สรุป สยามพิวรรธน์ เริ่มจากทำโรงแรมหรู แล้วมาสร้าง อาณาจักรศูนย์การค้า “สยาม”

สรุป สยามพิวรรธน์ เริ่มจากทำโรงแรมหรู แล้วมาสร้าง อาณาจักรศูนย์การค้า “สยาม”

31 ม.ค. 2024
สรุป สยามพิวรรธน์ เริ่มจากทำโรงแรมหรู แล้วมาสร้าง อาณาจักรศูนย์การค้า “สยาม” | BrandCase
รู้หรือไม่ พื้นที่สยามพารากอนในทุกวันนี้ เมื่อก่อนเคยเป็นโรงแรมหรู ชื่อว่า สยามอินเตอร์คอนติเนนตอล โรงแรม 5 ดาว ระดับนานาชาติ แห่งแรกของประเทศไทย
และโรงแรมแห่งนั้น ก็คือจุดเริ่มต้นของกลุ่ม “สยามพิวรรธน์”
สยามพิวรรธน์ ในวันนี้คือเจ้าของศูนย์การค้าตระกูล “สยาม” ไม่ว่าจะเป็น
สยามพารากอนสยามเซ็นเตอร์สยามดิสคัฟเวอรี่ไอคอนสยาม
สยามพิวรรธน์ เริ่มจากธุรกิจโรงแรมหรู แล้วมาเป็นเจ้าของศูนย์การค้าชื่อดัง ได้อย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
กลุ่มสยามพิวรรธน์ มีชื่อเดิมคือ บริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส์ จำกัด
ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2502 โดย พลเอก เฉลิมชัย จารุวัสตร์
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยในยุคนั้น
โดยโครงการแรกที่บริษัทได้เปิดตัวนั้น ไม่ใช่ห้าง หรือศูนย์การค้าแต่อย่างใด
แต่เป็นโรงแรมหรูชื่อ “สยามอินเตอร์คอนติเนนตอล”
ตั้งอยู่ตรงที่ดินบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในปัจจุบัน
โดยโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตอล ได้เปิดให้บริการเมื่อปี 2509
ซึ่งนับว่าเป็นโรงแรมห้าดาวระดับนานาชาติ แห่งแรกของประเทศไทย
ต่อมา ธุรกิจค้าปลีกในย่านถนนพระรามที่ 1 และบริเวณใกล้เคียง อย่างแยกราชประสงค์
เริ่มคึกคักมากขึ้น โดยเริ่มมีห้างใหญ่ ๆ เข้าไปเปิด อย่างห้างไทยไดมารู และห้างเซ็นทรัลราชประสงค์
ทำให้บริษัท ตัดสินใจสร้างศูนย์การค้าแห่งแรก บริเวณข้าง ๆ โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตอล
นั่นคือศูนย์การค้าสยาม หรือสยามเซ็นเตอร์ โดยเปิดให้บริการในปี 2516
โดยตั้งใจให้เป็นศูนย์การค้านานาชาติที่ทันสมัย แห่งแรกของประเทศไทย
พร้อมนำเสนอแฟชั่น ร้านอาหารชั้นนำ และร้านค้าต่าง ๆ ที่แปลกใหม่มากที่สุดในยุคนั้น
หลังจากนั้นอีก 10 กว่าปีต่อมา ก็ได้มีเจ้าของธุรกิจโรงสีข้าว ไปเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่
และนั่นก็ทำให้เกิดเป็น “มาบุญครองเซ็นเตอร์” ในปี 2528 หรือที่สมัยนี้เรารู้จักกันในชื่อ MBK Center..
โดยศูนย์การค้า MBK Center ตั้งอยู่บริเวณแยกปทุมวัน อยู่ห่างจากศูนย์การค้าสยามเพียง 300 เมตร
แถมในช่วงนั้นเอง ก็ยังมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งใหม่ เปิดที่แยกราชประสงค์
นั่นคือ ศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ หรือ เซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน
จึงทำให้ในช่วงเวลานั้น กลายเป็นช่วงที่ ศูนย์การค้าสยาม
ต้องเจอคู่แข่งที่เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ถึง 2 แห่ง
แห่งหนึ่งดักกลุ่มคนที่อยู่โซนเมืองเก่า และกลุ่มนักศึกษาตรงแยกปทุมวัน
และอีกแห่ง ดักคนทำงาน และนักธุรกิจ ตรงแยกราชประสงค์
เมื่อเป็นแบบนี้ ทำให้บริษัทตัดสินใจรีโนเวตสยามเซ็นเตอร์ใหม่ทั้งหมด
พยายามปรับเปลี่ยนร้านค้า หาร้านค้าแบรนด์เนมใหม่ ๆ มาเปิดสาขาที่นี่เป็นที่แรก
เพื่อชูความล้ำสมัย ของศูนย์การค้า
ทำให้หลังจากนั้น สยามเซ็นเตอร์ ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก
จนกลายเป็นจุดกำเนิดของกระแสแฟชั่น การแต่งกายต่าง ๆ ของประเทศไทยในยุคนั้น
หลังจากที่ศูนย์การค้าสยามได้รีโนเวตครั้งใหญ่ จนประสบความสำเร็จแล้ว
บริษัทจึงตัดสินใจสร้างศูนย์การค้าแห่งที่ 2 ต่อจากสยามเซ็นเตอร์
นั่นคือ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่
โดยตั้งใจให้สยามดิสคัฟเวอรี่ เป็นจุดหมายปลายทางด้านไลฟ์สไตล์ แห่งแรกของประเทศไทย
พร้อมกับสร้างอาคารสำนักงานหรูสูง 30 ชั้น โดยใช้ชื่อว่า สยามพิวรรธน์ทาวเวอร์ ในเวลาต่อมา
โดยทั้งศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน ได้เปิดให้บริการเมื่อปี 2540
ต่อมาในปี 2545 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ จากวิกฤติต้มยำกุ้งและการลอยตัวค่าเงินบาท
ทำให้บริษัท ตัดสินใจขยายธุรกิจไปยังศูนย์การค้าลักชัวรี ที่เน้นนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น
โดยปิดกิจการ โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตอล ในปี 2545
พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด เพื่อสร้างศูนย์การค้าสยามพารากอน
ให้เป็นศูนย์การค้าลักชัวรี ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ซึ่งบริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส์ จำกัด ก็ได้รีแบรนด์เป็น
บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เมื่อปี 2546
โดยชื่อสยามพิวรรธน์ ก็เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจาก
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระยศในขณะนั้น
ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง กลุ่มสยามพิวรรธน์ ก็ได้มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น
โดยมีกลุ่มมาบุญครอง เจ้าของศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์
ได้เข้ามาถือหุ้นในบริษัท สยามพิวรรธน์ ด้วย ในสัดส่วน 31%
ต่อมาในปี 2548 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ก็ได้สร้างเสร็จ
ด้วยพื้นที่ภายในศูนย์การค้ากว่า 500,000 ตารางเมตร
ตัวศูนย์การค้ามีมูลค่าการลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท
ซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนในโครงการของภาคเอกชน ที่มีมูลค่ามากที่สุดในยุคนั้น
โดยกลุ่มสยามพิวรรธน์ ได้ร่วมทุนกับเดอะมอลล์กรุ๊ป คนละครึ่ง
ซึ่งทั้ง 2 เจ้า ก็ร่วมกันบริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน มาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งตั้งแต่สยามพารากอนเปิดให้บริการ ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก
ทั้งในกลุ่มคนไทยที่มีกำลังซื้อสูง และกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย
จึงทำให้ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา
กลุ่มสยามพิวรรธน์ มีศูนย์การค้าที่เรียกได้ว่าเป็น Magnet ที่ดึงดูดคนทั่วโลก
ให้มาช็อปปิงใจกลางสยามถึง 3 แห่ง ด้วยจุดเด่นที่แตกต่างกัน คือ
ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ มีจุดเด่นคือ เป็นศูนย์รวมไอเดียและแฟชั่นที่ล้ำสมัยศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ มีจุดเด่นคือ เป็นศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์
และเป็นสถานที่ที่ให้ทุกคนได้ค้นพบตัวเองศูนย์การค้าสยามพารากอน มีจุดเด่นคือ เป็นศูนย์รวมสินค้าลักชัวรี ร้านค้าไฮเอนด์
รวมถึงสถานบันเทิงต่าง ๆ ครบ จบ ในที่เดียว
ซึ่งหลังจากทิ้งห่างมาเป็นเวลานาน จนมาถึงปี 2561 กลุ่มสยามพิวรรธน์
ก็ได้เปิดตัวโครงการ ICONSIAM บริเวณเขตคลองสาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี
โดยมิกซ์ยูสจะประกอบไปด้วย ศูนย์การค้า ICONSIAM ขนาดพื้นที่กว่า 525,000 ตารางเมตร
และคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี 2 แห่ง
หนึ่งในนั้นก็คือ คอนโดมิเนียม Magnolias Waterfront Residences at ICONSIAM
ซึ่งนับว่าเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยตอนนี้ ด้วยความสูง 318 เมตร
ซึ่งตัวโครงการทั้งหมดนี้ มีมูลค่าการลงทุนรวม 50,000 ล้านบาท
นับว่าเป็นโครงการมิกซ์ยูส ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน
โดยแซงหน้าศูนย์การค้าสยามพารากอนเดิม
การลงทุนในครั้งนี้ กลุ่มสยามพิวรรธน์ได้ร่วมทุนกับ กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่ม MQDC โดย
กลุ่มสยามพิวรรธน์ ถือหุ้น 51%กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์หรือ C.P. Group ถือหุ้น 24.5%กลุ่ม MQDC ถือหุ้น 24.5%
โดยกลุ่มสยามพิวรรธน์และกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ จะเป็นผู้พัฒนาศูนย์การค้า
และกลุ่ม MQDC จะเป็นผู้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี 2 แห่งด้วยกัน
ต่อมา กลุ่มสยามพิวรรธน์ ก็ได้หันมาพัฒนาศูนย์การค้าอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ไม่ว่าจะเป็น
ศูนย์การค้า สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ
โดยร่วมทุนกับ Simon Property Group
บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของโลกจากสหรัฐอเมริกา
เพื่อปั้นให้เป็นศูนย์การค้า Outlet ชั้นนำของเมืองไทย โดยเปิดให้บริการเมื่อปี 2563
มิกซ์ยูส ICONSIAM เฟส 2 หรือ ICS
เป็นโครงการมิกซ์ยูส ที่ขยายจาก ICONSIAM เฟสแรก
ซึ่งประกอบด้วยศูนย์การค้า ออฟฟิศ และโรงแรม Hilton Garden Inn
โดยเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2566 หรือปีที่ผ่านมานั่นเอง
จะเห็นว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน กลุ่มสยามพิวรรธน์ เป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์
ถึง 7 แห่งด้วยกัน นั่นคือ
ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ศูนย์การค้าสยามพารากอน (ร่วมทุนกับ เดอะมอลล์กรุ๊ป)มิกซ์ยูส ICONSIAM (ร่วมทุนกับ กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่ม MQDC)มิกซ์ยูส ICS (ร่วมทุนกับ กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่ม MQDC)ศูนย์การค้าสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ (ร่วมทุนกับ Simon Property Group)อาคารสำนักงาน สยามพิวรรธน์ทาวเวอร์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านบนศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่
โดยคอนเซปต์ ของศูนย์การค้าในกลุ่มสยามพิวรรธน์ทุกแห่ง ก็จะเน้นความหรูหรา โมเดิร์น ล้ำสมัย
ถ้าจะเปิดศูนย์การค้าใหม่ในแต่ละที่ สถานที่นั้น
จะต้องเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทาง ที่คนทั่วโลกจะต้องมาช็อปปิง
ซึ่งนอกจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้ว
กลุ่มสยามพิวรรธน์ ก็ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ที่เสริมกับศูนย์การค้าด้วย ไม่ว่าจะเป็น
ธุรกิจค้าปลีก โดยบริหารร้าน Global Brand จากต่างประเทศ
เช่น LOFT, ALAND และ JUNG SAEM MOOL
ไปจนถึงร้านแบรนด์ไทย อย่าง ICON CRAFT, THE SELECTED หรือ O.D.Sธุรกิจห้างสรรพสินค้า คือบริหารห้างสรรพสินค้าพารากอน ในสยามพารากอน
และ ห้างสรรพสินค้าสยาม ทาคาชิมายะ ใน ICONSIAMธุรกิจร้านอาหาร อย่างร้าน Blue by Alain Ducasse
ร้านอาหารฝรั่งเศสแบบร่วมสมัยใน ICONSIAMธุรกิจอื่น ๆ นั่นคือ ธุรกิจสื่อสารการตลาด ธุรกิจบริหารจัดการศูนย์ประชุม
และธุรกิจบริหารจัดการอาคาร
ซึ่งถ้าเราไปดูรายได้ และกำไร ของ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เราก็จะเห็นว่า
ปี 2563 มีรายได้ 3,007 ล้านบาท กำไร 634 ล้านบาท
ปี 2564 มีรายได้ 2,591 ล้านบาท กำไร 268 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้ 4,114 ล้านบาท กำไร 1,330 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าในปี 2565 ที่เพิ่งผ่านช่วงวิกฤติโรคระบาดมาไม่นาน
กลุ่มสยามพิวรรธน์ มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 32%
ซึ่งถ้าลองเทียบดูกับ เจ้าใหญ่ในไทยอื่น ๆ
กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา ที่มีอัตรากำไรในปี 2565 อยู่ที่ 28%เดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่มีอัตรากำไรในปี 2565 อยู่ที่ 7%
ที่เป็นแบบนี้ก็น่าจะเป็นเพราะว่า
กลุ่มสยามพิวรรธน์ มีสินค้าและบริการระดับไฮเอนด์ ที่มีราคาสูงเกือบทั้งหมด แถมทำเลที่ตั้งก็อยู่ใจกลางเมืองเป็นส่วนมาก
จึงทำให้กลุ่มสยามพิวรรธน์ สามารถเก็บค่าเช่าที่ได้แพง และขายสินค้าได้ในราคาสูง
โดยเฉพาะศูนย์การค้าสยามพารากอน และไอคอนสยาม
ที่เรียกได้ว่ามีแบรนด์ลักชัวรี อย่าง GUCCI, CHANEL, PRADA
ให้เลือกมากมายหลายแบรนด์เลยทีเดียว
มาถึงตรงนี้ ก็พอจะสรุปเรื่องราวของ กลุ่มสยามพิวรรธน์
ที่มีจุดเริ่มต้นจากโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวแห่งแรกของประเทศไทย
ต่อมาก็ค่อย ๆ พัฒนาศูนย์การค้า ซึ่งตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา
กลุ่มสยามพิวรรธน์ ก็พัฒนาศูนย์การค้าเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น
แต่ศูนย์การค้าแทบทุกแห่ง ต่างก็ได้รับการยอมรับ ให้เป็นจุดหมายปลายทาง
ของการช็อปปิง และนักท่องเที่ยวระดับโลกได้
และช่วยยกระดับวงการค้าปลีกไทยให้มีความทันสมัย ทัดเทียมกับนานาชาติอย่างในปัจจุบัน..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปัจจุบัน กลุ่มสยามพิวรรธน์ มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บมจ.เอ็ม บี เค
หรือกลุ่มมาบุญครอง เจ้าของศูนย์การค้า MBK Center โดยถือหุ้นในสัดส่วน 48%..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.