ทำไมเราเห็น คนทำแบรนด์ น้ำปลาร้า เต็มไปหมด

ทำไมเราเห็น คนทำแบรนด์ น้ำปลาร้า เต็มไปหมด

19 ก.ค. 2023
ทำไมเราเห็น คนทำแบรนด์ น้ำปลาร้า เต็มไปหมด | BrandCase
ช่วงที่ผ่านมา น้ำปลาร้า ถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่ฮิตมาก เพราะนอกจากพ่อค้าแม่ค้าจะซื้อไปทำอาหารขายแล้ว หลายคนยังซื้อเก็บไว้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง
และที่สังเกตคือ แบรนด์น้ำปลาร้าตอนนี้ มีเยอะมาก
โดยข้อมูลจาก Thairath บอกว่า น้ำปลาร้าในไทยตอนนี้ มีไม่น้อยกว่า 200 แบรนด์
ส่งผลให้มูลค่าตลาดน้ำปลาร้าตอนนี้ มีมูลค่าประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต
นอกจากนั้น เหล่าคนดังไม่ว่าจะเป็น นักร้องลูกทุ่ง นักแสดงตลก หรือคนดังที่มีชื่อเสียง ก็มีแบรนด์น้ำปลาร้าเป็นของตัวเอง
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมเราเห็นคนทำแบรนด์น้ำปลาร้า ออกมาขายกันเต็มไปหมด
BrandCase ชวนทุกคนมาลองมาวิเคราะห์กัน..
1.ตลาดกำลังเติบโต มีกลุ่มลูกค้าเยอะ
อย่างที่บอกว่า ตลาดน้ำปลาร้ามีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท และยังมีโอกาสเติบโตได้อีก
ถ้าเราลองสังเกตดูรอบ ๆ ตัว จะเห็นว่า มีร้านอาหารอีสานมากมาย กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย
ซึ่งเมนูส่วนใหญ่ในร้านอาหารอีสาน ต่างก็ใช้เครื่องปรุงอย่างน้ำปลาร้า กันแทบทั้งนั้น
แถมเมนูยอดฮิตที่คนไทยส่วนใหญ่ชอบทานกันอย่าง “ส้มตำ” ก็มีเครื่องปรุงหลักเป็นน้ำปลาร้า
และนอกจากส้มตำ เมนูยำหลาย ๆ อย่างสมัยนี้ ก็เริ่มมีการเติมน้ำปลาร้าลงไป ให้รสชาติแปลกใหม่
และจากสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา ทำให้คนไทยหันมาใส่ใจกับความสะอาด ของอาหารมากขึ้น
หลาย ๆ คนก็เลือกที่จะทำอาหารทานกันเองที่บ้าน
ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้น้ำปลาร้าแบบขวด กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องปรุงรส ที่หลายบ้านซื้อเก็บไว้ติดครัว
อีกทั้งน้ำปลาร้ายังเป็นสินค้าที่ไม่ได้ขายได้ แค่เฉพาะคนในประเทศไทย เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ยังเป็นสินค้าที่สามารถส่งออกไปขายให้กับคนไทย ที่อยู่ในต่างประเทศได้อีกด้วย
จากสถิติของกระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า
ในปี 2564 มีคนไทยอาศัยอยู่ในต่างประเทศแบบถูกกฎหมาย ทั้งหมด 1,385,157 คน ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นในทุก ๆ ปี
และข้อมูลจาก สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ พบว่า
ปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกน้ำปลาร้า ไปยังประเทศกลุ่มอาเซียนและสหภาพยุโรป มีมูลค่ากว่า 200 ล้านบาทต่อปี เลยทีเดียว
ทำให้หลายคนเชื่อว่า ตลาดน้ำปลาร้าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง และมีช่องทางในการเติบโตได้อีกมาก
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตลาดนี้ จะมีผู้คนมากมายให้ความสนใจ อยากเข้ามาทำธุรกิจ
2.มีโรงงานผลิตที่รับจ้างผลิต ไม่ต้องลงทุนทำโรงงานเอง
กระบวนการทำปลาร้าส่วนใหญ่ จะเป็นการนำปลามาหมักกับเกลือและรำข้าว บางสูตรอาจใช้เวลาหมักเป็นปี เพื่อให้ได้กลิ่น และรสชาติที่มีเอกลักษณ์
ซึ่งในสมัยก่อน การทานน้ำปลาร้า มักจะเป็นการนำน้ำปลาร้าที่หมักอยู่ มากรองเอาเศษปลาและรำข้าวออก
แล้วนำมาประกอบอาหารเลย
ซึ่งปลาร้าในลักษณะนี้ อาจมีเชื้อโรคหรือแบคทีเรียอื่น ๆ ที่ทำให้หลายคนท้องเสีย
ทำให้ปัจจุบันมีการต้มปลาร้าให้สุก ก่อนนำมารับประทาน และขั้นตอนนี้ก็ไม่ได้ทำกันง่าย ๆ และหากทำเองที่บ้าน กลิ่นของปลาร้าขณะที่เราต้ม ก็จะรบกวนไปถึงบ้านข้าง ๆ ได้อีกหลาย ๆ หลังเลยทีเดียว
จากขั้นตอนที่ยุ่งยากนี้เอง ทำให้เกิดเป็นโรงงานรับผลิตน้ำปลาร้าขึ้นมา
ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานที่รับผลิตน้ำปลาร้าแบบ OEM อยู่ที่ประมาณ 200-300 โรงงานในไทย
เมื่อเป็นแบบนี้ การเริ่มธุรกิจขายน้ำปลาร้า จึงไม่ใช่เรื่องยากอะไร
เพียงแค่มีเงินทุน ใคร ๆ ก็สามารถเข้าไปสั่งผลิต น้ำปลาร้าบรรจุขวดกับโรงงานผลิตเหล่านั้น ได้ตามต้องการ
พอผลิตเสร็จก็เอาสติกเกอร์แบรนด์ของตัวเอง แปะขวดออกมาขายได้ง่าย ๆ
บางแบรนด์อาจพิเศษขึ้นมาหน่อยคือ อาจจะมีสูตรพิเศษเป็นของตัวเอง
หรืออยากพัฒนาแบ่งเป็น สูตรเฉพาะสำหรับทำส้มตำ และสูตรเฉพาะสำหรับทำอาหารอีสานทั่วไป
ก็สามารถสั่งให้โรงงานผลิตและช่วยคิดสูตรให้ก็ได้เช่นกัน
ทำให้หลายคนที่พอมีเงินทุน สามารถกระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดน้ำปลาร้าได้ง่าย
3.สินค้าชนิดเดียว แต่มีหลายสูตรให้ลงไปเล่น
อย่างที่บอกไปว่า การทำน้ำปลาร้า แค่ใช้ปริมาณเกลือ ระยะเวลาการหมัก ปลาน้ำจืด ปลาน้ำเค็ม
หรือแม้กระทั่งขนาดของปลา แตกต่างกัน ก็มีผลต่อรสชาติแล้ว
อีกทั้งในกระบวนการต้ม ยังมีการใส่ผงปรุงรสอื่น ๆ เช่น ผงชูรส กะปิ น้ำตาล น้ำกระเทียมดอง หรือแกนสับปะรด เพื่อเพิ่มรสชาติความนัวในน้ำปลาร้า
หรือบางสูตรอาจมีการใส่ใบหม่อน และใบเตยลงไปต้ม เพื่อเพิ่มความหอมในน้ำปลาร้าด้วย
จึงทำให้ตรงนี้ กลายเป็นจุดที่แต่ละแบรนด์ใช้สร้างความแตกต่างให้กับตัวเอง
และกลายเป็นจุดที่ทำให้ผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้า มีหลากหลายสูตรให้แข่งขันกันนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าน้ำปลาร้าทุกขวด จะมีรสชาติดีเหมือนกันหมด
ซึ่งตรงนี้ก็บอกยากว่า แบรนด์ไหนอร่อยกว่ากัน
เพราะเรื่องรสชาติของความอร่อย เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลมากกว่า
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าแบรนด์ไหนรสชาตินัวถูกปากคนส่วนใหญ่ ก็อาจจะมียอดขายดีกว่า
ในขณะที่อีกแบรนด์กลิ่นแรง ถูกใจแค่เฉพาะคนกลุ่มน้อยเท่านั้น ก็อาจจะมียอดขายที่น้อยตาม แต่ก็ใช่ว่าจะขายไม่ได้เลย
สรุปแล้ว จากขนาดตลาดที่เริ่มใหญ่ และกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงมีโรงงานผลิตให้ ไม่ต้องทำเองให้ยุ่งยาก
ก็ไม่น่าแปลกใจมาก ที่เราจะเห็นแบรนด์น้ำปลาร้าเกิดขึ้นมาเยอะมาก
รวมถึงเหล่าคนดัง ที่มีฐานแฟนคลับเยอะอยู่แล้ว หลายคนก็หันมาทำแบรนด์น้ำปลาร้าเป็นของตัวเอง
หรือบางแบรนด์ทำขึ้นมา แล้วก็จ้างศิลปิน นักแสดง ที่มีภาพลักษณ์เข้าถึงกลุ่มลูกค้าน้ำปลาร้าได้ ไปเป็นพรีเซนเตอร์
รวมถึงคนดังบางคนที่เอาจริงเอาจังมาก ๆ
เช่น ไมค์-ภิรมย์พร ก็ทำแบรนด์น้ำปลาร้า “แซ่บไมค์” และก็มีทำโรงงานผลิตเป็นของตัวเองด้วย..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.