กรณีศึกษา เมอร์รี่คิงส์ ศูนย์การค้าชื่อดัง ของวัยรุ่นยุค 80s

กรณีศึกษา เมอร์รี่คิงส์ ศูนย์การค้าชื่อดัง ของวัยรุ่นยุค 80s

23 พ.ค. 2023
กรณีศึกษา เมอร์รี่คิงส์ ศูนย์การค้าชื่อดัง ของวัยรุ่นยุค 80s | BrandCase
หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อ “เมอร์รี่คิงส์”
ซึ่งเป็นศูนย์การค้าชื่อดังที่เปิดให้บริการช่วงปี พ.ศ. 2527 หรือก็คือ ค.ศ. 1984
แต่รู้ไหมว่า วันนี้เมอร์รี่คิงส์หายไปแล้ว
และกลายเป็นเพียงห้างสรรพสินค้าที่คงเหลือไว้ในความทรงจำ
เรื่องราวของ เมอร์รี่คิงส์ น่าสนใจอย่างไร ?
Brandcase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ห้างสรรพสินค้าเมอร์รี่คิงส์ เปิดดำเนินกิจการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527 หรือเมื่อ 39 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับทศวรรษ 1980s
โดยเปิดสาขาแรกบริเวณหัวมุมสี่แยกวังบูรพา ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของโรงภาพยนตร์คิงส์ และโรงภาพยนตร์แกรนด์
ต้องบอกว่า ในไทยยุคนั้นนอกจากห้างชื่อไดมารูและโรบินสันแล้วนั้น
เมอร์รี่คิงส์ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งห้างสรรพสินค้าระดับตำนาน ทั้งยังเป็นจุดนัดพบของวัยรุ่นจำนวนมาก
และหลังจากนั้น เมอร์รี่คิงส์ ก็ค่อย ๆ เปิดสาขาอื่น ๆ ตามมา
ไม่ว่าจะเป็นสาขาสะพานควาย สาขาวงเวียนใหญ่ สาขารังสิต สาขาปิ่นเกล้า สาขาบางใหญ่ รวมแล้วมี 6 สาขา
โดยมีสโลแกนฮิตติดหูหลาย ๆ คน คือ “เมอร์รี่คิงส์ มีทุกสิ่ง ให้เลือกสรร”
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป เมอร์รี่คิงส์ ก็เจอกับความท้าทายหลายอย่าง จนทำให้ความนิยมนั้นค่อย ๆ ลดน้อยลงไป ไม่ว่าจะเป็น
1.เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้หลายครั้ง ตามสาขาต่าง ๆ เช่นในปี 2529 และปี 2547
โดยในปี 2547 เกิดขึ้นที่สาขารังสิต ครั้งนั้นถือว่ารุนแรงมาก ซึ่งเกิดจากเหตุไฟฟ้าลัดวงจร จนสร้างความเสียหายแก่ตัวอาคารและทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 345 ล้านบาท
ถึงขนาดทำให้สาขาแห่งนี้ต้องปิดกิจการลงอย่างถาวรเลยทีเดียว
2.วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในไทย ปี 2540 ก็ส่งผลกระทบต่อ เมอร์รี่คิงส์
3.การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น จากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่มีการขยายสาขาห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ มากมาย
เช่น
กลุ่มเซ็นทรัล ของตระกูลจิราธิวัฒน์กลุ่มโลตัส ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต ของตระกูลเจียรวนนท์ เจ้าของเครือซีพีเดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่บริหารห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์, ศูนย์การค้าสยามพารากอน, เอ็มโพเรียม ของตระกูลอัมพุชบิ๊กซี ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ตอนแรกกลุ่มเซ็นทรัลปลุกปั้น แล้วเปลี่ยนมาอยู่ในมือของ ตระกูลสิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง
ซึ่งกลุ่มทุนที่ต่างพัฒนาห้างและศูนย์การค้าใหม่ ๆ ขึ้นมา
ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ ความนิยมของ เมอร์รี่คิงส์ นั้นค่อย ๆ ลดลงตามไปด้วย
สำหรับ เมอร์รี่คิงส์ ทั้ง 6 สาขานั้น ปัจจุบัน ได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นอย่างอื่นที่แตกต่างกัน โดย
เมอร์รี่คิงส์ สาขาวังบูรพา เปลี่ยนมาเป็น เมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก ที่ขายเสื้อผ้า กล้องฟิล์ม สินค้ามือสอง
เมอร์รี่คิงส์ สาขาสะพานควาย เปลี่ยนมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เดอะ ไรซ์ บาย ศรีศุภราช อาคารสำนักงาน
เมอร์รี่คิงส์ สาขาวงเวียนใหญ่ ปัจจุบันกำลังนำมาประกาศขายอีกครั้ง
เมอร์รี่คิงส์ สาขารังสิต เปลี่ยนมาเป็น โครงการโบ๊เบ๊ทาวเวอร์รังสิต ศูนย์การค้าที่เน้นการขายสินค้าแฟชั่น
เมอร์รี่คิงส์ สาขาปิ่นเกล้า ปัจจุบันเป็นโลตัส สาขาปิ่นเกล้า
เมอร์รี่คิงส์ สาขาบางใหญ่ ปัจจุบันยังไม่มีการปรับปรุงอาคารแต่อย่างใด
และนี่คือเรื่องราวของ เมอร์รี่คิงส์
จากอดีตที่เคยเป็นห้างสรรพสินค้าขวัญใจวัยรุ่นยุค 80s
มาวันนี้ชื่อ เมอร์รี่คิงส์ คงเหลือไว้ในเพียงความทรงจำ ของใครหลายคนเท่านั้น..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.