กรณีศึกษา พลังของ “การตลาดชิงโชค” ที่ ตัน อิชิตัน ชอบใช้

กรณีศึกษา พลังของ “การตลาดชิงโชค” ที่ ตัน อิชิตัน ชอบใช้

22 ก.ค. 2023
กรณีศึกษา พลังของ “การตลาดชิงโชค” ที่ ตัน อิชิตัน ชอบใช้ | BrandCase
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณตัน ภาสกรนที หรือที่หลายคนเรียกว่า คุณตัน อิชิตัน คือ “เจ้าพ่อชาเขียว” แห่งประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นการปั้นแบรนด์ โออิชิ แล้วขายกิจการให้เครือไทยเบฟเวอเรจ
หรือจะเป็นแบรนด์ใหม่ที่ปั้นขึ้นมาหลังจากนั้นอย่าง อิชิตัน
ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งที่คุณตันชอบใช้ และสร้างความสำเร็จให้แบรนด์ได้ คือ การตลาดชิงโชค
แล้วทำไมกลยุทธ์แบบนี้ของคุณตัน ถึงดึงความสนใจจากคนได้มาก
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ต้องบอกว่าแต่เดิมนั้น แบรนด์ชาเขียวโออิชิของคุณตัน เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว ในกลุ่มคนที่เคยไปทานร้านบุฟเฟต์ อย่าง Oishi Buffet
ซึ่งชาเขียวก็เป็นอีกหนึ่งเมนูโปรดของลูกค้าหลาย ๆ คน จนทำให้คุณตันตัดสินใจ ทำแบรนด์ชาเขียวบรรจุขวดขึ้นเองในเวลาต่อมา ซึ่งก็เป็นสูตรเดียวกันกับที่ใช้ในร้านบุฟเฟต์
แต่ถ้าถามว่าอะไรเป็นหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ช่วยทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจแบรนด์นี้
ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ การตลาดชิงโชคของคุณตัน ที่เรียกได้ว่า แจกจริง แจกหนัก
ตัวอย่างเช่น “แคมเปญรวยฟ้าผ่า 30 ฝา 30 ล้าน”
ซึ่งจุดเด่นของแคมเปญนี้ก็คือ คุณตันนั้นจะแจกเงินใต้ฝา แบบใครเปิดเจอใต้ฝาว่าเป็นผู้โชคดี ก็สามารถรับเงินรางวัลไปได้เลย โดยที่ไม่ต้องลุ้นอะไรต่อ
พูดง่าย ๆ ถ้าเราซื้อชาเขียว แล้วเปิดใต้ฝาเจอ ก็ไปรับรางวัลได้เลย
นอกจากเปิดฝาได้รับเงินรางวัลแล้ว คุณตันจะเป็นคนเดินทางไปหาผู้โชคดี เพื่อมอบเงินรางวัลด้วยตัวเองอีกด้วย
ซึ่งเราจะได้เห็นผู้โชคดี ตามสื่อต่าง ๆ อยู่ตลอด จนหลาย ๆ คนก็อดไม่ได้ที่จะลองไปเสี่ยงดวงซื้อชาเขียวโออิชิมาดื่มสักขวด
ซึ่งแคมเปญนี้ก็เรียกว่า ได้รับความสนใจอย่างมากในเวลานั้น จนต้องบอกว่า ยอดขายชาเขียวโออิชินั้น เติบโตสูงขึ้นอย่างมาก
โดยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2548 ยอดขายชาเขียว ของบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขึ้นไปสูงถึง 1,074 ล้านบาท
และดันกำไรสุทธิของบริษัทขึ้นเป็น 261 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 170% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเลยทีเดียว
หรือมาในสมัยช่วงที่คุณตันหันมาปั้นแบรนด์อิชิตัน ก็ได้จัดแคมเปญที่ชื่อว่า “ลุ้นรหัสรวยเปรี้ยง”
ซึ่งในแคมเปญนี้คุณตันก็ตั้งใจมาสร้างความแตกต่าง ในกับวงการลุ้นชิงโชคในสมัยนั้นเช่นกัน เพราะหลังจากที่ประสบความสำเร็จจากแคมเปญเก่า ๆ ไปแล้ว
ครั้งนี้คุณตันเลือกใช้วิธีการส่งรหัสใต้ฝา เพื่อชิงโชคผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ในเวลานั้น ที่มักจะต้องส่งรายชื่อไปตามรายการ แล้วประกาศชื่อผู้ชนะผ่านทางโทรทัศน์
และเช่นเดียวกัน แคมเปญนี้ก็ได้รับความนิยม และทำให้แบรนด์อิชิตัน ของคุณตัน ตีติดตลาดได้อย่างไม่ยาก
ซึ่งหากลองนำมาวิเคราะห์แล้ว กลยุทธ์เหล่านี้ที่คุณตันเลือกใช้นั้น ก็ตรงกับทฤษฎีการตลาดที่ชื่อว่า “Lotto Marketing” ที่บอกว่า การตลาดแบบชิงโชคที่เห็นผลดีนั้น จะต้อง “ง่าย กระตุ้น และลุ้นถี่”
โดยถ้าสามารถทำได้ตรงทั้งหมด ก็จะสามารถดึงความสนใจจากผู้บริโภค และสามารถกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มขึ้นได้
หากเราลองมาวิเคราะห์แคมเปญของคุณตัน ดูเป็นข้อ ๆ
1.ความง่าย - ทั้งเปิดฝาแล้วได้รางวัลเลย หรือจะเป็นการส่งรหัสผ่านทาง SMS ที่ไม่ต้องมาคอยส่งไปรษณีย์เหมือนแต่ก่อน
2.กระตุ้น - กระตุ้นในที่นี้หมายถึง ของรางวัลที่น่าดึงดูด กระตุ้นให้คนอยากเล่น ซึ่งคุณตันก็เลือกใช้เงินจำนวน 1 ล้านบาท
3.ลุ้นถี่ - ที่น่าสนใจคือ การแจกแต่ละครั้ง ไม่ได้แจกแค่ รางวัลสองรางวัล แต่คุณตันนั้น แจกเป็นหลักหลายสิบรางวัล
อย่างกรณี แจกเงินใต้ฝา 1 ล้านบาท คุณตันก็แจกถึง 30 ฝา 30 ล้านบาท หรือก็คือ 30 รางวัล เลยทีเดียว
ทั้งนี้ต้องบอกว่า นอกปัจจัยทั้งหมดนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้แคมเปญของคุณตันน่าสนใจ ก็คือ ของรางวัล
แน่นอนว่า จำนวนเงินนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่แคมเปญของคุณตัน ไม่ได้แจกเงินเสมอไป
บางแคมเปญก็เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อย่างเช่น แคมเปญลุ้นไปเที่ยวญี่ปุ่น 4 วัน 3 คืน เป็นคู่
หรืออย่างล่าสุด คุณตันก็ได้ดึงนักมวยชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น อย่างคุณโคตะ มิอุระ ที่ตอนนี้กำลังเป็นที่รู้จักในประเทศไทย มาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับชาเขียว ชิซึโอกะ ซึ่งเป็นแบรนด์ย่อยของ อิชิตัน
พร้อมกับจัดแคมเปญลุ้นไปเที่ยวญี่ปุ่นกับคุณโคตะ เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน เพียงซื้อชาเขียว ชิซึโอกะ แล้วถ่ายใบเสร็จ พร้อมแนบชื่อ ส่งมาในแชตทางเฟซบุ๊ก ก็สามารถเตรียมลุ้นเป็นผู้โชคดีได้เลย
ซึ่งแคมเปญนี้เองก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดี และคาดว่าจะมีผู้สนใจ เข้าร่วมสนุกกับแคมเปญนี้ไม่น้อยเช่นกัน
และนี่ก็คือการตลาดชิงโชค ที่คุณตัน อิชิตัน ชอบใช้ ซึ่งมันมีพลังในการกระตุ้นยอดขาย และสร้างกระแสสนใจให้แบรนด์ได้
ซึ่งคุณตันก็ใช้การตลาดแบบนี้ให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ตั้งแต่สมัยทำแบรนด์โออิชิ มาจนถึง อิชิตัน ในตอนนี้..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.