Mazda เริ่มจากขายจุกไวน์ ทำปืนไรเฟิล แล้วได้ดี เพราะขายรถยนต์

Mazda เริ่มจากขายจุกไวน์ ทำปืนไรเฟิล แล้วได้ดี เพราะขายรถยนต์

16 ก.ค. 2023
Mazda เริ่มจากขายจุกไวน์ ทำปืนไรเฟิล แล้วได้ดี เพราะขายรถยนต์ | BrandCase
คงแทบไม่มีใครไม่รู้จัก Mazda แบรนด์รถยนต์ชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น โดยในปีที่ผ่านมา Mazda ทำยอดขายไปได้กว่า 1,135,000 คัน และบริษัทมีรายได้กว่า 900,000 ล้านบาท
และหลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ก่อนที่ Mazda จะมาผลิตรถยนต์ขาย
Mazda เริ่มจากการขายจุกไวน์ ทำปืนไรเฟิล แล้วได้ดี เพราะขายรถยนต์
เรื่องราวกว่าจะมาเป็น Mazda ในวันนี้ เป็นอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มขึ้นในปี 1920 หรือเมื่อ 103 ปีที่แล้ว โดยชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า จูจิโร มัทสึดะ
คุณจูจิโร มัทสึดะ เป็นชาวเมืองฮิโรชิมะ แต่เริ่มต้นเส้นทางสายธุรกิจ ด้วยการออกไปทำโรงงานผลิตปืนอยู่ที่เมืองอื่น เป็นเวลานานหลายปี แล้วค่อยกลับมาทำธุรกิจในบ้านเกิด
โดยเขาได้กลับมาก่อตั้งบริษัทชื่อ “โตโย คอร์ก โคเกียว” เพื่อผลิตจุกไม้คอร์กปิดขวดไวน์ และขวดเครื่องดื่ม ที่เมืองฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น
แต่เปิดให้บริการได้เพียงแค่ 7 ปี ธุรกิจผลิตจุกไม้คอร์กก็ต้องปิดตัวลงไป เพราะทำกำไรได้ไม่มากพอ บวกกับจุกไม้คอร์กเริ่มเสื่อมความนิยมลง
คุณมัทสึดะ จึงเปลี่ยนไปผลิตอุปกรณ์ในวงการอุตสาหกรรมหนักแทน
และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “โตโย โคเกียว” คือตัดคำว่า คอร์ก ที่สื่อถึงการผลิตจุกไวน์ออกไป
ระหว่างนั้นคุณมัทสึดะ ที่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์อยู่แล้ว ก็มีความสนใจในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ตอนนั้นยังถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมญี่ปุ่น
จึงได้ให้ทีมวิศวกร ลองออกแบบ และผลิตยานยนต์ขึ้นมา
ในปี 1931 โตโย โคเกียว ได้เปิดตัวยานยนต์รุ่นแรกออกมา โดยใช้ชื่อว่า “Mazdago”
อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ คือคล้าย ๆ กับรถสามล้อของไทย ด้านหน้าเป็นส่วนหน้าของมอเตอร์ไซค์ ด้านหลังเป็นกระบะ แต่ไม่มีหลังคา
โดยได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี ก่อนที่ปีถัดมาจะมีการส่งออกไปขายในประเทศจีน และได้รับความนิยม เพราะโดดเด่นในเรื่องการควบคุมรถที่ทำได้ง่ายกว่าเจ้าอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกบริษัทยังไม่ได้เน้นการผลิตยานยนต์เป็นหลัก แต่ยังผลิตเครื่องมืออุตสาหกรรมหนักควบคู่กันไปด้วย
เช่น บริษัทผลิตเครื่องเจาะหินออกมาขายเป็นสินค้าหลัก
แต่แล้วทุกอย่างก็ต้องหยุดชะงักลง..
ในปี 1939 สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้น และญี่ปุ่นได้เข้าร่วมสงคราม
ทำให้ผู้ผลิตยานยนต์หรืออุตสาหกรรมหนักต่าง ๆ ในประเทศ ต้องเปลี่ยนมาผลิตอาวุธ ยุทโธปกรณ์ เพื่อสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่น
โดยบริษัท โตโย โคเกียว ได้เปลี่ยนมาเป็นผู้ผลิต “ปืนไรเฟิล” ป้อนให้กองทัพญี่ปุ่น
ผลของสงครามก็เป็นไปตามที่เรารู้กัน คือญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศแพ้สงคราม และประเทศได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก จากการโดนทิ้งระเบิดปรมาณู โดยเฉพาะที่เมืองฮิโรชิมะ
ซึ่งประเด็นคือ สำนักงานใหญ่ของบริษัท โตโย โคเกียว ตั้งอยู่ในเมืองฮิโรชิมะ..
ภายหลังสงคราม บริษัทได้รับการฟื้นฟู และยังให้ทางการยืมพื้นที่ของบริษัท ไปเป็นศูนย์บัญชาการและฟื้นฟูเมือง
หลังจากที่ฟื้นฟูและซ่อมแซมโรงงานได้สำเร็จ บริษัทก็ได้กลับมาดำเนินการผลิตตามปกติ
ซึ่งคราวนี้ โตโย โคเกียว กลับมารุกธุรกิจยานยนต์แบบเต็มที่ และได้อานิสงส์จากการที่ญี่ปุ่นรวมพลังกันฟื้นฟูประเทศอย่างรวดเร็ว
จนอุตสาหกรรมต่าง ๆ กลับมาลืมตาอ้าปากได้
ในปี 1960 บริษัท โตโย โคเกียว เปิดตัวรถยนต์คันแรกของบริษัท ชื่อว่า R360 Coupe ซึ่งมีลักษณะเป็นแบบสองประตูและสองที่นั่ง ซึ่งปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
บริษัท จึงหันมาเน้นการผลิตรถยนต์เป็นหลัก แทนที่ธุรกิจเดิม ซึ่งเป็นการผลิตเครื่องมืออุตสาหกรรมหนัก
พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท “Mazda” ในเวลาถัดมา
หลังจากนั้นเพียง 2 ปี Mazda ก็ทำยอดผลิตยานยนต์ทุกรูปแบบได้แตะหลัก 1,000,000 คัน
ซึ่งส่งผลให้ Mazda ในเวลาต่อมา ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ของประเทศญี่ปุ่น และของโลก จนถึงปัจจุบัน..
แล้วทุกวันนี้ Mazda ขายดีแค่ไหน ?
ปีที่ผ่านมา Mazda Motor Corporation มีรายได้ 954,600 ล้านบาท กำไร 35,600 ล้านบาท
โดยขายรถยนต์ไปทั้งหมด ประมาณ 1,135,000 คัน ทั่วโลก
และ Mazda มีส่วนแบ่งในตลาดโลก เมื่อปี 2021 เป็นอันดับที่ 16 ของโลก ..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.