กรณีศึกษา การตลาดของ “โกโก้ร้านไอ้ต้น” ใช้ความกวน จนลูกค้าติด

กรณีศึกษา การตลาดของ “โกโก้ร้านไอ้ต้น” ใช้ความกวน จนลูกค้าติด

1 ก.ค. 2023
กรณีศึกษา การตลาดของ “โกโก้ร้านไอ้ต้น” ใช้ความกวน จนลูกค้าติด | BrandCase
วันนี้ กลยุทธ์การตลาดถือเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ทำให้ธุรกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จเร็วขึ้น
เหมือนอย่างเคสของ โกโก้ร้านไอ้ต้น ที่นำความสนุกและความกวน มาช่วยในการนำเสนอสินค้าให้ลูกค้า จนประสบความสำเร็จ
เรื่องราวในมุมการตลาดของ โกโก้ร้านไอ้ต้น น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของโกโก้ร้านไอ้ต้น เกิดจากคุณต้น ประชานารถ โพธิสาราช อดีตนักดนตรีที่ร้องและเล่นดนตรีตามสถานบันเทิง
แต่เมื่อเกิดวิกฤติโรคระบาดขึ้น เขาก็กลายเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว
พอเวลาผ่านไป เงินเก็บของเขาก็ค่อย ๆ ลดลง
เขาจึงตัดสินใจลงทุนเปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ โดยใช้สิ่งของใกล้ตัวเท่าที่หาได้ มาตั้งเป็นร้านกาแฟชื่อว่า “ร้านชาน-ชา-ลา กาแฟ”
โดยร้านของเขาจะใช้เมนูเครื่องดื่มที่ทำง่าย ๆ เช่น กาแฟ ชาเย็น โกโก้ และในระหว่างนั้น พอสถานบันเทิงเริ่มกลับมาเปิดอีกครั้ง เขาจึงกลับไปร้องเพลงในช่วงกลางคืน และขายกาแฟไปด้วยในช่วงกลางวัน
การทำงานควบคู่กันไปทั้ง 2 อย่างพร้อม ๆ กันนั้น ช่วยให้คุณต้นสามารถประคับประคองตัวเองให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้ไปได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เปิดร้านกาแฟ เขาสังเกตเห็นว่า เมนูโกโก้ของเขา เป็นเมนูที่ขายดีมาก
ลูกค้าจำนวนไม่น้อยติดใจ เอ่ยปากชม และมักจะกลับมาซื้อซ้ำอยู่เสมอ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คุณต้นจึงมีความคิดที่จะแยกร้านออกมาอีกหนึ่งร้าน เพื่อขายเมนูโกโก้โดยเฉพาะ
โดยความตั้งใจในตอนนั้นคือ ตอนเช้าขายกาแฟ ตอนเย็นขายโกโก้ พอตกกลางคืนก็ไปร้องเพลงตามสถานบันเทิง
ในตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อให้ร้านโกโก้นี้ว่าอะไรดี
แต่อยากให้ชื่อนั้น เป็นชื่อที่ลูกค้าได้ยินครั้งเดียว แล้วจำได้
ที่สำคัญคือ อยากให้ลูกค้ารู้ว่ามันเป็นสินค้าของตัวเขาเอง
ในระหว่างนั้นเขาก็ดันไปเจอรูปถ่ายหน้าตรงติดบัตร สมัยเป็นนักเรียน ม.ปลาย
จึงตัดสินใจนำรูปตัวเองสมัยเรียน ไปวางกับตัวหนังสือ ทำเป็นโลโก และนั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ “โกโก้ร้านไอ้ต้น” ในเวลาต่อมานั่นเอง..
แต่ว่าโลโกและชื่อนั้น ถือเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น
สิ่งที่จะทำให้ โกโก้ร้านไอ้ต้น เป็นที่รู้จักมากขึ้น คือ ต้องสร้างจุดเด่นให้กับสินค้าด้วยการตลาด
เขาจึงตั้งชื่อเมนูให้ดูกวน ๆ เช่น ให้ลูกค้าเลือกความเข้มข้นของโกโก้ได้ 4 ระดับ โดยชื่อระดับ ก็ถูกตั้งให้ไม่ธรรมดา
คือ ละอ่อน, เข้ม, โคตรเข้ม และโคตรหวาน โดยขายที่ราคา 45 บาทเท่ากันทุกแก้ว
นอกจากนี้ ยังมีการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ โดยเน้นความกวน มุกตลก ผ่านการทำคอนเทนต์ของเพจร้านเอง
ซึ่งตรงนี้ถือเป็นกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจ เพราะโดยพื้นฐานของคนไทยแล้ว ชอบความตลกและสนุกสนาน
เรื่องนี้ยังไปตรงกับแนวคิดของคุณเดวิด โอกิลวี ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเอเจนซีโฆษณาชื่อดังอย่าง Ogilvy
ที่บอกว่า หนึ่งในเทคนิคการทำโฆษณาและการตลาด คือ เน้นความสนุกสนาน
โดยหนึ่งในผลงานของคุณเดวิด ที่มีภาพประกอบสุดสร้างสรรค์ก็คือ โฆษณา “Hathaway Shirts” แบรนด์เสื้อเชิ้ตที่มีอายุมากกว่า 100 ปี แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
เทคนิคของคุณเดวิดคือ จากเดิมที่เป็นภาพนายแบบใส่เสื้อเชิ้ตเท่ ๆ
แต่คุณเดวิดกลับมองหาตัวช่วยพิเศษ คือให้นายแบบใส่ผ้าปิดตารูปทรงตลก ๆ ที่ดูไม่เข้ากับเสื้อเท่ ๆ เลย
ผลปรากฏว่า ภาพดังกล่าวเป็นที่สะดุดตาของลูกค้า ทำให้เกิดความสงสัยว่า นายแบบเป็นใคร ทำไมต้องใส่ผ้าปิดตาตลก ๆ ด้วย
จนสุดท้ายแบรนด์ก็ตกเป็นที่พูดถึง และทำให้ขายดีในเวลาต่อมา..
ซึ่งการที่คุณต้น พยายามชูความกวนและความตลก ทำให้เมื่อลูกค้าได้อ่านเมนู และอ่านคอนเทนต์ของเพจ ก็เพิ่มโอกาสในการซื้อสินค้าในร้านมากขึ้นไปอีก
จากวันแรก ๆ ที่ขายได้ประมาณ 50 แก้ว ก็ค่อย ๆ ขายดีมากขึ้น เป็นหลัก 200-300 แก้ว จนช่วงพีก ๆ คุณต้นสามารถขายได้ถึงประมาณ 600 แก้ว ใน 1 วัน
เพียงไม่กี่เดือนหลังจากเปิดตัว ปลายปี 2565 โกโก้ร้านไอ้ต้น สามารถขายแฟรนไชส์ไปได้ถึง 210 สาขาทั่วประเทศ
และยังเตรียมที่จะขยายไปยังตลาดต่างประเทศอย่าง ประเทศจีน อีกด้วย..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.