สรุปหลัก ROWEE วิธีเขียนคอนเทนต์ ให้คนสนใจ จบใน 5 ขั้นตอน

สรุปหลัก ROWEE วิธีเขียนคอนเทนต์ ให้คนสนใจ จบใน 5 ขั้นตอน

16 ก.ย. 2023
สรุปหลัก ROWEE วิธีเขียนคอนเทนต์ ให้คนสนใจ จบใน 5 ขั้นตอน | BrandCase
R - Research (ค้นคว้าหาข้อมูล ว่าคนอยากอ่านเรื่องอะไร)
O - Outline (วางโครงเรื่อง)
W - Write (ลงมือเขียน)
E - Edit (ปรับแต่ง)
E - Enhance (พัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ)
นี่คือสูตรเกือบจะสำเร็จของการทำคอนเทนต์ให้คนสนใจ จากหนังสือเรื่อง “Content That Sells
เขียนคอนเทนต์ให้ตรงใจ ดึงดูดคนได้ในไม่กี่วินาที”
ผู้เขียนคือ คุณสิทธินันท์ พลวิสุทธิ์ศักดิ์
เจ้าของเพจและเว็บไซต์ Content Shifu เว็บไซต์ที่ให้ความรู้เรื่องการตลาด
ที่มีผู้อ่านมากกว่า 20 ล้านครั้ง
แล้วหลักการ ROWEE รายละเอียดเป็นอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ทุกอย่าง เริ่มต้นจาก คิดและวางแผนก่อน แม้กระทั่งการเขียนคอนเทนต์
ขั้นตอนแรกเริ่มจาก
R - Research (ซาวนด์เช็กว่า คนอยากอ่านเรื่องอะไร)
คำว่า Research ถ้าให้แปลตรง ๆ เลยก็คือ “การวิจัย”
ซึ่งการวิจัยในการเขียนคอนเทนต์ ก็คือ การเข้าไปสำรวจว่าทุกวันนี้ คนอ่านกำลังสนใจเรื่องอะไรอยู่
เครื่องมือหนึ่ง ที่น่าสนใจที่จะทำให้รู้ว่า ผู้ติดตามคอนเทนต์ของเราคือคนแบบไหน และผู้ติดตามของเราชอบดูคอนเทนต์แนวไหนก็คือ การสร้าง Persona
คำว่า Persona ในทางธุรกิจก็คือ การวาดภาพลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของธุรกิจเรา
ว่าลูกค้าเป็นใคร และชื่นชอบสินค้าแบบไหน
แต่สำหรับการเขียนคอนเทนต์ คำว่า Persona หมายถึง ผู้อ่านในอุดมคติของเรา
ซึ่งเราก็ต้องสำรวจลูกเพจ ในด้านต่าง ๆ เช่น
-ลูกเพจส่วนใหญ่ อยู่จังหวัดไหน
-ลูกเพจส่วนใหญ่ทำอาชีพอะไร
-ลูกเพจมีไลฟ์สไตล์แบบไหน
และก็จะทำให้คิดต่อได้ว่า ลูกเพจส่วนใหญ่ชอบอ่านคอนเทนต์แบบไหน
โดยการเข้าไปดูข้อมูลอินไซต์ จากสถิติในโซเชียลมีเดียของเรา
เช่น ใครที่ทำเพจบนเฟสบุ๊ก จะสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ เช่น ลูกเพจส่วนใหญ่อยู่จังหวัดอะไร อายุเท่าไร หรือเพศอะไร
ซึ่งการสร้าง Persona หรือผู้อ่านในอุดมคติของเรา
ก็จะทำให้เราสามารถตั้งต้นไอเดียได้ ว่าจะเขียนคอนเทนต์แบบไหนดี ถึงจะมีคนอ่านและแชร์เยอะ
อีกเครื่องมือหนึ่ง ที่ทำให้เรารู้ว่า ชาวเน็ตกำลังสนใจเรื่องอะไรอยู่
ก็คือ การตามเทรนด์การค้นหายอดนิยม จากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
อย่าง Google Trends หรือ เทรนด์ยอดนิยมใน Twitter เพื่อจับคีย์เวิร์ดมาทำคอนเทนต์
ยกตัวอย่างอย่างเช่น ที่ผ่านมามีการเปิดตัว iPhone 15 และติดเทรนด์ยอดนิยมใน Twitter
เราอาจจะเอาเรื่อง iPhone 15 มาตั้งต้นเป็นไอเดียทำคอนเทนต์ อย่างเช่น “สรุปราคา iPhone ตั้งแต่ 5 ปีที่ผ่านมา”
หรือถ้าเป็นคอนเทนต์สายวิทยาศาสตร์
ตัวอย่างหัวข้อก็เช่น “รู้จัก ไทเทเนียม ธาตุสุดแกร่งที่ถูกใช้ทำ iPhone 15”
ซึ่งถ้าให้เปรียบเปรย ขั้นตอนแรก ก็คือการลับขวานให้คม ก่อนที่จะลงมือตัดต้นไม้นั่นเอง
O - Outline (วางโครงเรื่อง)
เมื่อเราได้หัวข้อแล้ว ก่อนจะเริ่มเขียนสัก 1 บทความ เราควรจะวางโครงเรื่องคร่าว ๆ ก่อน
เหมือนกับเราต้องสเกตช์ภาพคร่าว ๆ ก่อนจะลงมือวาดจริง ๆ
จากนั้น ก็จะวางโครงเรื่อง ตั้งแต่คิดเกริ่นนำ
วางหัวข้อย่อย หรือ Bullets ของแต่ละย่อหน้า ลำดับการเล่าเรื่องราวเป็นเหตุเป็นผล
และสรุปปิดท้าย ด้วยการคิด Quote เด็ด ๆ หรือประโยคที่ตรึงใจผู้อ่าน
โดยยิ่งวางโครงเรื่องละเอียดมากเท่าไร ก็ยิ่งดี เพราะเวลาเขียนจริง จะเขียนได้ง่ายและเสร็จเร็ว
W - Write (ลงมือเขียน)
ในหนังสือได้แนะนำให้รู้จักกฎวงกลม 3 วง ในการเขียนคอนเทนต์ นั่นคือ
1.สิ่งที่คนอยากรู้
เริ่มจากหัวข้อที่เราคิดจะน่าสนใจหรือเปล่า เขียนแล้วจะมีใครอยากอ่านไหม ?
ยกตัวอย่างหัวข้อที่ทำให้คนอ่านอยากรู้ ก็อย่างเช่น การทำหัวข้อเกี่ยวกับ How to
เช่น ถ้าเป็นเพจการตลาด ก็ให้อธิบายโมเดลการตลาดที่น่าสนใจ และสามารถนำไปใช้ได้จริง
ถ้าเป็นหัวข้อแบบนี้ คนที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจ จะแชร์เก็บไว้อ่านเยอะ
2.สิ่งที่เราอยากบอก
เป็นข้อมูล ที่เราต้องการบอกถึงคนอ่าน ในสิ่งที่คนอ่านอาจคิดไม่ถึง
ซึ่งบางครั้ง สิ่งที่เรากำลังจะบอก อาจเป็นข้อมูลที่เซอร์ไพรส์คนอ่านได้
เช่น การเกริ่นนำแบบเฉลยข้อมูลเด็ด ๆ ที่มั่นใจว่าน้อยคนจะรู้ ให้เซอร์ไพรส์ก่อน แล้วค่อยอธิบายในเนื้อเรื่องทีหลัง
3.สิ่งที่ระบบอยากเห็น
ก็ต้องบอกว่า หลังบ้านของโซเชียลมีเดีย และ Search Engine ต่าง ๆ จะมีอัลกอริทึมที่บอกความสนใจ รวมเทรนด์ต่าง ๆ
ซึ่งเรื่องนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อเราทำคอนเทนต์บทความสักหัวข้อหนึ่ง
แล้วเกิดว่าบทความ หรือคีย์เวิร์ดนั้น ๆ ดันไปเข้าเป้าอัลกอริทึมบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
บทความนั้น ก็จะถูกอัลกอริทึมดึงขึ้นมาแสดงให้คนเห็น ทำให้คนเข้าไปอ่านคอนเทนต์นั้นเยอะขึ้น
แต่ความยากของข้อนี้ก็คือ เราไม่สามารถรู้ได้ 100% ว่าอัลกอริทึมบนโซเชียลมีเดีย มันทำงานอย่างไร
คือต้องอาศัยการเก็บฟีดแบ็กแล้วมาวิเคราะห์เรื่อย ๆ
ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้แนะนำว่า คอนเทนต์ที่เขียนได้ดี และมีคนกดอ่านหรือแชร์เยอะ
ต้องมีครบทั้ง 3 ข้อ ไม่ควรขาดข้อใดข้อหนึ่ง
-ถ้ามีแค่ข้อ 1 และข้อ 2 อาจมีคนสนใจเพราะอยากรู้ แต่คอนเทนต์อาจไปได้ดีแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ
-ถ้ามีแค่ข้อ 2 และข้อ 3 อาจมีคนเห็นเยอะ แล้วระบบก็จะดึงขึ้นไปให้คนอ่านเยอะ ๆ แต่คอนเทนต์นั้นอาจยังไม่เข้าถึงใจคน
-ถ้ามีแค่ข้อ 1 และข้อ 3 ก็เท่ากับว่า ไม่มีอะไรที่เซอร์ไพรส์ และขายของไม่ได้ เพราะไม่ได้เล่าในสิ่งที่เราอยากบอก
ดังนั้น นักเขียนคอนเทนต์ หากจะหาหัวข้ออะไรให้ตรงกับ 3 หัวข้อนี้
พร้อมกับหาวิธีการเขียนให้ดึงดูดคนอ่าน ก็จะทำให้คอนเทนต์นั้นฮิตได้ง่าย ๆ
E - Edit (ปรับแต่ง)
“อย่าเพิ่งตกหลุมรักงานเขียนเวอร์ชันแรก” เพราะการเขียนคอนเทนต์ดราฟต์แรกในบางครั้ง อาจมีจุดผิดพลาด ที่เราคิดไม่ถึง เช่น
-เนื้อหาบางส่วน อาจยังไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน บทความอาจมาจากความเห็นส่วนตัว หรือเป็นการชี้นำโดยไม่มีเหตุผลรองรับ
-การลำดับเหตุการณ์ ยังดูไม่ค่อยเป็นลำดับขั้น อ่านแล้วไม่ไหลลื่น เข้าใจยาก ไม่กระชับ
-คำเชื่อมต่าง ๆ ขาดหายไป เช่น แต่, ทั้งนี้, นอกจากนี้, ก็ต้องบอกว่า
ในบางครั้งเมื่อขาดคำสันธาน และคำเชื่อมประโยคเหล่านี้ไป
อาจทำให้บทความที่เราเขียน ดูขาดเสน่ห์ และอ่านแล้วไม่เชื่อมโยงกัน
-การเขียนคำผิดบ่อย ๆ
ซึ่งวิธีแก้ปัญหา จุดผิดพลาดของการเขียนคอนเทนต์ดราฟต์แรก ก็คือ “ต้องลองอ่าน หรือทวนซ้ำบ่อย ๆ”
ถ้าติดตรงไหน แล้วแก้ไข ก็จะดีขึ้น
หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ให้เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานช่วยตรวจเช็กงาน หรือไฟนอลงานให้ พร้อมทั้งฟีดแบ็กมายังคนเขียน ก็จะทำให้งานเขียนพัฒนาขึ้น
นอกจากนี้ “หัวข้อ” ของบทความ เป็นสิ่งที่ควรคิดมากที่สุดในงานเขียนของเรา
ซึ่งควรจะมีไอเดียในการตั้งชื่อหัวข้อ เพื่อเป็นทางเลือกสัก 4-5 หัวข้อ
แล้วเลือกหัวข้อที่คิดว่า เซอร์ไพรส์คนอ่านมากที่สุด
และคนอยากเข้ามาอ่านมากที่สุด มาตั้งเป็นหัวข้อบทความนั่นเอง
E - Enhance (พัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ)
เมื่อเราได้เขียนคอนเทนต์แล้ว ตรวจเช็กคอนเทนต์แล้ว และโพสต์คอนเทนต์ลงแล้ว
สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำต่อจากนี้คือ การเก็บฟีดแบ็ก หรือการวัดผลความสำเร็จ
ถ้าหากว่า เราเขียนคอนเทนต์ลงเฟซบุ๊ก
ตัวชี้วัด ของการเขียนคอนเทนต์ ในแง่ของการปฏิสัมพันธ์กับลูกเพจ ก็จะมีสิ่งที่ควรสังเกต 3 อย่างด้วยกัน คือ
-Reaction เช่น การกดถูกใจ กดรัก หรือกดเศร้า เป็นปุ่มแสดงความรู้สึกต่อคอนเทนต์ของเรา
-Comment ตรงจุดนี้ ลูกเพจเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับเพจ หรือลูกเพจด้วยกันอย่างชัดเจน
ซึ่งตรงจุดนี้เราสามารถอ่านคอมเมนต์จากลูกเพจ เพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ในการเขียนคอนเทนต์ต่อไปได้
-Share สิ่งนี้ คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการมากที่สุด
เพราะบทความที่เราเขียน จะถูกส่งต่อให้คนอื่น ๆ สามารถเข้ามาอ่านได้เรื่อย ๆ
ถือเป็นการสร้างผลกระทบกับสังคมในวงกว้างด้วยคอนเทนต์
ซึ่งการวัดผล ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่คนเขียนคอนเทนต์ออนไลน์ต้องห้ามพลาด
นั่นก็เพราะว่า เราต้องการจะเช็กจริง ๆ ว่า บทความที่เราเขียนไปนั้น
-มีคนอ่านมาก หรือตรงกับ Persona ที่เพจตั้งไว้หรือไม่
-เป็นสิ่งที่คนอื่นอยากรู้ เป็นสิ่งที่เราอยากบอก และเป็นสิ่งที่อัลกอริทึมอยากเห็นมากน้อยแค่ไหน
เมื่อเราเก็บฟีดแบ็กตรงนี้ได้ จะทำให้เวลาเราเขียนบทความครั้งต่อไป
เราจะจับทางได้เก่งขึ้น ว่าคอนเทนต์ ที่ลูกเพจอยากอ่านเป็นแบบไหน
ควรตั้งหัวข้อแบบไหน และมีวิธีการเล่าเรื่องแบบไหนนั่นเอง..
สรุปคือ ROWEE ก็จะเป็นหลักคิด หรือเฟรมเวิร์กง่าย ๆ สำหรับใครหลายคน
ที่อยากจะเขียนคอนเทนต์ ให้สร้างผลกระทบในวงกว้างได้ มีคนกดอ่านเยอะ มีปฏิสัมพันธ์เยอะ ส่งต่อเยอะ
ซึ่งสรุปกันอีกที 5 ขั้นตอนของ ROWEE ก็คือ
R - Research (ค้นคว้าหาข้อมูล ว่าคนอยากอ่านเรื่องอะไร)
O - Outline (วางโครงเรื่อง)
W - Write (ลงมือเขียน)
E - Edit (ปรับแต่ง)
E - Enhance (พัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ)
ขอขอบคุณทาง Amarinbooks ที่แนะนำและส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ทาง BrandCase
ใครสนใจหนังสือเล่มนี้ หรือหนังสือแนว ๆ นี้ เข้าไปชมและสั่งซื้อกันได้ที่
https://amarinbooks.com/brand/amarin-how-to/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.