กรณีศึกษา TSMC บริษัทรับจ้างผลิตชิป ที่พลิกไต้หวัน สู่ความร่ำรวย

กรณีศึกษา TSMC บริษัทรับจ้างผลิตชิป ที่พลิกไต้หวัน สู่ความร่ำรวย

20 พ.ค. 2023
กรณีศึกษา TSMC บริษัทรับจ้างผลิตชิป ที่พลิกไต้หวัน สู่ความร่ำรวย | BrandCase
TSMC คือบริษัทสัญชาติไต้หวัน ที่รับจ้างผลิตชิป ซึ่งลูกค้าของ TSMC ก็อย่างเช่น Apple, AMD, NVIDIA
ที่น่าสนใจคือปี 2022 ที่ผ่านมา TSMC มีรายได้ 2,540,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,140,000 ล้านบาท
คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 45%
จากจุดเริ่มต้นของ TSMC ที่รัฐบาลไต้หวันได้ปลุกปั้น
บริษัทนี้ได้กลายมาเป็นหนึ่งในบริษัท ที่สำคัญกับอุตสาหกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างมาก แบบขาดไม่ได้
นำพาเศรษฐกิจไต้หวัน สู่ความร่ำรวย และเติบโตอย่างก้าวกระโดด
เรื่องราวของ TSMC น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase จะเล่าให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
TSMC หรือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company
มีจุดเริ่มต้นจากรัฐบาลไต้หวัน ที่ต้องการให้เป็นประเทศ แห่งอุตสาหกรรมชิป หรือ เซมิคอนดักเตอร์
ก็ต้องบอกว่า ช่วงทศวรรษ 1960s ไต้หวัน เกาะเล็ก ๆ ที่แปลกแยกจากจีนแผ่นดินใหญ่
ตอนนั้นยังมีแต่ภาคเกษตรกรรม
ซึ่งประชากรยังมีรายได้น้อย ส่วนอุตสาหกรรม ก็จะเน้นเพียงอุตสาหกรรมเบา และรับจ้างผลิตเท่านั้น
ในเวลาต่อมา รัฐบาลไต้หวันอยากสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ ให้ไปแข่งขันในระดับโลกได้
ซึ่งตอนแรก รัฐบาลไต้หวันได้สนับสนุนอุตสาหกรรมเคมีก่อน โดยตั้งเป้าว่า จะเป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลกให้ได้ในอุตสาหกรรมนี้
แต่ก็ไปได้ไม่ถึงฝัน เพราะยุคนั้น มีคู่แข่งที่เก่งทางด้านอุตสาหกรรมเคมีมาก ๆ อยู่แล้ว อย่างเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา
ต่อมาในช่วงยุค 1970s เป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋วชิ้นหนึ่ง ที่สามารถรวมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้หลาย ๆ อันได้สำเร็จ
อุปกรณ์ที่ว่านั้น เรียกว่า “ไมโครโพรเซสเซอร์ (Microprocessor)”
ซึ่งไมโครโพรเซสเซอร์ ก็ได้เปิดทางให้สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ มากมาย อย่างเช่น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เครื่องเล่นเกมพกพา
ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ในรูปแบบของชิปประมวลผล เริ่มเติบโตอย่างก้าวกระโดด
เมื่อรัฐบาลไต้หวัน เห็นโอกาสนี้ จึงได้หันมาส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมไอที โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแทน
โดยตั้งเป้าว่า จะเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกให้ได้
รัฐบาลไต้หวัน ตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ Industrial Technology Research Institute (ITRI) ขึ้นมาในปี 1973
โดยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ
โดยเฉพาะ ชิปหรือชิปเซต ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ประมวลผล เก็บข้อมูล และส่งข้อมูล ที่เปรียบเสมือนสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ซึ่ง ITRI ได้พัฒนากระบวนการผลิตชิป โดยรับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากบริษัทใหญ่ ๆ ในสหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์
นอกจากนี้ ITRI ก็ยังเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนา (R&D) ของอุตสาหกรรมการผลิตชิป ให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ
โดยรับองค์ความรู้จากการผลิตชิป และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จากทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ซึ่งในเวลาต่อมา ทางรัฐบาลไต้หวัน จึงตัดสินใจตั้งบริษัทผลิตชิปบริษัทแรก
โดยแยกตัว หรือ Spin-Off ออกจาก ITRI ออกมาเป็นบริษัทเอกชนคือ บริษัท United Microelectronics Corp หรือ UMC ในปี 1980
ซึ่ง UMC นับเป็นบริษัทที่ออกแบบ และผลิตชิปส่งออกจำหน่าย เป็นแห่งแรกของไต้หวัน
ถึงแม้ว่าบริษัท UMC จะประสบความสำเร็จ และมีอัตรากำไรสูง จากการขายชิปเซต
แต่รัฐบาลไต้หวันกลับมองว่า UMC ยังไม่มีศักยภาพมากพอ ที่จะไปแข่งขันในตลาดโลกได้
ซึ่งในตอนนั้น ชิปของ UMC ก็ถูกนำไปใช้ในแค่สินค้า ที่ไม่ต้องการความซับซ้อนของวงจรมากนัก อย่างเช่น นาฬิกา และของเล่นเด็ก
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลไต้หวันทำต่อก็คือ
-ดึงตัว มอริส จาง ชาวจีน-อเมริกัน อดีตรองประธานบริษัท Texas Instruments ผู้มีประสบการณ์การทำงาน ในวงการเซมิคอนดักเตอร์นานเกือบ 30 ปี มารับตำแหน่ง ประธาน ITRI
ซึ่งมอริส จาง คนนี้ ต่อมาก็ได้ชื่อว่า “บิดาแห่งอุตสาหกรรมชิปไต้หวัน”
-ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นแบรนด์เรือธง ในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกไปทั่วโลก
โดยให้มอริส จาง ช่วยวางแผนและสร้างโมเดลธุรกิจ
ซึ่ง มอริส จาง ก็ได้วิเคราะห์ถึงจุดแข็ง และจุดอ่อน ของอุตสาหกรรมการผลิตชิป ที่ไต้หวันมี ณ ตอนนี้
และเขามองเห็นว่า อุตสาหกรรมการผลิตชิปในไต้หวัน ยังสู้บริษัทใหญ่ ๆ ตอนนั้นอย่าง Intel หรือ Texas Instruments ไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการออกแบบ และการตลาด
แต่จุดแข็งเดียวที่ไต้หวันมีก็คือ ความสามารถในการผลิต ที่สั่งสมประสบการณ์มาตั้งแต่ยุครับจ้างผลิต
เมื่อเห็นแบบนี้ มอริส จาง จึงได้ตั้งบริษัทใหม่ ที่ใหญ่กว่าเดิม นั่นคือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ “TSMC” ขึ้นในปี 1987
โดยตั้งใจสร้างให้เป็นโรงงานรับจ้างผลิตชิปให้กับแบรนด์อื่น หรือ OEM เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องมีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง
ซึ่งการทำธุรกิจรับจ้างผลิตชิป ก็จำเป็นต้องมีโรงงานผลิตที่ทันสมัย ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ การระดมทุน จากบริษัทอื่น ๆ
มอริส จาง พยายามเชิญชวนหลาย ๆ บริษัทยักษ์ใหญ่ ให้เข้ามาร่วมลงทุน แต่ก็โดนปฏิเสธไปหลายครั้ง เพราะอุตสาหกรรมการผลิตชิปในไต้หวันยังดูใหม่เกินไป และไม่มีตลาดรองรับ
เพราะในช่วงนั้น ยังไม่ค่อยมีบริษัทไหนที่จ้างบริษัทอื่นผลิตชิปให้ทั้งหมด เหมือน Apple และ NVIDIA
ตัวอย่างบริษัทที่ ITRI ได้เข้าไปเสนอให้เข้ามาร่วมลงทุน ก็เช่น
บริษัท Intel ที่รับออกแบบและผลิตชิป
และบริษัท Texas Instrument ที่ทำสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์
สุดท้าย ก็มีผู้ที่เข้ามาร่วมลงทุน นั่นคือ บริษัท Royal Dutch Philips Electronics เจ้าของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า Philips จากเนเธอร์แลนด์
โดยได้เข้ามาเป็นผู้หุ้นรายใหญ่ของบริษัท TSMC ในสัดส่วน 27.5%
พร้อมกับเงื่อนไขว่า จะต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตชิป ให้กับบริษัท TSMC
ซึ่งในช่วงนั้นก็ต้องบอกว่า รัฐบาลยังคงสนับสนุนเงินทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ให้กับอุตสาหกรรมการผลิตชิป ร่วมกับภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก
อย่างช่วงต้นทศวรรษ 1990s รัฐบาลไต้หวัน ได้ให้เงินสนับสนุนอุตสาหกรรมชิป ไปมากถึง 45% ของทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศ
แต่การทุ่มทุนอย่างเต็มกำลังในตอนนั้น ก็ออกดอกผลิบานเต็มที่ในวันนี้
เพราะปัจจุบัน TSMC ได้กลายมาเป็นผู้ผลิตชิปสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่
ครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 59% ในปี 2023
โดยรับจ้างผลิตชิปที่ต้องใช้สถาปัตยกรรมชั้นสูง ซึ่งมีลูกค้าคนสำคัญ อย่างเช่น Apple, AMD, Qualcomm และ NVIDIA
และด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่มากขนาดนี้ ทำให้บริษัทไอทีมากกว่าครึ่งหนึ่ง จำเป็นต้องพึ่งพาซัปพลายเออร์ ผู้ผลิตชิปรายใหญ่อย่าง TSMC
ซึ่งนอกจาก TSMC แล้ว จากที่รัฐบาลไต้หวัน สนับสนุนอุตสาหกรรมไอทีมานาน ก็ยังทำให้ไต้หวัน มีบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง ที่ทำสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ตัวอย่างเช่น
-MediaTek บริษัทผู้ออกแบบ และจำหน่ายชิป บริษัทลูกของ UMC
ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาด ในการจำหน่ายชิปเซตของสมาร์ตโฟน เป็นอันดับ 1 ของโลก
-UMC จากเดิมที่ออกแบบ และผลิตชิป ก็เปลี่ยนมาเป็นผู้รับจ้างผลิตชิปเพียงอย่างเดียว
ปัจจุบันครองส่วนแบ่งการตลาด 6% ซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของของโลก
-Formosa Sumco Technology ผู้ผลิตซิลิคอนเวเฟอร์ สำหรับนำไปพิมพ์ลาย ให้เป็นโครงสร้างทางเดินของวงจรไฟฟ้า
ซึ่ง Formosa Sumco เป็นซัปพลายเออร์คนสำคัญของบริษัทผลิตชิปหลายราย อย่าง TSMC, UMC และ SMIC บริษัทผลิตชิปจากจีน
-Delta Electronics บริษัทประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ
อย่าง ประกอบแผงวงจร PCB, อินเวอร์เตอร์ เพาเวอร์ซัปพลาย และอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ
ซึ่งคนไทยก็น่าจะได้ยินชื่อ Delta กันมาบ้าง เพราะบริษัทได้มาตั้งบริษัทลูก และโรงงานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในประเทศไทย และจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยด้ว
-Foxconn บริษัทที่รับจ้างประกอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับบริษัทไอทีต่าง ๆ
เช่น ประกอบ iPhone ให้กับ Apple ปัจจุบันเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 2 ของไต้หวัน รองจาก TSMC
จากตัวอย่างบริษัทเหล่านี้ ก็พอจะเห็นถึงห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตชิป และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไต้หวัน
ซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด
อย่างที่เราเห็นได้จาก GDP ต่อหัวของไต้หวัน
ปี 1970 ไต้หวันมี GDP ต่อหัว 13,300 บาท ต่อคนต่อปี
ปี 1995 ไต้หวันมี GDP ต่อหัว 440,000 บาท ต่อคนต่อปี
ปี 2020 ไต้หวันมี GDP ต่อหัว 953,000 บาท ต่อคนต่อปี
สำหรับเคสนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ สำหรับเกาะเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร อย่างไต้หวัน
แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของรัฐบาล และผู้บริหารที่มองเห็นอนาคตของประเทศ
ที่สามารถพัฒนา และผลักดันอุตสาหกรรมขนาดจิ๋ว อย่าง ชิปเซต ให้เติบโต
โดยเฉพาะ TSMC ที่พลิกไต้หวันสู่ความร่ำรวย ในวันนี้..
และปิดท้ายด้วย อัตราการทำกำไรที่น่าสนใจมาก ของ TSMC
ปี 2020 รายได้ 1,502,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 581,000 ล้านบาท
อัตรากำไรสุทธิ 39%
ปี 2021 รายได้ 1,781,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 661,000 ล้านบาท
อัตรากำไรสุทธิ 37%
ปี 2022 รายได้ 2,540,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,140,000 ล้านบาท
อัตรากำไรสุทธิ 45%
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.