MSMEs คืออะไร ? ทำไมคนเริ่มทำ ธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเอง ควรต้องรู้

MSMEs คืออะไร ? ทำไมคนเริ่มทำ ธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเอง ควรต้องรู้

21 ก.ค. 2023
MSMEs คืออะไร ? ทำไมคนเริ่มทำ ธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเอง ควรต้องรู้ | BrandCase
หลายคนมีความฝันที่จะสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากออกจากเซฟโซนการเป็นมนุษย์เงินเดือน แล้วผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการ
ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว มักจะเริ่มจากธุรกิจเล็ก ๆ แล้วค่อยขยับขยายออกไป
ธุรกิจที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่ว่านี้ ส่วนใหญ่จะเข้าข่ายว่าเป็น “MSMEs”
MSMEs คืออะไร ?
และรู้หรือไม่ว่า การขึ้นทะเบียนเป็น MSMEs ก็มีข้อดีเยอะมาก ๆ
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
MSMEs มาจากคำว่า Micro, Small and Medium Enterprises
ซึ่งหมายถึง ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย
โดย MSMEs ครอบคลุมผู้ประกอบการในทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจผลิตสินค้า, ธุรกิจการค้า, ธุรกิจบริการ
โดยธุรกิจที่จะเข้าข่ายการเป็น MSMEs ได้ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1.วิสาหกิจรายย่อย (Micro Enterprises)
มีลูกจ้างไม่เกิน 5 คน หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท
2.วิสาหกิจขนาดย่อม (Small Enterprises)
ธุรกิจผลิตสินค้า มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คน หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100 ล้านบาท
ธุรกิจการค้าหรือบริการ มีลูกจ้างไม่เกิน 30 คน หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 50 ล้านบาท
3.วิสาหกิจขนาดกลาง (Medium Enterprises)
ธุรกิจผลิตสินค้า มีลูกจ้างตั้งแต่ 51-200 คน หรือมีรายได้ต่อปีมากกว่า 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท
ธุรกิจการค้าหรือบริการ มีลูกจ้างตั้งแต่ 31-100 คน หรือมีรายได้ต่อปีมากกว่า 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 300 ล้านบาท
เพราะฉะนั้น สรุปตรงนี้ก่อนก็คือ MSMEs ก็รวมถึงคำว่า SMEs ที่เราชอบพูดกัน แต่เพิ่มตัว M มาอีกหนึ่งตัว ก็คือ Micro Enterprises หรือ “วิสาหกิจรายย่อย” นั่นเอง
ซึ่งบางคนที่กำลังทำธุรกิจส่วนตัว อาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ว่าธุรกิจของตัวเองเข้าข่ายการเป็น MSMEs
เช่น คนที่เปิดเพจขายของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ คนที่เป็นเจ้าของร้านโชห่วย กลุ่มเกษตรกรที่ผลิตหรือแปรรูปสินค้าเกษตร
เจ้าของร้านตัดผม-เสริมสวย-นวด เจ้าของโรงเรียนกวดวิชา หรือแม้แต่เจ้าของคาเฟ ซึ่งเป็นอาชีพยอดฮิตของคนรุ่นใหม่ ก็เข้าเกณฑ์เป็น MSMEs
ซึ่งเราสามารถขอรับการสนับสนุนในการทำธุรกิจ
ด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด คือ การขึ้นทะเบียนเป็นธุรกิจ MSMEs กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.
คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าเราขึ้นทะเบียนเป็น MSMEs เราจะได้อะไร ?
การที่เราขึ้นทะเบียนเป็น MSMEs ทำให้เราได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการ ยกตัวอย่างเช่น
-สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี
โดยถ้าธุรกิจของเรามีสภาพเป็นนิติบุคคล และมีกำไรไม่เกิน 3 แสนบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี
-ถ้ามีกำไรเกิน 3 แสนบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท จะได้รับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 15
แต่ถ้ามีกำไรเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราปกติ คือ ร้อยละ 20
อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ ผู้ที่สนใจอาจต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมถึงเงื่อนไขเฉพาะของกรมสรรพากร เกี่ยวบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนลักษณะใดบ้างที่เข้าข่ายได้รับการลดภาษี
นอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว ธุรกิจ MSMEs ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่น ๆ อีก โดยใครที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs | กรมสรรพากร
นอกจากสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแล้ว ธุรกิจ MSMEs ยังได้รับประโยชน์อื่น ๆ จากการขึ้นทะเบียนเป็น MSMEs อีกด้วย
ตัวอย่างเช่น
-มาตรการส่งเสริมและการสนับสนุนจากภาครัฐ ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม
เช่น การขอสินเชื่อ การร่วมลงทุน การค้า การค้ำประกันสินเชื่อ การให้เงินอุดหนุน การพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ การขยายตลาด
-มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ จากกองทุนส่งเสริม SMEs
-มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการที่ สสว. จัดให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ เช่น อบรมความรู้ทางด้านธุรกิจ การขอคำแนะนำ หรือคำปรึกษาทางธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ
แล้วใครบ้างที่สามารถขึ้นทะเบียนธุรกิจ MSMEs ได้ ?
จริง ๆ แล้ว ธุรกิจที่เข้าลักษณะการเป็น MSMEs ทุกราย สามารถขึ้นทะเบียนกับ สสว. ได้ทั้งหมดเลย
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนพาณิชย์ หรือธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว
หรือแม้แต่ธุรกิจเจ้าของรายเดียว ที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เลย ก็สามารถขึ้นทะเบียนธุรกิจ MSMEs ได้เหมือนกัน..
References
-กฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2562
-ประกาศสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เรื่อง การกำหนดลักษณะของวิสาหกิจรายย่อย
-https://www.sme.go.th/th/
-https://www.sme.go.th/th/cms-detail.php?modulekey=332&id=1334
-https://www.ktc.co.th/article/knowledge/what-is-a-sme-business
-https://portal.info.go.th/sme-registration/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.