กรณีศึกษา “ท่อน้ำไทย” แบรนด์ที่หลายบ้านใช้ โดยไม่รู้ตัว

กรณีศึกษา “ท่อน้ำไทย” แบรนด์ที่หลายบ้านใช้ โดยไม่รู้ตัว

20 ส.ค. 2023
กรณีศึกษา “ท่อน้ำไทย” แบรนด์ที่หลายบ้านใช้ โดยไม่รู้ตัว | BrandCase
หลายคนจะคุ้นเคยดีกับท่อน้ำสีฟ้า ๆ ตามห้องน้ำ ห้องครัว ทั้งในบ้านหรือตามอาคารต่าง ๆ
แต่ก็คงจะไม่ได้สนใจ ว่าท่อพวกนั้น เป็นแบรนด์อะไร
ซึ่งหนึ่งในแบรนด์ท่อพีวีซีสีฟ้า ที่ดัง ๆ ในไทย ก็คือ “ท่อน้ำไทย”
ท่อน้ำไทย ที่หลายบ้านใช้กันแบบไม่รู้ตัว มีเรื่องราวอะไรน่าสนใจบ้าง ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
บริษัท อุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด เกิดขึ้นเมื่อปี 2506 หรือเมื่อ 60 ปีที่แล้ว โดยคุณวิฑูรย์ ภัทรเลาหะ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการอุตสาหกรรมไทย
ก่อนหน้านั้น คุณวิฑูรย์ ได้เดินทางไปติดต่อธุรกิจ และดูงานในหลาย ๆ ประเทศ
จนมีความรู้ในเรื่องกระบวนการผลิต วิธีใช้ ความต้องการของท่อน้ำแบบต่าง ๆ ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ จนกลับมาตั้งบริษัทในที่สุด
ในช่วงแรก บริษัทได้เช่าห้องแถวสองชั้นบริเวณ ถนนราชวงศ์ ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่
และภายในปีเดียวกันนั้นก็ได้ซื้อที่ดินประมาณ 11 ไร่ บริเวณริมฝั่งซ้ายของคลองทวีวัฒนา เพื่อสร้างเป็นโรงงานผลิตแห่งแรก
ซึ่งในช่วงก่อตั้ง บริษัทได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท Sekisui Chemical ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตท่อพีวีซี ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น
โดยได้ถ่ายทอดวิธีการผลิตท่อพีวีซีแข็งและท่อพีวีซีอ่อน ท่อดูดน้ำ ท่อดูดอากาศ และอุปกรณ์ข้อต่อพีวีซี ขนาดต่าง ๆ
ต่อมาในปี 2509 ผลิตภัณฑ์ของบริษัทก็เริ่มส่งออกไปสู่ท้องตลาด
ในช่วงแรกท่อพีวีซียังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะต้องบอกว่าคนไทยสมัยนั้น ยังนิยมใช้ท่อเหล็กมากกว่า และท่อพีวีซียังเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับประเทศไทย
แถมสมัยนั้นผู้คนให้ความสำคัญกับความแข็งแรงและทนทาน ซึ่งท่อเหล็กดูแข็งแรงกว่าท่อพีวีซี
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของท่อพีวีซี คือมีความยืดหยุ่นกว่าท่อเหล็ก และท่อพีวีซีที่ผลิตดี ๆ ก็แข็งแรงทนทาน ใช้แทนท่อเหล็กได้สบาย
แต่คุณวิฑูรย์ที่ได้ศึกษาตลาดมาเป็นอย่างดี จึงเลือกใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารแบบ Above The Line ก็คือ การซื้อ และการทำโฆษณาผ่านสื่อหลัก ซึ่งสื่อหลักสมัยนั้นก็คือโทรทัศน์
ในโฆษณาจะเน้นและบอกย้ำ ๆ ถึงภาพลักษณ์ในเรื่อง “แก่ แข็ง ทน” และคุณสมบัติที่ดีของท่อพีวีซี
ทำแบบนี้ก็เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น และลบภาพจำที่คนสมัยนั้นมองว่า ท่อพีวีซีไม่ทนทานเหมือนท่อเหล็ก
ผลลัพธ์ที่ตามมาคือท่อพีวีซีได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้คนเริ่มหันมาเลือกใช้ท่อพีวีซีกันมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น และเทคโนโลยีในการผลิตของบริษัทได้พัฒนาเพิ่มมากขึ้น
ในปี 2520 บริษัทจึงตัดสินใจสร้างโรงงานเพิ่ม เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต รองรับความต้องการของลูกค้าที่เป็นหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ที่หันมานิยมใช้ท่อพีวีซีกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
และพอท่อพีวีซีเริ่มเป็นที่นิยม บริษัทก็เติบโตขึ้นมาก
คุณวิฑูรย์ ก็เริ่มก่อตั้งโรงงานในส่วนภูมิภาคขึ้นมาทั้ง 4 ภาค ประกอบไปด้วย
บริษัท ไทยไปป์ภาคเหนือ จำกัด
บริษัท ไทยไปป์อีสาน จำกัด
บริษัท ภาคใต้อุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด
บริษัท ตะวันออกอุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด
ต่อมาบริษัทก็กลายเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดท่อพีวีซีในประเทศไทย
และมีแบรนด์ที่ชื่อตรงตัว จำง่าย ๆ อย่าง “ท่อน้ำไทย”
อ้างอิงจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2557 บริษัท อุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด มีส่วนแบ่งในตลาดท่อพีวีซีอยู่ที่ 30%
ซึ่งถ้าลองมาดูผลประกอบการปี 2565 ของเครืออุตสาหกรรมท่อน้ำไทย
บริษัท อุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด
ปี 2565 รายได้ 4,127 ล้านบาท กำไร 606 ล้านบาท
บริษัท ไทยไปป์ภาคเหนือ จำกัด
ปี 2565 รายได้ 447 ล้านบาท กำไร 77 ล้านบาท
บริษัท ภาคใต้อุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด
ปี 2565 รายได้ 523 ล้านบาท กำไร 63 ล้านบาท
บริษัท ตะวันออกอุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด
ปี 2565 รายได้ 514 ล้านบาท กำไร 49 ล้านบาท
บริษัท ไทยไปป์อีสาน จำกัด
ปี 2565 รายได้ 480 ล้านบาท กำไร 75 ล้านบาท
รวมกันแล้ว มีรายได้ 6,091 ล้านบาท กำไร 870 ล้านบาท
(แต่ก็ต้องหมายเหตุว่า บริษัทในเครืออาจมีรายการค้าขายระหว่างกัน หรือไม่มีก็ได้)
ต้องบอกว่า สินค้าแบรนด์ท่อน้ำไทย ส่วนใหญ่คนที่ซื้อจะเป็นช่างที่เอามาติดตั้งตามห้องน้ำ ห้องครัว ตามบ้าน หรืออาคารต่าง ๆ
ซึ่งถ้าลองไปสังเกตดูดี ๆ หลายคนอาจจะใช้ท่อพีวีซีของ ท่อน้ำไทย อยู่แบบไม่รู้ตัว..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.