เครือโรงแรม เอราวัณ เกิดจากเจ้าของ น้ำตาลมิตรผล กับผู้ก่อตั้ง ธนาคารเกียรตินาคิน

เครือโรงแรม เอราวัณ เกิดจากเจ้าของ น้ำตาลมิตรผล กับผู้ก่อตั้ง ธนาคารเกียรตินาคิน

2 ก.ย. 2023
เครือโรงแรม เอราวัณ เกิดจากเจ้าของ น้ำตาลมิตรผล กับผู้ก่อตั้ง ธนาคารเกียรตินาคิน | BrandCase
หลายคนจะคุ้นภาพของ โรงแรม Grand Hyatt Erawan Bangkok แลนด์มาร์กสำคัญย่านราชประสงค์ ซึ่งมีศาลพระพรหมเอราวัณ อยู่บริเวณด้านหน้าโรงแรม
รู้หรือไม่ว่า โรงแรม Grand Hyatt Erawan Bangkok, โรงแรม JW Marriott Bangkok, เครือโรงแรม HOP INN
มีเจ้าของคนเดียวกันคือ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
และหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า จุดเริ่มต้นของ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป
มาจากการร่วมมือกันของ ตระกูลว่องกุศลกิจ เจ้าของน้ำตาลมิตรผล กับตระกูลวัธนเวคิน ที่เป็นตระกูลก่อตั้งธนาคารเกียรตินาคิน (ตอนนี้กลายเป็น เกียรตินาคินภัทร)
แล้วที่มาที่ไปของ อาณาจักร ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
แรกเริ่มเดิมที เอราวัณ กรุ๊ป มีชื่อเดิมว่า อัมรินทร์พลาซ่า ซึ่งเกิดจากตระกูลว่องกุศลกิจ เจ้าของน้ำตาลมิตรผล ที่ต้องการขยายกิจการออกไปยังธุรกิจอื่น ๆ
ซึ่งในเวลานั้นเอง ตระกูลศรีวิกรม์ เจ้าของห้าง Gaysorn Village ตรงข้ามเซ็นทรัลเวิลด์ และเป็นเจ้าของที่ดินย่านแยกราชประสงค์ ก็ต้องการจะปล่อยเช่าที่ดินบางส่วน
แต่ด้วยความที่ ตระกูลว่องกุศลกิจ ยังไม่ได้มีความชำนาญในที่ดินและอสังหาฯ มากนัก
จึงได้หาผู้มีประสบการณ์มาร่วมทุน จนได้ร่วมมือกับ ตระกูลวัธนเวคิน
โดยตระกูลวัธนเวคิน คือ ตระกูลผู้ก่อตั้ง ธนาคารเกียรตินาคิน ได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วน และพัฒนาสร้างห้างและสำนักงาน จนกลายเป็น ห้างอัมรินทร์พลาซ่า ในปี 2527
ซึ่งห้างอัมรินทร์พลาซ่า ถือเป็นห้างที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสมัยนั้น เนื่องจากเป็นที่ตั้งของ ห้างโซโก้จากญี่ปุ่น และแมคโดนัลด์ สาขาแรกของไทยอีกด้วย
แล้วจากธุรกิจห้าง กลายเป็นธุรกิจโรงแรมได้อย่างไร ?
ย้อนกลับไปในช่วงนั้น ข้าง ๆ กับห้างอัมรินทร์พลาซ่า มีโรงแรมชื่อว่า เอราวัณ
เอราวัณตอนนั้น เป็นโรงแรมที่บริหารโดยรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จนต้องเปิดประมูลสัมปทานให้บริษัทเอกชนเข้าไปบริหารงาน
ซึ่งบริษัท อัมรินทร์พลาซ่า ก็เป็นผู้ชนะในการประมูล
และได้ไปดึงเอาแบรนด์เชนโรงแรมระดับโลกอย่าง Hyatt เข้ามาครอบ จนกลายเป็น Grand Hyatt Erawan Bangkok
เมื่อโรงแรมระดับหรูแห่งแรก ประสบความสำเร็จ ก็มีที่อื่น ๆ ตามมา
โดยโรงแรมหรูแห่งที่ 2 ของเครือ คือ JW Marriott Bangkok
และจากนั้น บริษัท อัมรินทร์พลาซ่า ก็ได้ต่อยอดสู่ธุรกิจโรงแรมระดับลักชัวรีอีกหลายแห่งแบบเต็มตัว
และเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก อัมรินทร์พลาซ่า เป็น ดิ เอราวัณ กรุ๊ป ในปี 2548
จุดเปลี่ยนของ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2557 เมื่อบริษัท ได้เปิดแบรนด์ HOP INN ซึ่งเป็น บัดเจ็ตโฮเทล หรือก็คือโรงแรมราคาประหยัด
ที่ใช้งบลงทุนน้อยกว่า และมีราคาต่อคืนไม่แพง
ซึ่งช่วยขยายขนาดฐานลูกค้าของบริษัท ให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับลักชัวรี จนถึงกลุ่มที่ต้องการความประหยัดและคุ้มค่า
ในปี 2565 ดิ เอราวัณ กรุ๊ป มีรายได้ทั้งหมด 4,717 ล้านบาท
โดยสัดส่วนรายได้ มาจาก
-โรงแรมระดับ 5 ดาว 44%
-โรงแรมระดับกลาง 23%
-โรงแรมชั้นประหยัด 11%
-HOP INN ในประเทศไทย 14%
-HOP INN ในประเทศฟิลิปปินส์ 7%
-ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ 1%
และปัจจุบัน ดิ เอราวัณ กรุ๊ป ก็ยังมีตระกูลผู้ก่อตั้งถือหุ้นรวมกันมากกว่า 50%
ตระกูลว่องกุศลกิจ 30.68%
-ตระกูลวัธนเวคิน 29.04%
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.