กรณีศึกษา Ducati เริ่มจากโรงงานวิทยุ แต่โดนทิ้งระเบิดใส่ แล้วค่อยมาทำ บิ๊กไบค์

กรณีศึกษา Ducati เริ่มจากโรงงานวิทยุ แต่โดนทิ้งระเบิดใส่ แล้วค่อยมาทำ บิ๊กไบค์

17 พ.ค. 2023
กรณีศึกษา Ducati เริ่มจากโรงงานวิทยุ แต่โดนทิ้งระเบิดใส่ แล้วค่อยมาทำ บิ๊กไบค์ | BrandCase
ถ้าธุรกิจของเราโดนยึดโรงงาน และโดนทิ้งระเบิดใส่ เราอาจจะท้อจนถึงขั้นเลิกทำธุรกิจไปเลย
ซึ่งเหตุการณ์ไม่คาดฝันทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นกับโรงงานของบริษัทแห่งหนึ่งในอิตาลี
แต่บริษัทนี้ ไม่ได้แค่ลุกขึ้นมาสู้ใหม่ เพราะวันนี้พวกเขายิ่งใหญ่ จนกลายเป็น “Ducati” แบรนด์นักบิดเจ้าความเร็ว จากอิตาลี
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ Ducati ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากโรงงานผลิตอะไหล่หรือชิ้นส่วนรถ แต่กลับเริ่มต้นจากการทำ โรงงานผลิตวิทยุเล็ก ๆ
ตำนาน Ducati น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase จะเล่าให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของแบรนด์รถจากประเทศอิตาลี
มักจะเริ่มต้นจากเรื่องราวของผู้ก่อตั้งแบรนด์ ที่มีความหลงใหลในการแข่งรถ ไม่ว่าจะเป็น Ferrari, Lamborghini หรือ Maserati
แต่เรื่องราวของ Ducati นั้นแตกต่างออกไป..
แรกเริ่มเดิมที Ducati เกิดจาก 3 พี่น้อง Adriano, Marcello และ Bruno Cavalieri Ducati ที่เริ่มต้นทำธุรกิจในปี 1926
ทั้ง 3 คน เพียงแค่ต้องการสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับความต้องการวิทยุในช่วงนั้น
ก่อนจะต่อยอดไปพัฒนาโรงงานจนสามารถผลิตวิทยุ, เครื่องคิดเลข ไปจนถึงเครื่องโกนหนวด ของตัวเองออกมาวางจำหน่ายได้ในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่ออิตาลีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปี 1939
โรงงานของ Ducati ถูกกองทัพเยอรมนีใช้เป็นฐานการผลิตวิทยุสำหรับการทหาร
และต่อมา โรงงาน Ducati ก็ยังถูกทิ้งระเบิดทำลาย จากกองทัพอเมริกัน
แม้ว่าการถูกทิ้งระเบิดในครั้งนั้น เกือบจะทำให้ 3 พี่น้อง Ducati ต้องปิดกิจการลงไปแล้วก็ตาม แต่มันก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ของ Ducati เช่นกัน
เพราะหลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง ชาวอิตาลียังคงมีความต้องการเดินทางอยู่ ในขณะที่รถยนต์ส่วนใหญ่ที่เคยมีก็ถูกนำไปใช้ในสงครามเกือบหมดแล้ว
Ducati จึงได้นำเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ยังพอหลงเหลืออยู่ มาผลิตเครื่องยนต์ขนาดเล็กราคาถูก เพื่อรองรับความต้องการ
จนเป็นที่มาของเครื่องยนต์รุ่นแรกของ Ducati อย่าง Cucciolo
ที่แม้จะมีแรงขับเคลื่อนเพียงแค่ 1.5 แรงม้า แต่เมื่อนำไปติดตั้งกับจักรยาน ก็จะเปลี่ยนให้จักรยานนั้น ๆ กลายเป็นมอเตอร์ไซค์ขนาดจิ๋ว
ด้วยยอดขายกว่า 200,000 ชิ้นของ Cucciolo นี่เอง ที่ทำให้ Ducati รู้สึกว่ามาทางนี้แล้วรุ่ง ก็เลยหันไปโฟกัสกับธุรกิจยานยนต์อย่างเต็มตัว
โดยหัวใจสำคัญที่ทำให้ Ducati สามารถรักษาฐานลูกค้าได้เรื่อยมา คือความหลงใหลของแบรนด์ ที่มีต่อการสร้างรถมอเตอร์ไซค์
คือมอเตอร์ไซค์ ต้องไม่ได้มีดีเพียงแค่ความเร็วเท่านั้น แต่จะต้องมีดิไซน์โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย
และที่สำคัญคือ ต้องบ่งบอกไลฟ์สไตล์ของผู้ขับขี่ได้ด้วย
โดยเฉพาะเครื่องยนต์ L-Twin และ วาล์ว Desmodromic ของ Ducati
ที่นอกจากจะช่วยให้เสียงเครื่องยนต์มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองแล้ว ยังช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถเร่งเครื่องยนต์ได้อย่างอิสระ
จนทำให้ประโยคที่ว่า “การแข่งขันคือหัวใจ” กลายเป็นคำที่พูดกันในหมู่พนักงาน จนถึงผู้บริหารของ Ducati
ซึ่งการันตีความสำเร็จในเรื่องนี้ของ Ducati จากรางวัลชนะเลิศ 15 ครั้ง ของ Ducati ในงาน Superbike World Champions ซึ่งเป็นการแข่งขันบิ๊กไบค์ระดับโลก ตลอดระยะเวลา 34 ปีที่ผ่านมา
และ Ducati ก็ต่อยอดและพัฒนารถมอเตอร์ไซค์และบิ๊กไบค์รุ่นใหม่ ๆ ออกมาจนถึงปัจจุบัน
จนกลายเป็นแบรนด์ขวัญใจสาวก บิ๊กไบค์ ในวันนี้..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
แม้ Ducati จะมีต้นกำเนิดมาจากชาวอิตาลี แต่บริษัทก็ถูกเปลี่ยนมือเจ้าของอยู่หลายครั้ง
เช่น ไปอยู่ในทั้งมือของรัฐบาลอิตาลี ไปจนถึง บริษัทจากสหรัฐอเมริกา
จนปัจจุบันเจ้าของ Ducati ก็คือ “Volkswagen Group” ที่ตัดสินใจซื้อ Ducati ในปี 2012 ด้วยมูลค่าถึง 40,500 ล้านบาท
โดยที่ Volkswagen Group ก็ยังมี แบรนด์รถลักชัวรีอยู่ในมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Audi, Bentley, Lamborghini และ Porsche
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.