สรุปโมเดล KFC ในไทย ทำไมมี 3 เจ้า ดูแลหน้าร้าน 

สรุปโมเดล KFC ในไทย ทำไมมี 3 เจ้า ดูแลหน้าร้าน 

20 ธ.ค. 2023
อธิบายโมเดล KFC ในไทย ทำไมมี 3 เจ้า ดูแลหน้าร้าน
ในประเทศไทย หน้าร้านของ KFC อยู่ภายใต้การดูแลของ 3 กลุ่มใหญ่ คือ
บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG (บริษัทในเครือเซ็นทรัล)บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RDบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด หรือ QSR (บริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ)
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพิ่งมีข่าวว่า บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RD ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ดูแลหน้าร้าน KFC ในไทย ประกาศขายกิจการให้เครือบริษัทจากอินเดีย และพันธมิตรจากสิงคโปร์
คำถามที่หลายคนสงสัยคือ โมเดล KFC ในไทยเป็นแบบไหน
ที่บอกว่ามี 3 เจ้า ดูแลหน้าร้าน คืออะไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า KFC เป็นแบรนด์ฟาสต์ฟูดที่อยู่ภายใต้ บริษัทสัญชาติอเมริกัน ชื่อว่า Yum! Brands ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ฟาสต์ฟูดดัง ๆ อีกหลายเจ้า เช่น PizzaHut, Taco Bell
อ้างอิงจากรายงานประจำปีของ Yum! Brands ณ สิ้นปี 2022 KFC มีจำนวนสาขาทั้งหมด 27,760 สาขาทั่วโลก
ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นสาขาในไทย มากกว่า 1,000 สาขา
โมเดลการบริหารร้าน KFC ในปัจจุบัน คือ
Yum! Brands บริหารร้าน KFC ด้วยตัวเองเพียง 1% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 99% คือเป็นร้านในรูปแบบ “แฟรนไชส์” ซึ่งผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในการบริหารร้าน จะเรียกว่า “แฟรนไชซี”
แฟรนไชซี จะมีหน้าที่บริหารร้านอาหาร และเป็นเจ้าของร้านเท่านั้น ไม่ได้เป็นเจ้าของแบรนด์ KFC
ส่วน Yum! Brands ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ KFC ก็จะเก็บส่วนแบ่งจากยอดขาย และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ในการส่งเสริมแบรนด์จากแฟรนไชซี
แต่สำหรับในประเทศไทย ร้าน KFC ทุกสาขา เป็นรูปแบบแฟรนไชส์ทั้งหมด
ซึ่งทาง Yum! Brands ได้เข้ามาตั้งบริษัทในไทย คือ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
โดยในช่วงแรกที่เข้ามาทำตลาดในไทย ลงทุนขยายสาขาด้วยตัวเอง
ภายใต้การร่วมมือกับ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ของเครือเซ็นทรัล
โดยเปิด KFC สาขาแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2527 หรือ 39 ปีที่แล้ว ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว
เวลาผ่านไปทาง Yum! Brands ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ปรับทิศทางการขยายธุรกิจแบบใหม่
โดยหันไปใช้โมเดลเน้นแฟรนไชส์มากกว่าเดิม
พอเรื่องเป็นแบบนี้ บริษัทจึงเริ่มมองหาพันธมิตรทางธุรกิจรายอื่น ๆ เพิ่มเติมในไทย
และในปี 2559 ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ได้พันธมิตรรายที่ 2 เพิ่มมาคือ บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
โดยได้เข้ามาถือสิทธิ์แฟรนไชส์ และสาขา KFC บางส่วนที่อยู่ภายใต้การบริหารของ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
และในปี 2560 KFC ก็ได้พันธมิตรรายที่ 3 เพิ่มมาคือ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจของกลุ่ม ไทยเบฟเวอเรจ
ซึ่งต้องบอกว่าในแง่ของ ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) การที่ได้พันธมิตรทั้ง 3 ราย เข้ามาบริหารแบรนด์ KFC ในประเทศไทย ยิ่งทำให้ธุรกิจของ KFC เติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง
สรุปคือถึงตอนนี้ ในไทยมีแฟรนไชซี ที่ได้สิทธิ์ในการบริหารจัดการร้านในไทย ทั้งหมด 3 กลุ่มบริษัท คือ
บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG (บริษัทในเครือเซ็นทรัล)บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RDบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด หรือ QSR (บริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ)
ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งมีข่าวว่าทาง RD ได้ประกาศขายกิจการ KFC ในไทย ให้กับเครือบริษัท Devyani International จากประเทศอินเดีย
ซึ่งบริษัทนี้เป็นแฟรนไชซีของ KFC ในประเทศอินเดียอยู่แล้ว โดยปัจจุบันมีสาขาในมืออยู่ราว 500 สาขา
โดยเครือ Devyani International จะร่วมมือกับเครือ Temasek ซึ่งเป็นกองทุนแห่งชาติของสิงคโปร์ ด้วยมูลค่าดีล 4,500 ล้านบาท
และคาดว่าดีลนี้จะเสร็จเรียบร้อย ภายในช่วงต้นปี 2567 ที่จะถึงนี้
สรุปอีกทีคือ โมเดลธุรกิจ KFC ในไทย
คือมี บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เป็นเจ้าของแบรนด์ เป็นผู้ดูแลแบรนด์ KFC ในไทย
และมีแฟรนไชซี ผู้บริหารหน้าร้านให้ทั้งหมด 3 ราย คือ CRG, RD, QSR
ซึ่งตอนนี้ RD หรือก็คือ บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่เป็นหนึ่งในแฟรนไชซี ดูแลหน้าร้าน KFC ในไทย
ก็กำลังขายกิจการให้เครือบริษัท Devyani International จากอินเดีย
และเครือ Temasek จากสิงคโปร์ เข้ามาดูแลธุรกิจแทน..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.