กรณีศึกษา Starbucks ในออสเตรเลีย ทำไมทำตลาดยากกว่า ประเทศอื่น

กรณีศึกษา Starbucks ในออสเตรเลีย ทำไมทำตลาดยากกว่า ประเทศอื่น

20 ก.ค. 2023
กรณีศึกษา Starbucks ในออสเตรเลีย ทำไมทำตลาดยากกว่า ประเทศอื่น | BrandCase
Starbucks คือเชนร้านกาแฟที่แข็งแกร่งมาก สะท้อนจากจำนวนสาขา ที่เปิดให้บริการไปแล้วกว่า 30,000 สาขา ใน 80 ประเทศทั่วโลก
แม้แต่ในประเทศจีนที่คนในประเทศ นิยมดื่มชามากกว่ากาแฟ Starbucks ก็ยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับตลาดของจีนได้ไม่ยาก จนทำให้ในจีนมี Starbucks ถึง 6,000 สาขา
อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายประเทศที่เป็นงานหินของ Starbucks หนึ่งในนั้นคือ “ออสเตรเลีย”
ออสเตรเลีย ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจของโลกกาแฟ เพราะคนนิยมดื่มกาแฟเฉลี่ย 2-3 แก้วต่อวัน
แต่ตอนนี้กลับมี Starbucks แค่ประมาณ 60 สาขาเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก
เรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
Starbucks เข้าไปบุกออสเตรเลียครั้งแรกในช่วงปี 2000 โดยเปิดสาขาแรกที่เมลเบิร์น
และขยายสาขาเพิ่มเป็น 84 สาขาภายในระยะเวลา 8 ปี ซึ่งการเติบโตดูจะไปได้สวย
แต่เอาจริง ๆ มันไม่ได้สวยขนาดนั้น
เพราะถ้ามาดูที่ผลประกอบการช่วง 7-8 ปีนั้น Starbucks ในออสเตรเลีย ขาดทุนสะสมราว ๆ 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 3,600 ล้านบาท
จุดสำคัญอยู่ที่ปี 2008 เมื่อเกิดวิกฤติการเงินจากสหรัฐอเมริกา จนลามไปทั่วโลก
ซึ่งก็ทำให้บริษัทแม่ของ Starbucks ในสหรัฐอเมริกามา ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายและเข้มงวดเรื่องการลงทุนขยายสาขาทั่วโลก
และก็รวมถึง ต้องหยุดขยายสาขาในออสเตรเลีย และทยอยปิดสาขาลงเรื่อย ๆ จาก 84 สาขา เหลือเพียง 23 สาขา รวมถึงเลิกจ้างพนักงานไปกว่า 650 คน
โดยมีเหตุผลหลาย ๆ อย่าง เช่น
- วัฒนธรรมการดื่มกาแฟของคนออสเตรเลีย มีความเฉพาะมาก ๆ และไม่ค่อยตรงกับสไตล์ของ Starbucks
ปกติคนออสเตรเลียจะนิยมดื่มกาแฟที่เรียบง่าย ไม่ตกแต่งจนเกินพอดี และจะให้ความสำคัญกับกลิ่น และรสชาติของกาแฟ
หนึ่งในเมนูยอดนิยมของชาวออสเตรเลียคือ เอสเปรสโซ
โดยคนออสเตรเลียจะเรียกว่า “ช็อตแบล็ก” และ “แฟลตไวต์”
ลักษณะคือเป็นกาแฟใส่นมที่เคลือบด้วยผิวนมบาง ๆ คล้ายกาแฟลาเต แต่ไม่มีฟองนม ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของชาวออสเตรเลีย
นอกจากนี้คนออสเตรเลียจะไม่นิยมดื่มกาแฟรสหวาน หรือใส่วิปครีมเยอะ ๆ
แต่เมนูที่ Starbucks นำเข้ามาเมนูแรก ๆ คือ “Pumpkin Spice Latte” เมนูที่มีรสหวานตามสไตล์ชาวอเมริกัน
ซึ่งไม่ค่อยจะเข้ากับรสนิยมของคนออสเตรเลีย
แถมเมนูยอดฮิตของชาวออสเตรเลียอย่าง แฟลตไวต์ ทาง Starbucks ก็ไม่ได้มีขาย
- อย่างต่อมาคือ คนออสเตรเลียมองร้านกาแฟเป็นมากกว่าแค่ บ้านหลังที่ 3
สโลแกนเด็ดอย่างหนึ่งของ Starbucks คือการสร้างประสบการณ์ ให้ลูกค้าเหมือนได้นั่งอยู่ในบ้านหลังที่ 3
หลังที่ 1 คือบ้านจริง ๆ, หลังที่ 2 คือที่ทำงาน และหลังที่ 3 ก็คือ Starbucks ที่มานั่งทำงาน พบปะพูดคุย สามารถนัดหมายกันได้
แต่คนออสเตรเลียดูจะต้องการให้ร้านกาแฟเป็นมากกว่านั้น เพราะคนออสเตรเลียจะชอบนั่งคุยกับบาริสตา
บางคนถึงขนาดมีบาริสตาประจำตัว ที่คุยกันเป็นประจำ
หรือถ้าให้พูดง่าย ๆ คือ ร้านกาแฟในออสเตรเลีย จะเปรียบเสมือน “ศูนย์กลางชุมชน” ที่มีผู้คนเข้ามาพูดคุยกัน ทั้งคุยกับบาริสตา และคุยกันเอง
หมายความว่า พวกเขาก็ไม่ได้ต้องการความรวดเร็วในการบริการขนาดนั้น เช่น การชงและเสิร์ฟกาแฟ แต่ต้องการพูดคุยด้วย
ซึ่งจะไม่ค่อยตรงกับคอนเซปต์ของ Starbucks ที่เน้นทำเร็ว เสิร์ฟเร็ว
- อย่างสุดท้ายคือ Starbucks ในออสเตรเลีย ขยายสาขาเร็วเกินไปในช่วงแรก
ในช่วงแรก Starbucks ขยายสาขาอย่างรวดเร็ว พวกเขาใช้เวลา 7-8 ปี ขยายสาขาไปกว่า 80 สาขา หรือตกเฉลี่ยแล้วปีละ 10 สาขา ซึ่งถือเป็นเรตที่ค่อนข้างเร็ว
โดยที่เป็นแบบนี้ก็อาจเพราะว่า ต้องการขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่เยอะ ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างขึ้น
แต่ประเด็นคือ พอบริการและสไตล์ของร้านไม่ค่อยตรงจริตของคนออสเตรเลีย
ทั้งหมดนี้ ทำให้บริษัทขาดทุนสะสมจากปีแรก ประมาณ 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,600 ล้านบาท
จนต้องทยอยลดจำนวนสาขาลงในช่วงนั้น จาก 84 สาขา เหลือ 23 สาขา นั่นเอง..
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Starbucks ในออสเตรเลียเริ่มกลับมาขยายสาขาอีกครั้ง
ซึ่งตอนนี้มีข้อมูลว่า มีจำนวนสาขาประมาณ 60 สาขา
โดยสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ทางแบรนด์หันไปให้ความสำคัญกับลูกค้าในพื้นที่มากขึ้น และมีการเพิ่มเมนูสำคัญอย่าง แฟลตไวต์ เข้าไปด้วย
บทเรียนครั้งนั้นของ Starbucks เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจไม่น้อย
เพราะถ้าลองดูองค์ประกอบของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีคนดื่มกาแฟเฉลี่ย 2-3 แก้วต่อวัน
การขยายธุรกิจมาที่นี่ก็ดูจะเป็นโอกาสเติบโตที่สดใส เพราะดูเหมือนจะมีดีมานด์รองรับมากอยู่แล้ว
แต่ใครจะรู้ว่าจริง ๆ แล้ว เรื่องมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
เพราะมันจะมีเรื่อง ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่แบรนด์ใหญ่แค่ไหน ก็ต้องทำการบ้านให้ดี ๆ ..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.