กลยุทธ์ธุรกิจญี่ปุ่น สมัยใหม่ หันไปแทรกซึม สอดไส้ อยู่ในแบรนด์คนอื่น

กลยุทธ์ธุรกิจญี่ปุ่น สมัยใหม่ หันไปแทรกซึม สอดไส้ อยู่ในแบรนด์คนอื่น

1 มิ.ย. 2023
กลยุทธ์ธุรกิจญี่ปุ่น สมัยใหม่ หันไปแทรกซึม สอดไส้ อยู่ในแบรนด์คนอื่น | BrandCase
ยุคนี้ ถ้าหากพูดถึงประเทศเจ้าแห่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ คงต้องยกให้ ไต้หวัน
ถ้าพูดถึงประเทศที่เป็นโรงงานของโลก คงจะนึกถึง จีนแผ่นดินใหญ่
ถ้าพูดถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภาพลักษณ์ใหม่ ๆ หลายคนจะนึกถึง Samsung ของเกาหลีใต้
จนทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วญี่ปุ่น อยู่ตรงไหนในตลาดโลกยุคนี้ ?
ต่างจากเมื่อก่อน ที่เวลานึกถึงสินค้าอะไร อาจจะนึกถึงแบรนด์ญี่ปุ่น เป็นอย่างแรก ๆ
หนึ่งในคำตอบที่น่าสนใจ ได้ถูกเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “ญี่ปุ่นใหม่ พลิกเกมธุรกิจพิชิตโลก”
เขียนโดย Ulrike Schaede ศาสตราจารย์ผู้คร่ำหวอดด้านธุรกิจญี่ปุ่น
ในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานดิเอโก
แล้วธุรกิจญี่ปุ่น พลิกกลยุทธ์ในยุคนี้อย่างไร ให้ยั่งยืนได้ในตลาดโลก
BrandCase สรุปบางส่วนของหนังสือเล่มนี้ มาให้อ่านกันแล้ว แบบเข้าใจง่าย ๆ
ในหนังสือเรื่อง “ญี่ปุ่นใหม่ พลิกเกมธุรกิจพิชิตโลก” พยายามจะบอกว่า จริง ๆ แล้วญี่ปุ่นไม่ได้หายไปไหน
เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาและจีน และญี่ปุ่นยังคงเป็นผู้นำเศรษฐกิจในเอเชียอยู่
แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ที่เราไม่ค่อยเห็นสิ่งของรอบตัวเป็น Made In Japan นั่นเป็นเพราะ ญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนทิศทางธุรกิจของตัวเอง
เปลี่ยนเพื่อหนีจากการผลิตสินค้าพื้น ๆ อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ที่ญี่ปุ่นไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ไปสู่การผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตสินค้าสำคัญในทุกวงการ
โดยสินค้าที่ว่าก็อย่างเช่น
-สารเคมีบริสุทธิ์สูง ที่ใช้ผลิตแผงจอแอลซีดี
-วัสดุขั้นสูง ที่ใช้ผลิตชิปและแบตเตอรี่
-ตัวแยกสัญญาณและตัวเก็บประจุ ที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ
ซึ่งเราคงพอจะสังเกตเห็นแล้วว่า ถึงแม้สินค้าที่เราใช้หลาย ๆ อย่าง อาจจะไม่ได้เขียนว่า Made In Japan
แต่ระบบภายในของมันกลับประกอบด้วยชิ้นส่วนที่มาจากประเทศญี่ปุ่นอยู่
หรือที่ในหนังสือเล่มนี้เรียกว่า ยุค “สอดไส้ญี่ปุ่น” นั่นเอง
แต่กว่าญี่ปุ่นจะสามารถพลิกธุรกิจมาสู่ยุคนี้ได้ จำเป็นต้องมีการปรับตัวใหม่
โดยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ
1.ปรับตำแหน่งกลยุทธ์
โดยให้องค์กรโฟกัสที่การยกระดับความสามารถเดิมให้สูงขึ้น หรือสร้างความสามารถหลักใหม่ ๆ ขึ้นมา
ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ด้าน
ด้านแรก : บริษัทต้องกำหนดธุรกิจหลักออกมาหนึ่งกลุ่ม จะเป็นธุรกิจเดิมหรือธุรกิจใหม่ก็ได้
หรือที่คนในแวดวงธุรกิจญี่ปุ่นเรียกกันว่า “เซ็นตาคุ โตะ ชูจู” คือ “เลือกและโฟกัส”
ด้านที่สอง : จากนั้นบริษัทต้องถอนตัวออกจากธุรกิจอื่นทั้งหมด ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก เช่น ยุบแผนก เลิกกิจการ หรือขายทิ้ง
ด้านที่สาม : บริษัทต้องทำการเสริมธุรกิจหลักให้แข็งแกร่ง เช่น ลงทุนเพิ่มทั้งในเรื่องของบุคลากรและเครื่องมือ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการที่เป็นผู้นำตลาดในธุรกิจนั้น
ด้านสุดท้าย : บริษัทต้องอาศัยวิธีการใหม่ ๆ ที่รวมถึงเน้นด้านการวิจัยและพัฒนา
พอทำแบบนี้ ก็จะทำให้ธุรกิจหลักอันใหม่ที่บริษัทเลือกมาในตอนแรก สามารถขยายและยกระดับความสามารถหลัก ไปสู่ธุรกิจใหม่ที่เข้าสู่ระดับที่แข่งขันได้
2.ปรับโครงสร้างองค์กร
โดยให้องค์กรทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร เช่น กระบวนการทำงาน, ทักษะ, แรงจูงใจ และวัฒนธรรมองค์กร
เพื่อให้เกิดแรงสนับสนุนในการคิดหรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และกล้าเสี่ยงมากขึ้น
โดยการนำวิธีการบริหารแบบเดิม คือเน้นการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตแบบเดิม ให้ชำนาญมากขึ้น หรือลดข้อผิดพลาดให้เหลือน้อยที่สุด
ด้วยการเก็บฟีดแบ็กแล้วปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่าการทำ “ไคเซ็น”
มารวมกับการทำงานแบบ โมโนซุคุริ ที่หมายถึง ศิลปะการผลิตสิ่งของอย่างสร้างสรรค์และคุณภาพดี
เรียกง่าย ๆ ว่าบริษัทญี่ปุ่นต้องออกจากกรอบวัฒนธรรมการทำงานแบบเข้มงวด มาสู่การทำงานแบบกล้าคิดนอกกรอบ กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ
เพื่อให้เห็นภาพการปรับเปลี่ยนธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นมากขึ้น เราขอยกตัวอย่างกรณีของบริษัท Panasonic
เครือ Panasonic ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1918 และในทศวรรษ 1980s ก็เติบโตจนกลายเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านรายใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากนี้บริษัทยังมีธุรกิจอื่นอีก เช่น ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ และธุรกิจเครือข่ายค้าปลีกทั่วญี่ปุ่นกว่า 25,000 แห่ง
ต่อมาในทศวรรษ 1990s บริษัท Panasonic ก็เริ่มตกอันดับลงมาเรื่อย ๆ เนื่องจากตอนนั้นคู่แข่งอย่าง Samsung และ LG จากเกาหลีใต้ ก็กำลังตีตื้นขึ้นมา
เมื่อเริ่มเห็นว่าสินค้าของตัวเองเริ่มล้าหลัง ไม่ว่าจะออกสินค้าตัวไหนมาก็ไม่มีรุ่นไหนติดตลาด
Panasonic จึงหันมาให้ความสำคัญ กับการพัฒนาแบตเตอรี่ และถ่านที่ใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้า
จนสามารถพัฒนาออกมาเป็นถ่านก้อนเล็กที่มีประสิทธิภาพ และมีอายุการใช้งาน ยาวนานมากขึ้น
ซึ่งก็คือ “ถ่านอัลคาไลน์” ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
และทำให้ Panasonic กลายมาเป็นผู้นำในเรื่องถ่านก้อน และแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน
ในส่วนของธุรกิจอื่น ๆ อย่างธุรกิจเครือข่ายค้าปลีก Panasonic ก็ได้ตัดสินใจยุบธุรกิจนี้ทิ้งไป
ตามมาด้วยการเลิกธุรกิจผลิตจอ LCD และเลิกการผลิตโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการขายธุรกิจด้านสุขภาพทิ้งไปด้วย
หลังจากนั้นก็เริ่มมีการซื้อธุรกิจด้าน AI และจ้างพนักงานระดับสูงที่เคยทำงานให้กับไมโครซอฟต์มาดูแลธุรกิจใหม่ 5 กลุ่มหลัก
คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า โซลูชันด้านชีวิตและสิ่งแวดล้อม โซลูชันด้านอุตสาหกรรม โซลูชันด้านการเชื่อมต่อ และแบตเตอรี่รถยนต์
ซึ่งกรณีธุรกิจแบตเตอรี่รถยนต์ของ Panasonic ก็น่าสนใจไม่น้อย
เพราะความรู้ที่ Panasonic ได้สั่งสมมาจากการทำถ่านไฟฉายธรรมดา ถูกพัฒนาสู่การผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งลูกค้าหลักก็คือ “Tesla” นั่นเอง
ซึ่งจากกรณีของ Panasonic ก็ทำให้เห็นว่า บริษัทญี่ปุ่นไม่เพียงแค่ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจ หรือพลิกโครงสร้างธุรกิจใหม่ทั้งหมด
แต่ยังต้องล้างระบบการทำงานเก่า ๆ ตั้งแต่โครงสร้างองค์กรไปจนถึงการจ้างงาน
และถึงแม้ว่าการปรับเปลี่ยนนี้จะต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 20 ปี จนหลายประเทศมองว่า ญี่ปุ่นนั้นเคลื่อนตัวช้าเกินไปจนไม่ทันเพื่อน
แต่ถ้าสังเกตดี ๆ วันนี้ญี่ปุ่นกำลังแทรกซึมและสอดไส้ อยู่ในทุกวงการอุตสาหกรรมของธุรกิจทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็น สารเคมีชั้นสูงที่ใช้ผลิตสารกึ่งตัวนำในเครื่องใช้ไฟฟ้าของ Samsung
หรือวัสดุตั้งต้นที่ใช้สำหรับผลิตแผ่นชิป ที่เรียกว่า ซิลิคอนเวเฟอร์
คนที่เป็นซัปพลายเออร์รายสำคัญของโลก ก็คือบริษัทจากญี่ปุ่น อย่างเช่น Shin-Etsu Handotai และ SUMCO Corporation
ซึ่งซิลิคอนเวเฟอร์ก็ถูกส่งต่อให้บริษัทในไต้หวันอย่าง TSMC เอาไปผลิตชิปของ iPhone เพื่อส่งให้กับ Apple อีกที
ทำให้ญี่ปุ่นทุกวันนี้ แม้ว่าอาจจะไม่ได้ดังด้วยแบรนด์ของตัวเองแบบเมื่อก่อน
แต่ก็เป็นกระดูกสันหลังสำคัญ และเป็นไส้ใน ที่หลายแบรนด์ทั่วโลก ขาดไม่ได้เหมือนกัน..
ขอขอบคุณทาง Amarinbooks ที่แนะนำและส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ทาง BrandCase
ใครสนใจหนังสือเล่มนี้ หรือหนังสือแนว ๆ นี้ สามารถเข้าไปชมและกดสั่งซื้อกันในลิงก์นี้ได้เลย
https://amarinbooks.com/brand/amarin-how-to/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.