เสื้อ Arrow, Lacoste, Guy Laroche เจ้าของสิทธิ์ ขายในไทย คือเครือสหพัฒน์

เสื้อ Arrow, Lacoste, Guy Laroche เจ้าของสิทธิ์ ขายในไทย คือเครือสหพัฒน์

17 ก.ค. 2023
เสื้อ Arrow, Lacoste, Guy Laroche เจ้าของสิทธิ์ ขายในไทย คือเครือสหพัฒน์ | BrandCase
หลายคนจะรู้จักเครือสหพัฒน์ จากที่เป็นเจ้าของ มาม่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อันดับ 1 ในไทย
รวมถึงเป็นผู้ผลิตและเป็นตัวแทนจำหน่าย แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภค ที่คนไทยต้องใช้
เช่น ผงซักฟอก เปา, แป้งเด็ก โคโดโม หรือ สบู่ โชกุบุสซึ
เครือสหพัฒน์ ยังมีธุรกิจในมืออีกเยอะ
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์เครื่องแต่งกายระดับโลกด้วย
เช่น เสื้อ Arrow, Guy Laroche รวมถึง Lacoste ในไทย
เรื่องราวธุรกิจนี้ของเครือสหพัฒน์ เป็นมาอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ย้อนกลับไปประมาณปี 2503 ในตอนนั้น เครือสหพัฒน์ ยังมีธุรกิจเพียงแค่ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค
เช่น สบู่ แชมพูสระผม และผงซักฟอก
ในช่วงนั้น คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ลูกชายคนโตของนายห้างเทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์
เห็นว่าสินค้าอุปโภคและบริโภคเหล่านี้ แม้จะเติบโตได้ดี แต่กลับมีแบรนด์คู่แข่งเข้ามาตีตลาดอีกมาก ทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น
ตั้งแต่ตอนนั้น คุณบุณยสิทธิ์ ก็เริ่มมองหาธุรกิจอื่น ที่มีคู่แข่งน้อย และสินค้านั้นจะต้องเติบโตสูงในอนาคต
และในช่วงนั้นเอง ก็เป็นจังหวะที่ดี เพราะเครื่องสำอางแบรนด์ PIAS จากญี่ปุ่น เริ่มเข้ามาทำตลาด และกำลังมองหาตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย
เมื่อเห็นโอกาสนี้ คุณบุณยสิทธิ์ ก็ได้เจรจากับผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทเครื่องสำอางในญี่ปุ่น เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายทันที
โดยก่อตั้ง บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ICC ร่วมกับหุ้นส่วนอีก 7 คน ในปี 2507 เพื่อเป็นบริษัทผู้จำหน่ายเครื่องสำอางแบรนด์ PIAS
เริ่มแรก ก็ได้ทดลองตลาดด้วยการเริ่มต้นจำหน่ายเครื่องสำอางทั้งในกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงต่างจังหวัด ที่ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคู่แข่งมากนัก
เมื่อเครื่องสำอางที่เป็นของใช้สำหรับผู้หญิง สามารถขายได้ดี เป็นไปตามแผนที่วางไว้
ทำให้เครือสหพัฒน์ เริ่มมองเห็นว่า เทรนด์เกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย ในประเทศไทย กำลังจะมา
โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายสำหรับผู้หญิง ที่สาว ๆ ในยุคนั้น ก็เริ่มหันมารักสวยรักงามมากขึ้น
เมื่อเห็นดังนี้ คุณบุณยสิทธิ์ จึงมีแนวคิดที่อยากจะขายสินค้าสำหรับผู้หญิง ที่ต่อยอดมาจากเครื่องสำอาง นั่นก็คือ “ชุดชั้นใน”
ด้วยความที่เครือสหพัฒน์ คุ้นเคยกับการเจรจา และค้าขายกับบริษัทใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่นมานาน
ทำให้คุณบุณยสิทธิ์ เริ่มมองหาพาร์ตเนอร์ในบริษัทญี่ปุ่นอีกครั้ง
และสุดท้ายก็ได้เจรจา กับผู้ผลิตชุดชั้นในอันดับ 1 ของญี่ปุ่นในตอนนั้น
นั่นก็คือ ชุดชั้นใน “วาโก้ WACOAL” ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี
ซึ่งในตอนนั้น คุณบุณยสิทธิ์ ก็ได้เข้าใจตลาดเครื่องสำอาง และเครื่องแต่งกายในเมืองไทยเป็นอย่างดีแล้ว
และเขาก็ได้เล่าแผนการทำการตลาดในเมืองไทย ให้กับผู้บริหาร WACOAL ของประเทศญี่ปุ่นได้ฟัง
ซึ่งทาง WACOAL ประเทศญี่ปุ่น ก็เห็นด้วยและตกลงทันที พร้อมกับให้สิทธิ์การใช้แบรนด์ WACOAL กับเครือสหพัฒน์
ตั้งแต่ตอนนั้น เครือสหพัฒน์ ก็ได้ร่วมทุนกับบริษัทในญี่ปุ่น
จัดตั้ง บริษัท ไทยวาโก้ ขึ้นในปี 2513 พร้อมกับจัดตั้งโรงงานผลิตชุดชั้นในสตรี เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
และให้บริษัท ICC เป็นตัวแทนจำหน่าย และทำตลาดชุดชั้นใน ในประเทศไทย เช่นเดียวกับเครื่องสำอางแบรนด์ PIAS
ซึ่ง ICC ก็ได้สิทธิ์ตั้งบูท WACOAL เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายชุดชั้นในแบรนด์ WACOAL แต่เพียงผู้เดียว
เมื่อธุรกิจเครื่องสำอาง และชุดชั้นใน ประสบความสำเร็จ
อีก 5 ปีต่อมา เครือสหพัฒน์ ก็จัดตั้งสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ขึ้นในปี 2517 ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อรองรับการผลิตสินค้าหลากหลายชนิดของเครือสหพัฒน์
ต่อมาในปี 2518 หรือ 1 ปีหลังจากตั้งสวนอุตสาหกรรม
เครือสหพัฒน์ ก็ได้รับข้อเสนอจากทาง Arrow แบรนด์เสื้อผ้าจากสหรัฐอเมริกา ให้เป็นตัวแทนผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าในประเทศไทย
พร้อมกับตั้งบริษัทใหม่ชื่อ ธนูลักษณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อแบรนด์ Arrow ที่แปลว่า “ธนู” ในปี 2518
ซึ่งในเวลาต่อมา บริษัท ธนูลักษณ์ ภายใต้เครือสหพัฒน์ ก็ได้ขยายธุรกิจ ซื้อลิขสิทธิ์แบรนด์เครื่องแต่งกายอื่น ๆ อย่าง Guy Laroche, ELLE และ DAKS
เพื่อเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าเหล่านี้ ส่งให้กับบริษัทจัดจำหน่ายในเครืออย่าง ICC เป็นตัวแทนจำหน่ายออกตลาดอีกทีหนึ่ง
นอกจากนี้ บริษัท ธนูลักษณ์ ก็ยังได้ร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ เพื่อขยายธุรกิจเครื่องหนัง เสื้อผ้า ไปจนถึงวัตถุดิบต้นน้ำ ที่ใช้ทำเครื่องแต่งกาย
ปัจจุบัน ถ้าให้ไล่บริษัทเครื่องสำอางและเครื่องแต่งกาย ที่เครือสหพัฒน์เป็นเจ้าของผ่านการถือหุ้นใหญ่ ก็เริ่มจาก
บมจ.ไทยวาโก้ หรือ WACOAL ดูแลการผลิตชุดชั้นใน แบรนด์ WACOAL ที่เครือสหพัฒน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
บมจ.ธนูลักษณ์ หรือ TNL เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เครื่องแต่งกายแบรนด์ดัง จากทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา
อย่าง Arrow, Guy Laroche, DAKS, ELLE และ Absorba
ซึ่งธุรกิจหลักของ บมจ.ธนูลักษณ์ คือการผลิตเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย ของแบรนด์ที่ได้ลิขสิทธิ์มา
บมจ.ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ ICC เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องสำอาง เสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย
ที่รับสินค้าที่ผลิต มาจาก บมจ.ไทยวาโก้ และ บมจ.ธนูลักษณ์ เพื่อมาจัดจำหน่ายอีกทีหนึ่ง
โดย ICC เป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ต่าง ๆ ในเครือสหพัฒน์ มากกว่า 80 แบรนด์ รวมถึงเป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ “Lacoste” แบรนด์เสื้อผ้าตราจระเข้ชื่อดังจากฝรั่งเศสด้วย
ICC ก็ยังเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอาง BSC Cosmetology ด้วย
มาถึงตรงนี้ ก็พอจะสรุปได้ว่า นอกจากเครือสหพัฒน์ จะเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค รายใหญ่แล้ว
เครือสหพัฒน์ ก็ยังเป็นผู้ผลิต และเป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังจากต่างประเทศ อย่าง Arrow, Guy Laroche, Lacoste, ชุดชั้นใน WACOAL
ซึ่งก็ต้องบอกว่า แบรนด์ ที่ได้เอ่ยชื่อไปทั้งหมดนี้
ใครหลายคน ก็คงพบเห็นได้บ่อย ๆ ตามบูทของห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ
ถ้าสมมติว่า เราเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า แล้วปล่อยพื้นที่บูทในห้างของเราให้แบรนด์ต่าง ๆ มาเช่า
แน่นอนว่า เราคงเก็บเงินค่าเช่าพื้นที่จากแบรนด์ในเครือสหพัฒน์ ได้มากมายเลยทีเดียว..
References
-รายงานประจำปี 2565 บมจ.ไทยวาโก้
-รายงานประจำปี 2550 และปี 2565 บมจ.ไอ ซี ซี อินเตอร์เนชั่นเนล
-รายงานประจำปี 2565 บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง
-รายงานประจำปี 2565 บมจ.ธนูลักษณ์
-https://www.thanulux.com/th/our-story.php
-https://www.prachachat.net/marketing/news-757754
-https://www.iccshopping.com/brand
-https://www.prachachat.net/csr-hr/news-175261
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.