แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เกินครึ่งของโลก ถูกผลิตใน ประเทศจีน

แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เกินครึ่งของโลก ถูกผลิตใน ประเทศจีน

10 มิ.ย. 2023
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เกินครึ่งของโลก ถูกผลิตใน ประเทศจีน | BrandCase
ถ้าพูดถึงธุรกิจแห่งอนาคตในตอนนี้ หลายคนจะนึกถึงรถยนต์ไฟฟ้า หรือที่เรียกกันว่า รถยนต์ EV
ซึ่งสิ่งสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ ก็คือ แบตเตอรี่
รู้หรือไม่ว่า ประเทศจีน ตอนนี้ครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 56% ของแบตเตอรี่รถยนต์ EV ทั่วโลก
ทำไมแบตเตอรี่รถยนต์ EV เกินกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ถูกผลิตในประเทศจีน ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของจีน ก็จะมีอยู่ 2 แบรนด์หลัก ๆ คือ
1.CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV รายใหญ่ที่สุดในโลก
2.BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า อันดับ 1 ของประเทศจีน ที่เพิ่งมาตีตลาดในประเทศไทยได้ไม่นาน
ซึ่งทั้ง 2 แบรนด์นี้ ก็มีจุดเริ่มต้น ที่ใกล้ ๆ กัน เมื่อประมาณ 20-30 ปีก่อน โดยผู้ก่อตั้งที่เติบโตมาจากเส้นทางที่แตกต่างกัน
เริ่มต้นจากคุณ Robin Zeng ผู้ก่อตั้ง CATL
ในขณะที่เขาทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทต่อเรือ เขาได้เห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น อย่าง Sony สามารถผลิต “แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน” ออกขายเชิงพาณิชย์ ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ในปี 1991
เมื่อเขาเห็นดังนั้น เขาจึงให้ความสนใจในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเป็นอย่างมาก เขาจึงลาออกจากงานประจำ
แล้วหันมาศึกษาและเรียนรู้ เกี่ยวกับการทำธุรกิจผลิตแบตเตอรี่โดยเฉพาะ
จนกระทั่งเขาได้ก่อตั้งบริษัท Amperex Technology Limited หรือ ATL ขึ้นเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ในปี 1999
ส่วนทางด้านคุณ Wang Chuanfu ผู้ก่อตั้ง BYD
เขาเริ่มจากได้ทำงานให้กับหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลจีน จนค้นพบว่า อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ กำลังจะเติบโตขึ้นอย่างมาก
จึงทำให้เขาเริ่มก่อตั้งบริษัท BYD ขึ้นในปี 1995
เพื่อเริ่มต้นเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน
โดย BYD แบรนด์ที่เขาได้คิดขึ้นมานั้น ย่อมาจากคำว่า “Build Your Dream”
ทั้ง 2 บริษัท ก็ได้เริ่มต้นธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ในแบรนด์จีน ตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมา
และธุรกิจแบตเตอรี่ ของทั้ง 2 แบรนด์ ก็ได้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
อย่าง ATL ก็สามารถผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่ใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อย่างเช่น
แล็ปท็อป และเครื่องเล่น MP3 ได้ครบ 1 ล้านชิ้น ในปี 2001
ส่วน BYD ก็เริ่มประสบความสำเร็จ จากการเป็นซัปพลายเออร์ ให้กับแบรนด์ดังต่าง ๆ ในยุคนั้นอย่าง Nokia และ Motorola
ซึ่งก็ต้องบอกว่า จีนในช่วงนั้นก็ต้องเจอกับคู่แข่งรายใหญ่ ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
โดยทางฝั่งเกาหลีใต้ ก็รู้ตัวว่า เทรนด์แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV กำลังจะมา
ซึ่ง 2 เจ้าแรก ที่เริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน นั่นคือ SK Group และ LG ซึ่งต่างก็เป็นบริษัทในกลุ่มแชโบล คือกลุ่มทุนใหญ่ในเกาหลีใต้
ทั้ง 2 แบรนด์ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ เพื่อมาวิจัยและพัฒนา
จนทั้งคู่สามารถผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ออกจำหน่ายได้สำเร็จก่อนปี 2000
ส่วน Samsung พี่ใหญ่วงการแชโบล ก็ได้เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดแบตเตอรี่เช่นเดียวกัน
โดยเริ่มผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ส่งออกให้จีนในปี 2001
จะเห็นได้ว่า ทั้งจีนและเกาหลีใต้ ก็มีจุดเริ่มต้นที่ใกล้เคียงกัน
จึงทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา เกาหลีใต้ ก็เข้ามาเป็นคู่แข่งกับจีน ในด้านการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ประเทศ ก็ยังคงตามหลังญี่ปุ่นอยู่ 1 ก้าว
เพราะในตอนนั้น ญี่ปุ่นมีแบรนด์ที่ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนอยู่หลายราย โดยสามารถครองส่วนแบ่งการตลาด ได้ถึง 90%
ซึ่งแบรนด์ใหญ่ ๆ ก็คือ Panasonic และ TDK ที่เป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังของญี่ปุ่น
อย่าง Panasonic ก็ได้ร่วมมือกับ Tesla เพื่อพัฒนาแบตเตอรี่ ให้กับรถยนต์ EV
จึงทำให้ Panasonic เป็นบริษัทแรก ที่ได้ร่วมทุนกับ Tesla เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์ EV อย่าง Tesla Model S และ Tesla Model X
ส่วนบริษัทญี่ปุ่นอีกรายอย่าง TDK ได้เข้ามาซื้อกิจการทั้งหมดของ ATL (ที่ต่อมาจะกลายเป็น CATL) ของคุณ Robin Chang ไป
ทำให้ ATL กลายไปเป็นบริษัทลูกของ TDK ไปก่อนในตอนนั้น
ซึ่งก็ดูเหมือนว่า ญี่ปุ่นจะเริ่มมาครองตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ EV ได้ในช่วงแรก
แต่ทีนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญของทางฝั่งจีนก็เกิดขึ้น ในปี 2009
รัฐบาลจีน ต้องการให้ประเทศจีน ขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
โดยทำการส่งเสริมธุรกิจใหญ่ ๆ 2 ธุรกิจด้วยกัน นั่นคือ
-ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า
-และธุรกิจแบตเตอรี่ ที่ใช้กับยานยนต์ไฟฟ้า
บวกกับในตอนนั้น รัฐบาลจีนมีนโยบายให้เงินอุดหนุนรวมกว่า 500,000 ล้านบาท ให้กับผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
และให้เงินอุดหนุน สำหรับผู้ประกอบการ บริษัทขนส่งสาธารณะ
เพื่อสนับสนุนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งมวลชน แทนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังสนับสนุนเงินทุน ให้กับโครงการวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ EV แบบครบวงจร
ซึ่งจากนโยบายของรัฐบาล ทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ EV ได้ประโยชน์
โดยเฉพาะ 2 แบรนด์แบตเตอรี่ EV ของจีน อย่าง BYD และ ATL
อย่าง BYD ที่ก่อนหน้านี้ทำธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนอย่างเดียว
ต่อมาก็ได้ต่อยอดมาผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) คันแรกของโลกได้
และต่อมาก็พัฒนาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100%
ซึ่ง BYD เองก็ได้ผลิตแบตเตอรี่ เพื่อป้อนให้กับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองด้วย
ส่วนทางบริษัท ATL ที่ก่อนหน้านี้โดน TDK ที่เป็นบริษัทญี่ปุ่นเทกโอเวอร์ไปเป็นบริษัทลูก
แต่คุณ Robin Zeng ที่เป็นผู้ก่อตั้งยังนั่งแท่นผู้บริหารอยู่
คุณ Robin Zeng เห็นโอกาสการเติบโตในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนนักลงทุนชาวจีน ซื้อหุ้นบริษัท ATL กลับออกมาจาก TDK
ทำให้ทั้งคุณ Robin Zeng และนักลงทุนชาวจีน เข้ามาถือหุ้นอยู่ถึง 85% ส่วนอีก 15% ที่เหลือ ยังเป็นของ TDK
และตั้งเป็นบริษัทใหม่ ชื่อว่า “CATL”
ที่ย่อมาจาก Contemporary Amperex Technology Company Limited
เมื่อได้เงินลงทุนแล้ว CATL ก็ได้นำมาลงทุนขยายโรงงาน เพื่อรองรับตลาดแบตเตอรี่ใหม่ ๆ และรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังเติบโต
ซึ่งในภายหลัง ทั้ง BYD และ CATL มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่เติบโตขึ้น
จนแซงหน้าญี่ปุ่น ที่เป็นเจ้าตลาดแบตเตอรี่ EV ได้
ทีนี้ลองมาดู 10 อันดับส่วนแบ่งการตลาด ของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ของปี 2022 อ้างอิงจากเว็บไซต์ Visual Capitalist
อันดับ 1 CATL จากจีน 34%
อันดับ 2 LG Energy Solution จากเกาหลีใต้ 14%
อันดับ 3 BYD จากจีน 12%
อันดับ 4 Panasonic จากญี่ปุ่น 10%
อันดับ 5 SK Innovation จากเกาหลีใต้ 7%
อันดับ 6 Samsung SDI จากเกาหลีใต้ 5%
อันดับ 7 CALB จากจีน 4%
อันดับ 8 GUOXUAN จากจีน 3%
อันดับ 9 SUNWODA จากจีน 2%
อันดับ 10 SVOLT จากจีน 1%
จะเห็นว่า ถ้ารวมส่วนแบ่งการตลาดจาก 10 อันดับแรกของโลก
จีน ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 56% ของตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั้งโลก เลยทีเดียว
มาถึงตรงนี้ ก็จะเห็นได้ว่าในช่วงหลัง ๆ รัฐบาลจีน ได้เริ่มเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต นั่นก็คือ ธุรกิจแบตเตอรี่ EV
เช่นเดียวกับที่รัฐบาลเกาหลีใต้ได้สนับสนุนบริษัทแชโบล เมื่อหลายสิบปีก่อน
ซึ่งก็ดูเหมือนว่า จีนประสบความสำเร็จกับธุรกิจแบตเตอรี่ EV ไปมาก แถมกำลังเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก นำโดยแบรนด์รถยนต์ BYD
แล้วถ้าให้วิเคราะห์ว่า ทำไมรัฐบาลจีน สามารถผลักดัน อุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ภายในประเทศ จนประสบความสำเร็จได้
คำตอบสำคัญเรื่องหนึ่ง ก็คงจะเป็น เรื่องต้นทุนต่าง ๆ ที่มีราคาถูกกว่าหลายประเทศ
ทั้งในเรื่องของวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทาน ที่สามารถหาได้จากทรัพยากรที่มีในประเทศ
และค่าแรงของชาวจีน ซึ่งยังมีราคาถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
นอกจากนั้น จีนยังมีตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่มาก เฉพาะจำนวนประชากรรวม ก็มีกว่า 1,400 ล้านคน ซึ่งมากสุดในโลก
แถมรายได้ต่อหัวของคนจีน ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ มาตลอดหลายสิบปี
และก็ยังมีแนวโน้มว่า คนจีนจะหันมาใช้รถยนต์ EV มากขึ้น
ซึ่งในปี 2022 ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก Counterpoint Research ว่ายอดขายของรถยนต์ EV ราว 59% ของทั้งโลก มาจากจีน
สรุปแล้ว จีน เป็นประเทศที่มีพร้อมทุกอย่างสำหรับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งต้นทุนที่ถูก ซัปพลายเออร์ครบ มีตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่
มันก็เลยทำให้ จีน สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ได้นั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.