กรณีศึกษา Major กับ EGV โรงหนังพี่น้อง ที่เคยเป็น คู่แข่งกัน

กรณีศึกษา Major กับ EGV โรงหนังพี่น้อง ที่เคยเป็น คู่แข่งกัน

10 ก.ย. 2023
กรณีศึกษา Major กับ EGV โรงหนังพี่น้อง ที่เคยเป็น คู่แข่งกัน | BrandCase
ทุกวันนี้ โรงหนัง Major กับ EGV อยู่ภายใต้บริษัทเดียวกัน คือ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)
แต่รู้หรือไม่ว่า เมื่อก่อน Major กับ EGV เคยเป็นคู่แข่งกัน แถมผู้ก่อตั้งยังเป็นพี่น้องครอบครัวเดียวกันด้วย..
เรื่องราวนี้น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจาก คุณเจริญ พูลวรลักษณ์ อดีตเจ้าของร้านกาแฟในย่านตลาดพลู
ที่มีความหลงใหลในภาพยนตร์ และเคยช่วยงานในโรงหนังสมัยยังเป็นเด็ก
เมื่อโตขึ้น คุณเจริญได้ร่วมหุ้นกับเพื่อนอีก 4 คน เปิดโรงหนังชื่อ เฉลิมเกียรติ ในย่านวงเวียนใหญ่
ก่อนที่ในภายหลังจะชักชวน พี่น้องอีก 3 คน คือ คุณจำเริญ พูลวรลักษณ์, คุณเกษม พูลวรลักษณ์ และคุณจรัญ พูลวรลักษณ์ เข้ามาร่วมทุน
โดยสร้างโรงหนังขึ้นมาใหม่ในชื่อ ศรีตลาดพลู
โรงหนัง ศรีตลาดพลู ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และทำให้กิจการของครอบครัวเติบโตขึ้น
ก่อนที่ในภายหลังจะก่อตั้งเป็น บริษัท โกบราเดอร์ จำกัด
โดยให้ คุณจำเริญ พูลวรลักษณ์ ทำหน้าที่ CEO และใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี ในการขยายกิจการโรงหนังออกไปจนครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร มีโรงหนังในเครือกว่า 50 แห่ง
แล้วเรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับโรงหนัง Major และ EGV ?
ย้อนกลับไปในปี 2527 มีโรงหนังชื่อว่า MGM ในห้างเดอะมอลล์รามคำแหง ประสบปัญหาขาดทุน และเจ้าของได้ชวนให้ คุณเจริญ พูลวรลักษณ์ เข้ามารับช่วงต่อแทน
ซึ่งคุณเจริญ ได้ปฏิเสธการเข้าไปรับช่วงต่อ เพราะเศรษฐกิจในไทยช่วงนั้นก็ไม่ได้ดีมากนัก
แต่คุณจำเริญ ที่เป็น CEO มีความเห็นที่แตกต่างในการทำธุรกิจ จนสุดท้ายก็แยกตัวออกมาทำธุรกิจโรงหนังเป็นอีกเครือของตัวเอง
เครือโรงหนังของคุณเจริญ ต่อมากลายมาเป็น EGV
มีทายาทที่มาดูแลต่อคือ คุณวิชัย พูลวรลักษณ์
ส่วนเครือโรงหนังของคุณจำเริญ ต่อมากลายมาเป็น Major
มีทายาทที่มาดูแลต่อคือ คุณวิชา พูลวรลักษณ์
โดยโรงหนัง EGV เลือกที่จะขยายโรงหนังไปตามห้างสรรพสินค้า และมีจุดเด่นคือ จำนวนโรงหนังต่อ 1 ห้าง ที่มากกว่าคู่แข่ง
ในขณะที่ทาง Major เลือกเปิดโรงหนังในพื้นที่ห้างของตัวเอง
เน้นตกแต่งโรงหนังให้มีความทันสมัย สวยงาม อลังการ และเป็นศูนย์รวมเอนเทอร์เทนเมนต์ ที่มีทั้งร้านอาหาร, โบว์ลิง และลานสเกตช์
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว Major และ EGV กลับมารวมกันอีกครั้งในปี 2547 ด้วยเหตุผลทางการเงิน และเพื่อเพิ่มศักยภาพในการสู้กับโรงหนังรายอื่นในตลาด
จนทำให้ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ที่เป็นเจ้าของ Major และ EGV กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในไทยทันที ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่รวมกันกว่า 70%
โดยที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือก็คือ CEO ของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป
ก็คือ คุณวิชา พูลวรลักษณ์
ในปี 2565 ที่ผ่านมา Major มีรายได้รวม 6,749 ล้านบาท
และมีกำไรสุทธิทั้งหมด 252 ล้านบาท
ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากการขายและบริการ คือ
-ธุรกิจจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ 48%
-ธุรกิจพ็อปคอร์นและเครื่องดื่ม 25%
-ธุรกิจสื่อโฆษณา 10%
-ธุรกิจโบว์ลิงและคาราโอเกะ 5%
-ธุรกิจให้เช่าพื้นที่และบริการ 4%
-ธุรกิจอื่น ๆ 8%
References
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/MAJOR/company-profile/information
-หนังสือ ตำนานมหาเศรษฐี 30 ตระกูลดัง
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.