กรณีศึกษา รถกระบะ Toyota Hilux ไม่มีขายในสหรัฐฯ เพราะภาษีไก่

กรณีศึกษา รถกระบะ Toyota Hilux ไม่มีขายในสหรัฐฯ เพราะภาษีไก่

4 มิ.ย. 2023
กรณีศึกษา รถกระบะ Toyota Hilux ไม่มีขายในสหรัฐฯ เพราะภาษีไก่ | BrandCase
รู้หรือไม่ ? ที่สหรัฐอเมริกามีภาษีที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า “ภาษีไก่” หรือ Chicken Tax
ซึ่งภาษีตัวนี้ คือต้นเหตุที่ทำให้ไม่มีรถกระบะ Hilux ของ Toyota ขายในสหรัฐอเมริกา
พูดแบบนี้หลายคนน่าจะงง
ว่าทำไมเรียกกันว่า ภาษีไก่ แต่ทำให้รถกระบะ Hilux ขายไม่ได้ ?
BrandCase จะเล่าเรื่องนี้ให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้รวบรวม นักวิทยาศาสตร์และเกษตรกร มาเพื่อพัฒนาพันธุ์สัตว์ปีก
สำหรับบริโภคเพื่อทดแทนเนื้อวัวและเนื้อหมู ที่กำลังขาดแคลนอยู่ในตอนนั้น
ซึ่ง ไก่ ก็คือหนึ่งในสัตว์ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาสายพันธุ์ได้จนเป็นที่น่าพอใจ เพราะสามารถเพิ่มน้ำหนักของไก่ได้มากขึ้นถึง 48% จากน้ำหนักเฉลี่ยของไก่ทั่วไป
ทั้งยังสามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่เล็ก ๆ ทีละจำนวนมาก ๆ และยังมีระยะเวลาเลี้ยงดูที่ลดลงด้วย
ด้วยความรู้ด้านปศุสัตว์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น และพื้นที่ในการเลี้ยงที่ใช้น้อยลง เหล่าเกษตรกรในสหรัฐอเมริกา จึงหันมาเลี้ยงไก่เนื้อกันเป็นจำนวนมาก
แต่ทีนี้ปัญหาที่ตามมาคือ ปริมาณเนื้อไก่ที่ผลิตได้ในประเทศ เพิ่มขึ้นจนมีมากเกินความต้องการในการบริโภค
พอผลิตออกมาเยอะ เยอะจนขายไม่ออก ก็ทำให้ราคาเนื้อไก่ตกลงอย่างรวดเร็ว
รัฐบาลสหรัฐอเมริกา จึงแก้ปัญหาด้วยการหาพื้นที่ส่งออกเนื้อไก่ ไปยังประเทศในแถบยุโรป
ซึ่งเป็นบรรดาประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากร จากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ เช่น เยอรมนี
ปรากฏว่า เนื้อไก่จากสหรัฐอเมริกา ขายดีมากในเยอรมนีและหลาย ๆ ประเทศในยุโรป เพราะราคาถูกกว่าราคาเนื้อไก่ที่ผลิตในแต่ละประเทศ
ซึ่งเรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภค ที่ได้ซื้อเนื้อไก่ราคาถูก ๆ
แต่เรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ดี สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ในยุโรป เพราะทำให้ขายเนื้อไก่ที่ตัวเองผลิตไม่ได้ เพราะราคาสูงกว่าเนื้อไก่จากสหรัฐอเมริกา
ทีนี้ เพื่อป้องกันอุตสาหกรรมปศุสัตว์ภายในประเทศ บรรดารัฐบาลของหลายประเทศในยุโรป จึงรวมตัวกันตั้งกำแพงภาษีเนื้อไก่ ที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ในปี 1962
แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง อุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา ก็กำลังตกที่นั่งลำบากเช่นกัน
เนื่องจาก รถยนต์ Volkswagen Type 2 จากเยอรมนี ได้เข้ามาตีตลาดสหรัฐอเมริกา จนผู้เล่นในประเทศเสียส่วนแบ่งการตลาดไปพอสมควร
2 ปีต่อมา สหรัฐอเมริกา จึงตั้งกำแพงภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศบ้าง
เพื่อตอบโต้ที่เยอรมนีและประเทศในยุโรป ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเนื้อไก่ จากสหรัฐอเมริกา
โดยสินค้าที่ถูกตั้งกำแพงภาษี ก็อย่างเช่น บรั่นดี, แป้งข้าวโพด รวมถึง “รถบรรทุกขนาดเล็ก”
ซึ่ง รถกระบะ ก็ถูกจัดอยู่ในหมวด รถบรรทุกขนาดเล็ก เช่นกัน
โดยชื่อเรียกเล่น ๆ ของกฎหมายภาษีตัวนี้ของสหรัฐอเมริกา ก็คือ Chicken Tax หรือ “ภาษีไก่” นั่นเอง..
หมายความว่า หลังจากสหรัฐอเมริกาตั้งภาษีไก่ขึ้นมา
รถกระบะที่นำเข้าจากต่างประเทศ ก็โดนเก็บภาษี 25%
ซึ่งมันไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ประเทศในยุโรป
เพราะประเทศที่มีผู้ผลิตและส่งออกรถกระบะไปทั่วโลกในตอนนั้น ก็คือ ญี่ปุ่น ที่มีแบรนด์อย่างเช่น Toyota, Nissan
และเรื่องนี้ก็ทำให้ Toyota Hilux และ Nissan Navara ที่เป็นรถกระบะจากทั้ง 2 ค่ายญี่ปุ่น ถูกเลิกส่งไปขายในสหรัฐอเมริกา
เพราะโดนภาษี แล้วไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับแบรนด์รถยนต์ในสหรัฐอเมริกาได้
แต่แบรนด์ญี่ปุ่นเหล่านี้ ก็ใช้วิธีแก้เกม ด้วยการเข้าไปตั้งโรงงานในสหรัฐอเมริกา หรือร่วมมือกับบริษัทรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาเอง
เพื่อผลิตรถบรรทุกขนาดเล็กและรถกระบะ ที่หน้าตาใกล้เคียงกับรุ่นเหล่านี้ออกมาวางจำหน่าย แต่เปลี่ยนชื่อใหม่สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ
อย่างเช่น โรงงาน Toyota ในสหรัฐอเมริกา
ก็ผลิตรถกระบะ “Toyota Tacoma” มาขายแทนที่ Toyota Hilux ในสหรัฐอเมริกา
สรุปแล้ว ที่ไม่มี Toyota Hilux ขายในสหรัฐอเมริกา
ก็เพราะว่ามีภาษีไก่ ที่สหรัฐอเมริกาตั้งขึ้นมาเพื่อเก็บภาษีนำเข้าหลาย ๆ สินค้า
รวมถึง รถกระบะ ตั้งแต่เมื่อ 59 ปีที่แล้ว นั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.