กรณีศึกษา Sanook เว็บไซต์คนไทยสร้าง ตอนนี้เป็นของ บริษัทจีน

กรณีศึกษา Sanook เว็บไซต์คนไทยสร้าง ตอนนี้เป็นของ บริษัทจีน

25 ส.ค. 2023
กรณีศึกษา Sanook เว็บไซต์คนไทยสร้าง ตอนนี้เป็นของ บริษัทจีน | BrandCase
หนึ่งในเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมในไทยมานาน จะต้องมีชื่อเว็บไซต์ Sanook
ซึ่งรู้ไหมว่า Sanook เป็นเว็บไซต์ที่ก่อตั้งโดยคนไทย ตั้งแต่เมื่อ 26 ปีที่แล้ว
แต่ในตอนนี้ Sanook มีเจ้าของเป็นบริษัทใหญ่จากจีนแล้ว
แล้วใครที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ Sanook ตอนนี้ ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
Sanook หรือ สนุก.คอม ก่อตั้งโดย คุณปรเมศวร์ มินศิริ ในปี 2540
โดยคุณปรเมศวร์ อดีตเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน แต่เขาก็มีความหลงใหลในอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ยุคแรก ๆ
ทำให้ในระหว่างทำงาน เขาได้เขียนหนังสือสอนการใช้งานอินเทอร์เน็ตหลายเล่มออกมา
นอกจากนี้ ยังใช้เวลาว่างทำงานอดิเรกคือ การพัฒนาเว็บไซต์
จนสุดท้ายก็สามารถพัฒนาเป็นเว็บไซต์ชื่อ Sanook จนประสบความสำเร็จ
โดยรูปแบบลักษณะเว็บไซต์ของ Sanook จะมีความคล้ายคลึงกับ Yahoo เว็บไซต์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ในสมัยนั้น
อธิบายให้เห็นภาพคือ เป็นเว็บไซต์รวมคอนเทนต์หลายอย่างที่น่าสนใจ ไว้ในที่เดียว และถือเป็นหนึ่งในเว็บไซต์แรก ๆ ในประเทศไทยที่มีลักษณะแบบนี้
Sanook ในเวลาต่อมา กลายเป็นเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย
มีเรื่องราวให้ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาค้นหา
เช่น เกม ดูดวง ดูหนัง ฟังเพลง หาเพื่อน แชต ข่าว หางาน ช็อปปิง การศึกษา บันเทิง และนันทนาการ หรือแม้แต่ตรวจสลากกินแบ่งรัฐบาล
2 ปีหลังจากก่อตั้ง Sanook ขึ้นมา MWEB ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และทำธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศแอฟริกาใต้ ได้ติดต่อขอซื้อ Sanook
ดีลนี้ ถือเป็นการซื้อกิจการเว็บไซต์ครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีการประเมินกันว่า ราคาซื้อขายในครั้งนั้น อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท
ในปี 2548 Sanook ยังสร้างสถิติใหม่ ด้วยการมียอดผู้เข้าชมมากกว่า 140,000 ยูเซอร์ต่อวัน
ทั้งยังเป็นเว็บไซต์ไทยที่ติดอันดับ Top 1,000 เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก
พอเป็นแบบนี้ ทำให้ในปี 2553 “Tencent” บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากประเทศจีน จึงเข้าซื้อกิจการของ Sanook ในราคาประมาณ 300 ล้านบาท
และมีการเปลี่ยนชื่อจาก บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด มาเป็น “บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด”
โดยในปี 2565 รายได้ของ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์ Sanook มีรายได้ อยู่ที่ 1,258 ล้านบาท
ซึ่งต้องหมายเหตุว่า บริษัทมีบริการอื่นรวมอยู่ นอกจากเว็บไซต์ Sanook ด้วย
เช่น แพลตฟอร์มสตรีมมิงวิดีโอ WeTV, แพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลง JOOX
ส่วนปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่า Sanook ก็ยังถือเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย
โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา Sanook มียอดเข้าชมเฉลี่ย เดือนละ 59 ล้านครั้ง
และนี่คือเรื่องราวของ Sanook
เว็บไซต์ชื่อดังที่ก่อตั้งโดยคนไทย และวันนี้กลายมาเป็นของ บริษัทจีนแล้วนั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.