โมเดลธุรกิจ ชูวิทย์ฟาร์ม บริษัทที่ ทำฟาร์มไก่ จนจะ IPO เข้าตลาดหุ้น

โมเดลธุรกิจ ชูวิทย์ฟาร์ม บริษัทที่ ทำฟาร์มไก่ จนจะ IPO เข้าตลาดหุ้น

24 พ.ย. 2023
โมเดลธุรกิจ ชูวิทย์ฟาร์ม บริษัทที่ ทำฟาร์มไก่ จนจะ IPO เข้าตลาดหุ้น | BrandCase
ซีพีเอฟเบทาโกรสหฟาร์มแหลมทอง
หากคุณไปซื้อไก่จากแบรนด์เหล่านี้มาประกอบอาหาร
คุณอาจจะได้ไก่ที่ถูกเลี้ยงมาจาก ชูวิทย์ฟาร์ม ก็เป็นได้
โดยธุรกิจของ ชูวิทย์ฟาร์ม ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ ก็คือ
การเลี้ยงไก่เนื้อให้แก่บริษัทคู่สัญญา โดยทางฟาร์มจะเป็นผู้ลงทุนในการสร้างโรงเรือน และอุปกรณ์การเลี้ยงต่าง ๆ ตามมาตรฐานของบริษัทคู่สัญญา
และเมื่อเลี้ยงไก่จนครบกำหนด ก็จะส่งไปขายให้กับทางบริษัทคู่สัญญา เพื่อนำไปแปรรูปต่อไป โดยจะมีการประกันราคาไก่ตามที่ตกลงไว้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ มีการตกลงราคาซื้อขายกันล่วงหน้าแล้ว และเมื่อถึงวันส่งมอบ ก็จะซื้อขายกันในราคานั้น
เช่น สมมติว่าราคาที่ตกลงกันไว้ อยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ฟาร์มก็จะขายในราคานี้ให้กับบริษัทคู่สัญญาไม่ว่าในตลาดทั่วไป จะมีราคาตกต่ำลงหรือสูงขึ้น
ซึ่งการทำธุรกิจแบบนี้ เรียกว่าการทำธุรกิจแบบ Contract Farming นั่นเอง
โดยในปีที่ผ่านมา ชูวิทย์ฟาร์ม ทำรายได้ไปทั้งหมด 224 ล้านบาท กำไร 27 ล้านบาท
และที่สำคัญคือกำลังเตรียม IPO ในตลาดหลักทรัพย์ MAI อีกด้วย
แล้วธุรกิจของชูวิทย์ฟาร์ม น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ
ย้อนกลับไปในปี 2538 หรือเมื่อ 28 ปีที่แล้ว
ครอบครัวจึงธนสมบูรณ์ ได้เริ่มทำธุรกิจฟาร์มปศุสัตว์เล็ก ๆ ที่จังหวัดบุรีรัมย์
โดยในช่วงแรก จะเลี้ยงไก่เนื้อส่งขายให้กับ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)
ต่อมาทางครอบครัวจึงธนสมบูรณ์ ได้เล็งเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ
จากการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศ และความต้องการบริโภคอาหารที่เพิ่มมากขึ้น
จึงได้เริ่มก่อตั้ง บริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม จำกัด ขึ้นมาในปี 2543
หลังจากนั้นไม่นาน ชูวิทย์ฟาร์มก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนมีบริษัทใหญ่ ๆ หลายราย ให้ความสนใจ เข้ามาเซ็นเป็นบริษัทคู่สัญญา พร้อมประกันราคาไก่เพิ่มมากขึ้น
ต่อมาทางบริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม จำกัด ก็ได้ก่อตั้งบริษัทในเครือเพิ่มอีก 3 บริษัท เพื่อรองรับความต้องการของบริษัทคู่สัญญา คือ
บริษัท นอร์ทอีส โพลทรี บิซซิเนส จำกัดบริษัท วิชายุทธ โพลทรีย์ จำกัดบริษัท ธนสมบูรณ์ ฟาร์ม จำกัด
ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะควบรวมทุกบริษัทเข้าด้วยกัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) จำกัด
ปัจจุบัน บริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) จำกัด มีฟาร์มในการเลี้ยงไก่เนื้อทั้งสิ้น 8 ฟาร์ม
ประกอบด้วยโรงเรือนจำนวน 121 โรงเรือน ตั้งอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์
มีความสามารถในการเลี้ยงไก่เนื้อ ประมาณ 3.18 ล้านตัว ต่อรอบการเลี้ยง
หรือประมาณ 15.88 ล้านตัวต่อปี
และจากข้อมูลของกรมปศุสัตว์พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณการผลิตเนื้อไก่ อยู่ที่ 259 ล้านตัว
โดยทางบริษัทมีกำลังผลิตอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านตัว คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 5.6%
และปัจจุบันบริษัทได้ส่งไก่เนื้อให้กับบริษัทคู่สัญญา เช่น เบทาโกร, ซีพีเอฟ, ซันฟู้ด, พนัสโพลทรี่, สหฟาร์ม และแหลมทอง
แล้วบริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) จำกัด ทำรายได้ ได้แค่ไหน ?
ปี 2563 รายได้ 217 ล้านบาท กำไร 13 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 156 ล้านบาท ขาดทุน 37 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 224 ล้านบาท กำไร 27 ล้านบาท
และตอนนี้ บริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) จำกัด กำลังเตรียมที่จะ IPO ในตลาดหุ้น MAI อีกด้วย
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
นอกจากธุรกิจฟาร์มไก่แล้ว ครอบครัวจึงธนสมบูรณ์ ยังเป็นเจ้าของโรงงานผลิตยางพารารายใหญ่ในจังหวัดบุรีรัมย์อีกด้วย โดยบริษัทนี้มีชื่อว่า นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ซึ่งก็จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.