อารีย์ จากย่านบ้านผู้ดีเก่า สู่แหล่งคาเฟ ย่านกินดื่ม ชื่อดังของกรุงเทพฯ

อารีย์ จากย่านบ้านผู้ดีเก่า สู่แหล่งคาเฟ ย่านกินดื่ม ชื่อดังของกรุงเทพฯ

2 ก.ค. 2023
อารีย์ จากย่านบ้านผู้ดีเก่า สู่แหล่งคาเฟ ย่านกินดื่ม ชื่อดังของกรุงเทพฯ | BrandCase
หากสยาม เป็นแหล่งรวมสินค้าแบรนด์เนม แหล่งช็อปปิง แหล่งรวมตัวของวัยรุ่น
เยาวราช เป็นแหล่งรวมสตรีตฟูด ของคนไทยเชื้อสายจีน
ภาพจำของย่านอารีย์ในตอนนี้ ก็คงเป็นแหล่งรวมคาเฟ ร้านอาหาร และโลเคชันถ่ายรูปแบบฮิป ๆ
แต่รู้ไหมว่า เมื่อก่อน อารีย์ คือย่านถิ่นผู้ดี
นักการเมือง หรือข้าราชการชั้นสูง ชอบปักหลักอาศัยอยู่ที่นี่
แล้วจากถิ่นผู้ดีเก่า กลายมาเป็นแหล่งร้านคาเฟแบบวันนี้ ได้อย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ก่อนที่ย่านอารีย์ จะกลายเป็นย่านดังจนถึงทุกวันนี้
ความเจริญ ได้ไปอยู่ในพื้นที่รอบ ๆ ข้างทางรถไฟ แถบสถานีรถไฟสามเสนมาก่อน
ในสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มมีการตั้งหน่วยงานราชการทหาร ที่บริเวณฝั่งซ้ายของสถานีรถไฟสามเสน
โดยบริเวณที่เป็นย่านอารีย์ในปัจจุบัน
อยู่บริเวณฝั่งขวาของสถานีรถไฟสามเสน ซึ่งสมัยก่อนยังคงเป็นทุ่งนา ไว้ปลูกข้าว และสวนผลไม้
ต่อมาในปี 2485 ซึ่งเป็นสมัยรัชกาลที่ 8 เป็นช่วงที่เมืองเริ่มขยายตัว จากการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
เริ่มมีการตัดถนน ชื่อถนนประชาธิปัตย์ ผ่านสนามบินดอนเมือง ไปยังต่างจังหวัด
ซึ่งถนนประชาธิปัตย์ ในปัจจุบันก็คือถนนพหลโยธิน หรือถนนหมายเลข 1 นั่นเอง
เมื่อถนนพหลโยธินตัดผ่าน ทำให้บริเวณทุ่งอารีย์ ที่อยู่ฝั่งขวาของสถานีรถไฟสามเสน
เริ่มสร้างอาคารพาณิชย์ สำหรับทำมาค้าขาย
และซอยอารีย์ที่อยู่ข้างใน ก็กลายเป็นบ้านพักของข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือนชั้นสูง
โดยเฉพาะในซอยราชครู ที่เป็นศูนย์รวมของชนชั้นนำทางการเมือง ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังปี 2490
ต่อมา ความเจริญเริ่มเปลี่ยนจากโดยรอบเส้นทางรถไฟ ไปเป็นตามเส้นทางถนนพหลโยธินมากขึ้น
ทำให้ย่านอารีย์ กลายเป็นแหล่งทำงานของข้าราชการ และกลายเป็นย่านที่อยู่อาศัย ของผู้ดีที่เป็นข้าราชการชั้นสูง
ซึ่งถ้าใครได้ไปทำงาน หรือไปเที่ยวแถวย่านอารีย์บ่อย ๆ
ก็คงจะสังเกตเห็นบ้านพักเก่า ๆ สไตล์วินเทจ โทนสีขาว ทรงคลาสสิกแบบยุค 70’s (ราว ๆ ทศวรรษ 2510)
ของผู้ดีมีตระกูล รุ่นพ่อรุ่นแม่เรา ผ่าน ๆ ตามาบ้าง
และถ้าหากพูดถึงร้านค้าที่อยู่ภายในย่านอารีย์ยุคแรก คือร้านสหกรณ์พระนคร สาขาอารีย์
ที่เน้นขายสินค้าเบ็ดเตล็ดในราคาถูก เริ่มเปิดให้บริการ ปี 2516
ซึ่งทุกวันนี้ ร้านสหกรณ์แห่งนี้ ก็ยังคงเปิดให้บริการอยู่..
ส่วนร้านอาหารในย่านอารีย์ยุคแรก ก็ยังคงเป็นร้านอาหารไทยแบบดั้งเดิม
และต้องเป็นร้านที่อร่อย จนผู้ดีเก่าย่านอารีย์ ที่ปกติเลือกกินอยู่แล้ว
ติดใจจนต้องไปฝากท้องเป็นประจำ
อย่างเช่น
ร้านธานี ข้าวหมูแดงหมูกรอบ ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลานายฉุ่ย และร้านมะลิวัลย์ ขนมไทย
ซึ่งร้านอาหารเหล่านี้ ก็ยังคงเปิดให้บริการอยู่ จนถึงทุกวันนี้
เมื่อเวลาผ่านไป ย่านอารีย์ ที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง สุดวินเทจ
ก็ได้เปลี่ยนเป็นย่านที่รวมร้านคาเฟ ที่เก๋ที่สุดใน กรุงเทพมหานคร
ช่วงหลังปี 2542 ซึ่งเป็นช่วงที่ BTS รถไฟฟ้าสายแรกของกรุงเทพมหานคร เพิ่งเปิดใหม่
ในช่วงนั้น ก็เป็นช่วงที่เริ่มมีออฟฟิศและคอนโดมิเนียม รอบ ๆ ย่านอารีย์มากขึ้นเรื่อย ๆ
หลังจากนั้น ก็เริ่มมีคนรุ่นใหม่วัยสร้างตัว เริ่มอยากเข้ามาทำธุรกิจในย่านอารีย์
ด้วยสภาพแวดล้อม ของอารีย์ในตอนนั้น เรียกได้ว่า
เป็นพื้นที่ที่ยังไม่ค่อยมีตึกสูงมากนัก แต่โดยรอบ เริ่มมีความเจริญเข้ามามากขึ้น ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า
ทำให้ในพื้นที่ อารีย์ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของคนรุ่นใหม่ ที่อยากจะสร้างธุรกิจจากความชอบของตัวเอง
โดยธุรกิจที่ไปเปิดในย่านอารีย์ ก็อย่างเช่น
ธุรกิจร้านคาเฟ, โฮสเทล, อาร์ตแกลเลอรี ไปจนถึงธุรกิจร้านอาหาร
ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่ ก็ล้วนเป็นธุรกิจที่ใส่ความครีเอทีฟ หรือความคิดสร้างสรรค์เข้าไปด้วย อย่างเช่น
-ร้านคาเฟ ก็จะมีการตกแต่งร้านในธีมต่าง ๆ ให้ดูมีความแปลกใหม่ และน่าถ่ายรูป
-ร้านอาหารนานาชาติ ก็จะเต็มไปด้วยร้านอาหารโฮมเมด ให้เลือกหลากหลายสไตล์ ทั้งไทย และต่างประเทศ
-ร้านบาร์ลับ หรือร้านค็อกเทล ที่เน้นตกแต่งบรรยากาศภายในร้านให้น่าดึงดูด น่าไปนั่งชิลแฮงเอาต์ตอนกลางคืน
พอธุรกิจต่าง ๆ ในย่านอารีย์เริ่มมีมากขึ้น
ธุรกิจเล็ก ๆ เหล่านี้ก็ก่อตัวเป็นชุมชนที่ดึงดูดลูกค้า กลุ่มคนรุ่นใหม่วัยทำงาน หรือนักท่องเที่ยว ให้เข้ามากิน ดื่ม และใช้ชีวิตภายในย่านอารีย์มากขึ้น
เมื่อย่านอารีย์เติบโตมากขึ้น ก็ทำให้เริ่มมีโครงการขนาดใหญ่เข้ามา
โดยใช้ความครีเอทีฟ ซึ่งเป็นจุดเด่นของย่านนี้ ดึงดูดลูกค้าให้เข้าไปใช้บริการ เช่น
-คอมมิวนิตี Gump Ari ที่เพิ่งเปิดไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน
เรียกได้ว่า คอมมิวนิตีมอลล์แห่งนี้ เป็นแลนด์มาร์กประจำย่านอารีย์
ที่รวมคาเฟ ที่แปลกใหม่ มีดิไซน์เก๋ ๆ และมีมุมถ่ายรูปเด็ด ๆ ให้คนรุ่นใหม่เข้าไปถ่ายรูป
หรือทำคอนเทนต์ได้
-Josh Hotel โรงแรมสุดชิก ที่เกิดจากการรีโนเวตอะพาร์ตเมนต์เก่า ๆ
ให้เป็นโรงแรมสไตล์วินเทจยุค 80’s
เหมาะสำหรับ Cafe Hopper หรือลูกค้าที่ต้องการตะลุยคาเฟดัง ๆ ในย่านอารีย์แบบทั้งวันทั้งคืน
มาถึงตรงนี้ ถ้าถามว่าทำไมย่านอารีย์ กลายเป็นย่านร้านอาหาร ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ก็พอจะบอกได้ว่า
-ย่านอารีย์ และบริเวณรอบ ๆ ที่อยู่ไม่ไกล เป็นแหล่งงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น
ตึกออฟฟิศขนาดใหญ่ อย่าง
Pearl Bangkok, ตึกธนาคารกสิกรไทย, ตึก AIS สำนักงานใหญ่, ตึกธนาคาร SME สำนักงานใหญ่
สถานที่ราชการอย่าง กระทรวงการคลัง, กรมสรรพากร, กรมประชาสัมพันธ์
ไปจนถึงโรงพยาบาลดัง ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ อย่าง
โรงพยาบาลวิมุต, โรงพยาบาลพญาไท 2, โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ซึ่งสถานที่ทำงานเหล่านี้ ก็มีทั้งคนรุ่นเดิมและรุ่นใหม่ อย่างหมอ พยาบาล ข้าราชการ และพนักงานออฟฟิศ
เข้าไปทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก
ทำให้ในย่านอารีย์ กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ทั้งในวันทำงานและวันหยุดสุดสัปดาห์
-ย่านอารีย์ เป็นแหล่งที่เข้าถึงง่าย และเดินทางสะดวก
เพราะหน้าปากซอยอารีย์ ก็เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีอารีย์อยู่แล้ว
จึงทำให้ชุมชนอารีย์ เป็นเหมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดแทรฟฟิกของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
และนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจในย่านอารีย์มากขึ้น
ก็ต้องบอกว่า ย่านอารีย์ ยังคงเป็นย่านใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร ที่ยังคงมีเสน่ห์ ด้วยความขลัง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ทั้งเคยเป็นบ้านผู้ดีเก่า ที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองในประเทศไทย อย่างซอยราชครู
เคยเป็นบ้านพักสไตล์วินเทจ ในยุค 70’s ที่ปัจจุบัน บ้านหลายหลัง ถูกรีโนเวตเป็นร้านคาเฟ และสตูดิโอถ่ายรูป
เป็นแหล่งรวมตำนานร้านอาหารชื่อดัง
เคยเป็นคาเฟ และร้านอาหารดี ๆ หลายร้าน
ซึ่งหากพูดถึงย่านดัง ๆ ในกรุงเทพมหานคร
นอกจากจะไปเดินเล่น ในย่านสยาม ไปหาของกินที่เยาวราช หรือที่อื่น ๆ แล้ว
ย่านอารีย์ ก็คงเป็นสถานที่ที่หลายคนชอบไปเที่ยว ไปกิน ไปดื่ม แน่นอน..
© 2025 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.