กรณีศึกษา Rafael บริษัทอิสราเอล ที่ทำ “IRON DOME” ระบบยิงขีปนาวุธของศัตรูทิ้ง

กรณีศึกษา Rafael บริษัทอิสราเอล ที่ทำ “IRON DOME” ระบบยิงขีปนาวุธของศัตรูทิ้ง

10 ต.ค. 2023
กรณีศึกษา Rafael บริษัทอิสราเอล ที่ทำ “IRON DOME” ระบบยิงขีปนาวุธของศัตรูทิ้ง | BrandCase
ข่าวที่คนทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดในตอนนี้
คือข่าวการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส กลุ่มติดอาวุธในพื้นที่กาซา ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความขัดแย้งกับอิสราเอล
ภาพในข่าวที่ทุกคนน่าจะได้เห็นกันก็คือ การยิงขีปนาวุธจำนวนมากจากกาซา ถล่มอาคารบ้านเรือนในอิสราเอล
แต่ทางอิสราเอล ก็มีอาวุธที่ใช้ตอบโต้ขีปนาวุธเช่นกัน ชื่อว่า “ไอเอิร์นโดม” (IRON DOME) หรือแปลเป็นไทยตรง ๆ ว่า โดมเหล็ก
ซึ่งไอเอิร์นโดมที่ว่านี้ คือ ระบบต่อต้านขีปนาวุธพิสัยใกล้
พัฒนาขึ้นโดยบริษัทสัญชาติอิสราเอล ชื่อว่า Rafael Advanced Defense Systems หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Rafael
แล้วบริษัท Rafael ที่ว่านี้เป็นใคร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
Rafael หรือชื่อเต็ม ๆ คือ Rafael Advanced Defense Systems
เป็นบริษัทพัฒนาและผลิตอาวุธทางการทหาร สำหรับการป้องกันประเทศอิสราเอล และส่งออกอาวุธไปต่างประเทศ
Rafael ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1948 หรือเมื่อ 75 ปีที่แล้ว
ภายหลังการยุติสงครามโลกครั้งที่สองได้ไม่นาน ด้วยเหตุผลความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ และความไม่สงบในพื้นที่อิสราเอล รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง
ในตอนแรก Rafael ถูกตั้งขึ้นมาในฐานะห้องปฏิบัติการ เพื่อการวิจัยและพัฒนาอาวุธ และเทคโนโลยีทางการทหาร
ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม ประเทศอิสราเอล และใช้ชื่อย่อว่า HEMED
ต่อมาในปี 1952 นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลได้ตัดสินใจ แบ่งโครงสร้างองค์กร HEMED ออกเป็นสองส่วน คือ
1.ส่วนที่ทำการวิจัยวิทยาศาสตร์แบบเพียว ๆ
2.ส่วนที่ทำการพัฒนาอาวุธและเทคโนโลยีทางการทหาร ซึ่งเรียกว่า EMET
ซึ่งในปี 1954 EMET ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Rafael Advanced Defense Systems หรือ Rafael นับแต่นั้น
และต่อมาก็ถูกปรับโครงสร้าง มาเป็นรัฐวิสาหกิจ
แล้วบริษัท Rafael Advanced Defense Systems มีโมเดลธุรกิจอย่างไร ?
Rafael มีธุรกิจหลัก ๆ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มธุรกิจ คือ
1.อาวุธและเทคโนโลยีทางการทหาร สำหรับกองทัพบก
ตัวอย่างเทคโนโลยี เช่น
-ระบบเลเซอร์พลังงานสูง (Iron Beam)
-ระบบเซนเซอร์ระบุเป้าหมาย ผ่านมุมมองของอาวุธ (Fire Weaver)
2.อาวุธและเทคโนโลยีทางการทหาร สำหรับกองทัพเรือ
ตัวอย่างเทคโนโลยี เช่น
-ระบบป้องกันตอร์ปิโดสำหรับเรือดำน้ำ (Torpedo Defense Solution for Submarines)
-ระบบขีปนาวุธต่อสู้รถถัง (Naval Spike)
-ระบบสื่อสารทางเรือ (Naval Communications)
3.อาวุธและเทคโนโลยีทางการทหาร สำหรับกองทัพอากาศและที่ใช้ในอวกาศ
ตัวอย่างเทคโนโลยี เช่น
-ระบบยิงขีปนาวุธบนเครื่องบิน (Missile System)
-ระบบตรวจจับพิกัดเป้าหมาย (Targeting and ISR)
-ระบบสื่อสารทางอากาศ (Airborne Communications)
-ระบบขับเคลื่อนดาวเทียมในอวกาศ (Space Propulsion Solutions)
4.ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการรักษาความปลอดภัย
ตัวอย่างเทคโนโลยี เช่น
-ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) สำหรับตรวจจับพิกัดและระบุเป้าหมาย
-ระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Defense)
-ระบบเซนเซอร์ตรวจจับวัตถุที่เป็นภัยคุกคาม เช่น ขีปนาวุธ (Security Solutions)
-แพลตฟอร์ม Wisdom Stone ที่ใช้จัดการ Big Data
5.ระบบต่อต้านเครื่องบินและขีปนาวุธ
ซึ่งตัวอย่างเทคโนโลยีเด่น ๆ ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก็คือ “ไอเอิร์นโดม (IRON DOME)”
ไอเอิร์นโดม คือระบบต่อต้านขีปนาวุธอัจฉริยะ ที่สามารถป้องกันขีปนาวุธได้แม่นยำมากกว่า 90%
เทคโนโลยีนี้ ถูกสร้างขึ้นมาในปี 2011 ภายหลังการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮิซบุลลอฮ์ของเลบานอน
พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Rafael ร่วมกับ Israel Aerospace Industries และบริษัทผลิตอาวุธเจ้าใหญ่ในสหรัฐอเมริกา อย่าง Raytheon
โดยไอเอิร์นโดม ถือเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ใช้งานได้จริง เป็นอันแรกของโลก
ซึ่งใช้ในการป้องกันขีปนาวุธพิสัยใกล้ และกระสุนปืนใหญ่
การทำงานของมันคือ คอยตรวจจับขีปนาวุธที่เข้ามาในระยะรัศมีไม่เกิน 70 กิโลเมตร ด้วยเรดาร์
และใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการระบุว่า ขีปนาวุธนั้น เป็นภัยคุกคามหรือไม่
ถ้าขีปนาวุธนั้น ถูกระบุว่า เป็นภัยคุกคาม
ก็จะสั่งยิงขีปนาวุธจากภาคพื้น ที่ทำความเร็วได้สูงสุดถึง 2,700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไปสกัดขีปนาวุธของศัตรูไว้ โดยการทำให้ระเบิดกลางอากาศ
แต่ถ้าไอเอิร์นโดมระบุว่า ขีปนาวุธที่โจมตีมานั้นไม่เป็นภัยคุกคาม
เช่น วิถีขีปนาวุธของศัตรูตกในพื้นที่ที่ห่างไกลเมือง ก็จะปล่อยให้ขีปนาวุธลูกนั้นผ่านไปโดยไม่ทำอะไร
โดย ไอเอิร์นโดม ก็คือเทคโนโลยีสำคัญที่อิสราเอล ใช้ต่อต้านการโจมตีจากกลุ่มฮามาส ในกาซา
ซึ่งรู้หรือไม่ว่า บริษัท Rafael ทำรายได้ปีละหลัก 100,000 ล้านบาท
เพราะอาวุธและเทคโนโลยีต่าง ๆ ถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ขายในราคาแพง และขายในปริมาณมาก ๆ ต่อครั้ง
ผลประกอบการของบริษัท Rafael Advanced Defense Systems
ปี 2020 รายได้ 96,000 ล้านบาท กำไร 3,300 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 108,000 ล้านบาท กำไร 4,700 ล้านบาท
ปี 2022 รายได้ 121,000 ล้านบาท กำไร 5,300 ล้านบาท
ซึ่งลูกค้าหลัก ๆ ของบริษัทก็คือ บรรดากองทัพของประเทศต่าง ๆ
รวมถึงกองทัพอิสราเอล ที่กำลังเอาอาวุธและเทคโนโลยีอย่าง ไอเอิร์นโดม ไปใช้ในภาวะสงครามแบบนี้..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.