รู้จัก Economies of Scope ยิ่งบริการหลายอย่าง ยิ่งประหยัดต้นทุน

รู้จัก Economies of Scope ยิ่งบริการหลายอย่าง ยิ่งประหยัดต้นทุน

12 ส.ค. 2023
รู้จัก Economies of Scope ยิ่งบริการหลายอย่าง ยิ่งประหยัดต้นทุน | BrandCase
จ่ายค่าไฟ เติมบัตรโทรศัพท์ ต่อทะเบียนรถ สั่งเครื่องดื่ม บริการรับฝากเงิน บริการรับส่งพัสดุ ซื้อตั๋วรถโดยสาร ตั๋วเครื่องบิน รวมถึงตั๋วคอนเสิร์ต
นี่เป็นตัวอย่างของบริการที่เราสามารถทำได้ที่ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven นอกเหนือจากการเข้าไปซื้อสินค้าต่าง ๆ ที่เรามักจะทำเป็นประจำ
ต้องบอกว่า เทคนิคการเพิ่มบริการต่าง ๆ เหล่านี้เข้าไปของ 7-Eleven นั้น ในทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า การใช้ประโยชน์จาก “Economies of Scope”
แล้วเรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase สรุปอย่างง่าย ๆ ให้อ่านกัน
ในการผลิตสินค้าและบริการนั้น เราจะมีต้นทุนที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
คือ ต้นทุนคงที่ กับ ต้นทุนผันแปร
ต้นทุนผันแปร คือต้นทุนที่ถ้าเราผลิตมาก ต้นทุนส่วนนี้ก็จะมากขึ้นตามกำลังการผลิตของเรา แต่ถ้าผลิตน้อย ต้นทุนส่วนนี้ก็จะน้อยตาม
แต่ต้นทุนคงที่นั้น เป็นต้นทุนที่จะต้องเกิดขึ้นไม่ว่าจะมีการผลิตมาก หรือผลิตน้อย ก็เสียเท่า ๆ เดิม
หรือพูดอีกมุมก็คือ ยิ่งถ้าเราผลิตสินค้าและบริการมากเท่าไร ต้นทุน “เฉลี่ยต่อหน่วย” ก็จะค่อย ๆ ลดลง เพราะต้นทุนคงที่นั้น จะถูกเฉลี่ยออกไปในทุก ๆ การผลิตสินค้าแต่ละหน่วยมากขึ้น
ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ ก็อย่างเช่น เคสของสายการบิน ที่มีต้นทุนคงที่เป็นค่าน้ำมันต่อเที่ยว
คือไม่ว่าผู้โดยสารจะเต็มลำ หรือไม่เต็มลำ ก็เสียค่าน้ำมันเท่าเดิม
ซึ่งถ้ามีผู้โดยสารนั่งเต็มลำ ก็หมายความว่า ต้นทุนค่าน้ำมัน พอหารเฉลี่ยต่อผู้โดยสารต่อคนแล้ว จะน้อยกว่าเคสที่คนไม่เต็มลำ นั่นเอง
สิ่งนี้เราเรียกว่า “Economies of Scale” หรือการที่ธุรกิจยิ่งขายสินค้าและบริการได้มากขึ้นเท่าไร ยิ่งทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลงนั่นเอง
ทีนี้ลองมาดูเคสของ 7-Eleven
ในช่วงแรก ๆ ที่ 7-Eleven เติบโตนั้น หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ ธุรกิจประสบความสำเร็จคือ Economies of Scale
ลองนึกภาพง่าย ๆ ถึงตอนที่ 7-Eleven มีสาขา 1,000 สาขา การสั่งซื้อสินค้าจากซัปพลายเออร์ ก็ต่างกับตอนที่มีจำนวนแค่ 100 สาขา
เพราะปริมาณการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากนั้น ทำให้ 7-Eleven มีอำนาจการต่อรองที่มากขึ้น จนทำให้ต้นทุนการสั่งซื้อสินค้าลดลง
พอเวลาผ่านไป จำนวนร้าน 7-Eleven ในประเทศไทยมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนล่าสุดมีจำนวนกว่า 14,000 สาขา ซึ่งถือว่ามากที่สุด อันดับ 2 ของโลก ตามหลังเพียงแค่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
และด้วยจำนวนสาขาที่มากในปัจจุบันนี้เอง ทำให้ในอีกมุมหนึ่ง ร้าน 7-Eleven อาจถูกมองว่า ได้ใช้ประโยชน์จาก Economies of Scale เกือบเต็มที่แล้ว
ดังนั้น อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเพิ่มกำไรให้มากขึ้นคือ การใช้ประโยชน์จาก “Economies of Scope” หรืออธิบายง่าย ๆ ว่ายิ่งบริการหลายอย่าง ยิ่งประหยัดต้นทุน
ซึ่งที่เราจะสังเกตเห็นก็คือ 7-Eleven จะใส่สินค้าและบริการต่าง ๆ เพิ่มเข้าไป โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเดิม ซึ่งก็คือจำนวนสาขาและพนักงานเดิม
เช่น บริการรับชำระค่าน้ำ-ค่าไฟ, เติมบัตรโทรศัพท์, ต่อทะเบียนรถ, สั่งเครื่องดื่ม, รับฝากเงิน, รับส่งพัสดุ
นอกจากนี้ บางสาขาของ 7-Eleven ยังมีบริการขายยา ผ่านร้านยาเอ็กซ์ต้า พลัส ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ร้าน 7-Eleven พยายามใช้ประโยชน์จาก Economies of Scope เช่นกัน
ถ้าให้สรุปอีกทีก็คือ Economies of Scope คือกลยุทธ์ที่พยายามสร้างรายได้ให้มากขึ้น โดยที่รายได้ที่เพิ่มขึ้น แทบจะไม่มีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นเลย
เพราะสินค้าและบริการที่เพิ่มมานั้น สามารถแชร์ต้นทุนร่วมกันกับสินค้าและบริการที่มีอยู่ก่อนหน้าได้ นั่นเอง
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.