วยให้เราสามารถพัฒนาอัตรากำไรสุทธิของเราให้ดีขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น
ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก
พูดง่าย ๆ ก็คือต้นทุนในส่วนไหนที่ลดลงได้ก็ควรปรับให้ลดลงให้ได้มากที่สุด หรืออันไหนที่ไม่จำเป็นก็อาจจะตัดออกไป
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งการต่อรองกับทาง Supplier ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เราได้ราคาที่ถูกลงได้
หรือจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น ค่าโฆษณา, ค่าคอมมิชชันพนักงาน, ค่าขนส่ง, ค่าโทรศัพท์, ค่าเช่าคลังสินค้า, เงินเดือนพนักงาน, ค่าเช่าที่, ค่าน้ำ, ค่าไฟ และค่าเอกสาร
อย่างตัวของค่าโฆษณา ถ้าเห็นว่าอันไหนไม่จำเป็นหรือไม่ได้ผลดี ก็ควรตัดงบในส่วนนั้นลง
หรือการย้ายคลังสินค้าให้ใกล้กับตัวโรงงานมากขึ้น เพื่อลดค่าขนส่ง ก็สามารถช่วยลดต้นทุน เพื่อช่วยให้บริษัทมีอัตรากำไรที่มากขึ้นได้
เน้นทำตลาดให้สินค้าที่ขายได้อัตรากำไรสูง
หลายคนอาจจะเคยไปร้านค้าเพื่อซื้อสินค้าบางอย่าง แต่เจ้าของร้านบอกว่าเลิกขายแล้ว เพราะขายไม่ดี
หรือขายพอได้ แต่ไม่คุ้มต้นทุนค่าเหนื่อย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่นั้นก็มาจากการอัตรากำไรที่ไม่คุ้มกับการลงทุน
อย่างกรณีของ 7-Eleven ที่แต่ก่อนแทบทุกสาขาจะมีตู้ทำ Slurpee หรือน้ำแข็งเกล็ดหิมะ แต่สุดท้ายก็หายไป เหลือแค่ไม่กี่สาขาเท่านั้น
ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นไปได้ว่า ต้นทุนในการทำ Slurpee นั้นสูง และไม่คุ้มกับยอดขาย
โดยหากมาลองวิเคราะห์จุดด้อยของ Slurpee หลัก ๆ เลยก็เช่น
ใช้เวลารอให้จับตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งนาน ทำให้ไม่สามารถขายได้ตลอดเวลาดูแลยาก ทั้งตัวเครื่องและเรื่องของความสะอาดโดยรอบตัวเครื่องต้องเปิดไว้ตลอดทั้งวัน ซึ่งแน่นอนว่าค่าไฟที่ตามมาก็สูงขึ้นตามไปด้วย
สุดท้ายก็เป็นไปได้ว่าทาง 7-Eleven เอง อาจจะมองว่าตู้ Slurpee นี้ ขายได้ไม่คุ้มทุน หรืออัตรากำไรน้อยมาก ๆ จึงได้เลิกขายเมนูนี้ไปในที่สุดนั่นเอง
ทีนี้หลัง ๆ มา เราอาจจะได้เห็นว่า 7-Eleven บางสาขานั้น เปลี่ยนเป็นตู้ทำโค้กวุ้นแทน
โดยที่เราสามารถหยิบขวดน้ำอัดลมจากตู้มาวางในช่องที่เตรียมไว้ แล้วตัวเครื่องจะใช้เทคโนโลยีพิเศษทำให้โค้กกลายเป็นวุ้นได้เพียงไม่กี่วินาที
ที่น่าสนใจคือน้ำอัดลมรสชาติอื่น ๆ ก็สามารถนำมาทำเป็นวุ้นได้ และให้รสสัมผัสคล้าย ๆ กับ Slurpee เลย แต่เครื่องนี้ ไม่ยุ่งยาก สะอาด และดูแลง่ายกว่า
ก็เป็นตัวอย่างว่า สุดท้าย 7-Eleven ก็นำเสนอสินค้าตัวใหม่ แก้ Pain Point เดิม ๆ ของตู้ Slurpee ได้ ในขณะที่ผลลัพธ์ของสินค้านั้นออกมาคล้าย ๆ กัน
เอากลยุทธ์การตั้งราคามาใช้
เรื่องของการตั้งราคานั้นมีผลมาก หรือเรียกได้ว่าเป็นตัวกำหนดอัตรากำไรของเราเลยก็ว่าได้ โดยหลักที่สามารถนำมาใช้ได้ก็เช่น
การตั้งราคาตามกลุ่มเป้าหมายของเรา หรือ Value Based Pricing
โดยวิธีการคือ ตั้งราคาอย่างไรให้กลุ่มลูกค้าของเรามองแล้วรู้สึกคุ้มค่ามากที่สุด
บางคนตั้งถูกไปก็ไม่ดีกับตัวแบรนด์ ลดความน่าเชื่อถือ
หรือถ้าตั้งราคาสูงไป แต่คุณภาพไม่ได้สูงตาม หรือต่างจากคู่แข่งมากเท่าไรนัก ลูกค้าก็อาจจะไปซื้อเจ้าอื่น ๆ แทน
ดังนั้นควรตั้งราคาที่ลูกค้ามองว่ามันไม่ถูกเกินไป เมื่อเทียบกับคู่แข่ง และเป็นราคาที่เขายอมจ่ายมากที่สุด
สร้าง Brand Loyalty ให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ ช่วยลดค่าการตลาดได้
การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้านั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะยิ่งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีไว้มากเท่าไรพวกเขาก็ยิ่งมีโอกาสกลับมาซื้อเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ตัวอย่างการดูแลก็เช่น ส่งของขวัญปีใหม่เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือการให้ส่วนลดพิเศษกับลูกค้าเก่า รวมถึงการบริการพิเศษต่าง ๆ
ซึ่งการดูแลให้ลูกค้ากลุ่มนี้กลับมาซื้อใหม่นั้น ก็ทำให้แบรนด์ไม่ต้องไปทุ่มเงินกับการโฆษณาสูง
แต่หันมาโฟกัสกับลูกค้าเดิมได้มากขึ้น และเป็นแนวทางที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาทางอ้อมได้
สุดท้าย ก็จะย้อนไปช่วยเรื่องลดค่าใช้จ่ายของธุรกิจได้ ซึ่งก็จะมีส่วนทำให้บริษัทมีอัตรากำไร สูงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ๆ ว่าการลดต้นทุนนู่นนี่ จะทำให้คุณภาพสินค้าหรือบริการเปลี่ยนไปจนกระทบความรู้สึกของลูกค้าไหม
เพราะถ้าเป็นแบบนั้น ต่อให้ของจะขายได้ในอัตรากำไรสูงขึ้น แต่ถ้าไม่มีคนซื้อ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เวิร์ก..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.