กรณีศึกษา โตเกียว เมืองหลวงญี่ปุ่น มีรถไฟ 121 สาย และเชื่อมต่อ ถึงกันหมด

กรณีศึกษา โตเกียว เมืองหลวงญี่ปุ่น มีรถไฟ 121 สาย และเชื่อมต่อ ถึงกันหมด

11 พ.ค. 2023
กรณีศึกษา โตเกียว เมืองหลวงญี่ปุ่น มีรถไฟ 121 สาย และเชื่อมต่อ ถึงกันหมด | BrandCase
กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าทั้งบนดิน ใต้ดิน เปิดให้บริการแล้ว 7 สาย
และในอีกหลายปีนี้ ก็มีแผนเปิดให้บริการเพิ่มอีกหลายสาย
แต่จำนวนที่ว่านี้ ก็ยังเทียบไม่ได้เลย
กับรถไฟที่ให้บริการในเมืองหลวงของญี่ปุ่น อย่าง โตเกียว
รู้หรือไม่ว่า กรุงโตเกียวและเขตปริมณฑล มีเส้นทางรถไฟฟ้ากว่า 121 สาย และมีผู้ให้บริการรถไฟ 30 กว่าราย
และที่สำคัญคือ เส้นทางทั้งหมดนี้สามารถเดินทางเชื่อมต่อถึงกันได้หมด..
เรื่องราวของรถไฟญี่ปุ่น ที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่สำหรับคนโตเกียว มีอะไรน่าสนใจ ?
BrandCase จะเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้น ของรถไฟใต้ดินในโตเกียว ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ชื่อคุณ Hayakawa
ซึ่งจากประสบการณ์ที่คุณ Hayakawa ได้คลุกคลีกับ ธุรกิจสร้างทางรถไฟมานาน
ทำให้เขาได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน เกี่ยวกับระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน ที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกา
สิ่งที่ได้ไปเห็นคือ โมเดลรถไฟใต้ดินสำหรับขนส่งมวลชนในลอนดอน ที่เรียกว่า London Underground
เขาจึงอยากทำระบบรถไฟใต้ดินแบบนี้ในโตเกียวบ้าง
คุณ Hayakawa กลับมาตั้งบริษัทเอกชน เพื่อเดินรถไฟฟ้าขึ้น โดยใช้ชื่อว่า Tokyo Underground Railway พร้อมกับใช้เวลาศึกษาและก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า เป็นเวลากว่า 7 ปี
จนเขาได้รับอนุญาตจากรัฐบาลท้องถิ่นกรุงโตเกียว ให้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟใต้ดิน
โดยเริ่มต้นบุกเบิกเส้นทางรถไฟใต้ดิน เป็นสายแรกของญี่ปุ่น นั่นคือ “สายกินซ่า” หรือ Ginza Line
ซึ่งถือว่าเป็นรถไฟใต้ดินสายแรก ในเอเชียด้วย
เส้นทางจะวิ่งจากย่านชิบูย่า (Shibuya) ที่อยู่ใจกลางเมือง ไปยังย่านอาซากุสะ (Asakusa) ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดโบราณ ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง วัดเซ็นโซจิ
รถไฟใต้ดินสายกินซ่า เปิดให้บริการในปี 1927 ซึ่งนับว่าญี่ปุ่น ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายแรกขึ้นมาเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้น ญี่ปุ่น ยังอยู่ในยุคล่าอาณานิคมอยู่เลย
ซึ่ง Tokyo Underground Railway ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Tokyo Metro ในเวลาต่อมา
ต่อมาในปี 1941 รัฐบาลกลางญี่ปุ่นและรัฐบาลท้องถิ่นกรุงโตเกียว ได้เข้ามาควบรวมกิจการเดินรถ Tokyo Metro สายกินซ่า รถไฟใต้ดินสายแรกในโตเกียว
และตั้งบริษัทดูแลรถไฟขนส่งมวลชน ที่มีชื่อว่า Teito Rapid Transit Authority หรือ TRTA
เพื่อดูแลรถไฟฟ้าในพื้นที่เมืองโตเกียวโดยเฉพาะ
จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 1950s หรือช่วงหลังสงครามโลกได้ไม่นาน
TRTA ก็เริ่มวางแผนขยายเส้นทางรถไฟใต้ดินในโตเกียวออกไปเรื่อย ๆ
ในขณะนั้น เมืองโตเกียวมีประชากรหนาแน่นขึ้นมาก ถนนเริ่มมีรถติดมากขึ้น
ทำให้การก่อสร้างรถไฟใต้ดินสายใหม่ ๆ จึงเป็นนโยบายเร่งด่วน ของรัฐบาลท้องถิ่นกรุงโตเกียว
เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโตเกียว ตัดสินใจหันมาเป็นผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินในโตเกียวอีก 1 ราย โดยตั้งบริษัทชื่อว่า Toei Subway ขึ้นมา
โดย Toei Subway เริ่มเปิดให้บริการสายรถไฟ Asakusa Line ในปี 1960
ทำให้ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโตเกียว เป็นผู้ให้บริการรถไฟใต้ดิน ผ่าน 2 ผู้ให้บริการด้วยกัน
คือ Toei Subway และ TRTA ที่บริหารงานร่วมกับรัฐบาลกลางของญี่ปุ่น
ซึ่งต่อมา TRTA ได้ถูกแปรรูปเป็นบริษัทชื่อ Tokyo Metro ในปี 2004 เพื่อให้สามารถบริหารธุรกิจเดินรถไฟฟ้า อย่างคล่องตัวมากขึ้นไปอีก
โดยปัจจุบัน Tokyo Metro เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้งหมด 9 สาย มีจำนวนสถานีกว่า 179 สถานี
ส่วน Toei Subway เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้งหมด 4 สาย มีจำนวนสถานีกว่า 106 สถานี ซึ่งทุกสถานีเป็นสถานีรถไฟใต้ดินทั้งหมด
รวมแล้วรัฐบาลท้องถิ่นกรุงโตเกียว เป็นผู้บริหารรถไฟใต้ดินเอง รวม 13 สาย มีสถานีรถไฟฟ้า 285 สถานี ทั่วเมืองโตเกียว
แต่.. ในโตเกียว ก็ไม่ได้มีเพียงแค่ 2 ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า ที่บริหารโดยรัฐบาลท้องถิ่นกรุงโตเกียวเท่านั้น
เพราะยังมีผู้ให้บริการรถไฟรายใหญ่ ในมหานครโตเกียวและปริมณฑล ก็คือบริษัท “JR East” ที่เป็นหนึ่งในผู้เดินรถไฟชินคันเซ็น
ซึ่ง JR East เป็นบริษัท ที่บริหารรถไฟเฉพาะในภูมิภาคคันโต ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงโตเกียว
และภูมิภาคโทโฮกุ ที่อยู่ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น
JR East เพียงรายเดียว เป็นผู้ให้บริการรถไฟกว่า 37 สาย ในกรุงโตเกียวและปริมณฑลรอบ ๆ โตเกียว
ตัวอย่างเส้นทางรถไฟสายหลัก นั่นคือเส้นทางรถไฟสาย Yamanote Line
ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟสายที่ขึ้นชื่อว่าคับคั่งที่สุดในกรุงโตเกียว และเป็นเส้นทางรถไฟสายที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ เพราะจะไปเชื่อมต่อกับสถานที่สำคัญในกรุงโตเกียว
โดยสายรถไฟของ JR East ก็ถูกออกแบบ ให้เชื่อมต่อกับรถไฟสายอื่น ๆ และรถไฟใต้ดินทั้ง 13 สาย ที่บริหารโดยรัฐบาลท้องถิ่นกรุงโตเกียว
นอกจากนี้ ในกรุงโตเกียวและปริมณฑล
ก็ยังมีผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ที่เป็นของบริษัทเอกชนรายอื่น ๆ หรือที่เรียกว่า Private Railway ด้วย
ซึ่งบริษัทเดินรถไฟฟ้าเอกชนในญี่ปุ่น ก็จะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลท้องถิ่น ให้ก่อสร้าง เดินรถ และสามารถทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รอบ ๆ สถานีได้
อย่างเช่น ศูนย์การค้า และอะพาร์ตเมนต์รอบสถานี
โดยที่เส้นทางรถไฟฟ้าของเอกชน จะต้องไม่ทับซ้อนกับเส้นทางรถไฟของ JR East และ Tokyo Subway ที่เป็นของรัฐบาล
ปัจจุบัน บริษัทเอกชนที่เดินรถไฟฟ้าในโตเกียวและเมืองใกล้เคียง มีมากกว่า 20 ราย
ตัวอย่างคือ
-Tokyu Railways
บริษัทเดินรถไฟเอกชนที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1910 ให้บริการรถไฟฟ้าในจังหวัดชานเมือง โซนตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียว
โดยเริ่มจากสถานีชิบูย่า ไปจนถึงเมืองโยโกฮามา เมืองท่าที่อยู่ใกล้โตเกียว
ปัจจุบันมีเส้นทางเดินรถไฟฟ้า 9 สาย และมีสถานีให้บริการมากกว่า 100 สถานี
-Fujikyuko Line
บริษัทเดินรถไฟที่นิยมมากสำหรับคนต่างชาติ รวมถึงคนไทย ที่อยากไปชมวิวภูเขาไฟฟูจิ
โดยเส้นทางรถไฟ จะเชื่อมต่อกับสายรถไฟ Chuo Line ของบริษัทรถไฟ JR East แล้ววิ่งมายังเมืองคาวากูจิโกะ ที่เป็นที่ตั้งของทะเลสาบสวย ๆ หลายแห่ง และอยู่ใกล้กับภูเขาไฟฟูจิ
ซึ่งก็ไม่ใช่แค่รอบเมืองโตเกียว ที่มีผู้ให้บริการรถไฟมากขนาดนี้
เพราะเมืองใหญ่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ก็ยังมีผู้ให้บริการรถไฟเอกชน หรือ Private Railway อีกจำนวนมาก เช่น
-เมืองโอซากา มีบริษัทเดินรถไฟเอกชนรายใหญ่ถึง 5 ราย
-เมืองนาโกยะ และเมืองฟูกูโอกะ มีบริษัทเดินรถไฟเอกชนที่วิ่งในเมือง ร่วมกับบริษัทเดินรถของรัฐบาลท้องถิ่นเช่นเดียวกัน
แต่เรื่องที่น่าสนใจมากกว่าการมีสายรถไฟที่มากเป็นร้อยสาย และผู้ให้บริการหลายสิบราย
คือสายรถไฟในเมืองนั้น “เชื่อมต่อกันได้หมด”
เช่น ที่สถานีรถไฟชิบูย่า (Shibuya Station) เพียงสถานีเดียว สามารถเชื่อมต่อรถไฟสายต่าง ๆ ได้ทั้งหมด 9 สาย ผ่านผู้ให้บริการทั้งหมด 4 ราย ที่แชร์สถานีร่วมกัน
สถานีรถไฟชินจูกุ (Shinjuku Station) สถานีรถไฟที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก
สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟสายต่าง ๆ ได้มากถึง 11 สาย ผ่านผู้ให้บริการทั้งหมด 5 ราย ที่แชร์สถานีร่วมกัน
และแค่เฉพาะในโตเกียวและปริมณฑล ก็มีจำนวนสถานีรถไฟฟ้าที่เป็นสถานีเชื่อม ให้เปลี่ยนสายกันอย่างไร้รอยต่อ มากถึง 882 สถานี
โดยหากผู้โดยสารอยากเปลี่ยนเส้นทาง ที่มีผู้ให้บริการเดินรถคนละเจ้า ก็สามารถซื้อตั๋วโดยสาร ภายในสถานีนั้น ๆ ได้เลย
ถึงตรงนี้หลายคนน่าจะสงสัยว่า
ระบบรถไฟฟ้าในญี่ปุ่นที่มากมายขนาดนี้ แล้วมีตั๋วโดยสารที่ใช้ร่วมกันแต่ละสายไหม ?
คำตอบคือ “มี” แต่มีเฉพาะบางสายหลัก ๆ ในโตเกียว
อย่างเช่นบัตร Suica Card บัตรขึ้นรถไฟฟ้า สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปโตเกียว
โดยบัตรนี้สามารถใช้ขึ้นรถไฟได้ทั้งบนดินของ JR East, รถไฟใต้ดินทั้ง Tokyo Metro และ Toei Subway
รวมถึงรถไฟ Tokyo Monorail ที่วิ่งระหว่างสนามบิน Haneda และรถบัสในกรุงโตเกียว
จะเห็นว่า ญี่ปุ่น คือผู้บุกเบิกเส้นทางรถไฟใต้ดินรายแรก ๆ ในเอเชีย
จนวันนี้มีระบบรถไฟเป็นขนส่งมวลชนที่ยิ่งใหญ่ และครอบคลุมมากแห่งหนึ่งในโลก
ซึ่งเกิดจากการร่วมกันทำให้สมบูรณ์ ไร้รอยต่อที่สุด
โดยอาศัยความร่วมมือกัน ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน..
References
รายงานเรื่อง Japanese Private Railway Companies and Their Business Diversification, Takahiko Saito
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.