สรุปแนวคิด แก้ปัญหาคอขวด ทำงานไม่ลื่นไหล จากเคสของ Toyota

สรุปแนวคิด แก้ปัญหาคอขวด ทำงานไม่ลื่นไหล จากเคสของ Toyota

25 มี.ค. 2023
สรุปแนวคิด แก้ปัญหาคอขวด ทำงานไม่ลื่นไหล จากเคสของ Toyota | BrandCase
ปัญหาคอขวด หรือ Bottleneck คือ ปัญหาที่เปรียบเสมือนการเทน้ำออกจากขวด แล้วน้ำค่อย ๆ ไหลออกมาช้า ๆ เพราะว่าปากขวดและคอขวดมันแคบ
ตัวอย่างในชีวิตประจำวันของเรา เช่น
-รถติดที่ด่านเก็บเงินบนทางด่วน
-ต่อคิวซื้อตั๋วรถไฟฟ้า
-หรือจะเป็นงานที่ทำไม่เสร็จสมบูรณ์สักที เพราะต้องรอหัวหน้าที่ไม่ยอมมาตรวจความเรียบร้อย
ปัญหาพวกนี้ พอเกิดสะสมไปเรื่อย ๆ จะทำให้การทำงาน หรือกระบวนการของการทำสิ่งนั้น ๆ ช้าลงแบบที่ไม่ควรจะเป็น
คำถามคือ แล้วเราจะแก้ปัญหาด้วยวิธีไหนได้บ้าง ?
ลองมาดูเคสวิธีแก้ปัญหานี้ ของ Toyota
BrandCase จะสรุปให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
ต้องบอกว่า Toyota จะมีหลักคิดในการปรับปรุง และพัฒนากระบวนการผลิต ในโรงงานและองค์กรของตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งพวกเขาเรียกว่า การทำ “ไคเซ็น (Kaizen)”
เรื่องหลัก ๆ ในการทำไคเซ็นของ Toyota ก็จะเป็นการเช็กจุดด้อยของกระบวนการทำงาน เพื่อปรับปรุง และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ปัญหาคอขวด
โดย Toyota ใช้ 3 ข้อสำคัญในการบอกว่า จุดไหนเป็นจุดด้อยที่ต้องปรับปรุง คือ
1.MUDA คือ ความสูญเปล่าที่ต้องกำจัด อย่างเช่น
การออกแบบขั้นตอนที่ไม่ดี หรืออุปกรณ์การทำงานไม่ดีพอ จนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของพนักงานมากเกินไป และเสียเวลาในการทำงาน
2.MURA คือ ความไม่สม่ำเสมอของการผลิต
เป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้งานออกมามีมาตรฐานที่เหมือนกัน
3.MURI คือ การรับภาระงานที่หนักหน่วงเกินไป จนทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพ
เช่น งานโหลดที่คนคนเดียวมากเกินไป จนคนนั้นทำงานได้ไม่มีคุณภาพ
จาก 3 ข้อที่ว่ามา ข้อแรก วิธีแก้เบื้องต้นคือ การออกแบบอุปกรณ์และคู่มือการทำงานให้ดีขึ้น
ส่วนข้อที่ 2 และ 3 วิธีแก้คือ ต้องจัดระเบียบการทำงานของคนในทีม หรือไลน์การผลิตใหม่
ซึ่งเราลองมาดูตัวอย่างกันให้เห็นภาพ
ถ้าในไลน์การผลิตชิ้นส่วนหนึ่ง ต้องใช้คนงานประกอบทั้งหมด 5 คน
โดยแต่ละคน จะถูกแบ่งงานให้ทำให้เสร็จ แล้วค่อยส่งต่อให้คนถัดไป
สมมติว่าแต่ละคน มีเวลาทำงานตามนี้
-คนที่ 1 ประกอบชิ้นส่วน A ใช้เวลา 10 นาทีต่อชิ้น
-คนที่ 2 ประกอบชิ้นส่วน B ใช้เวลา 10 นาทีต่อชิ้น และชิ้นส่วน C ใช้เวลา 4 นาทีต่อชิ้น
-คนที่ 3 ประกอบชิ้นส่วน D ใช้เวลา 6 นาทีต่อชิ้น
-คนที่ 4 ประกอบชิ้นส่วน E ใช้เวลา 10 นาทีต่อชิ้น
-คนที่ 5 ประกอบชิ้นส่วน F ใช้เวลา 10 นาทีต่อชิ้น
ทั้ง 5 คน ก็จะทำงานของตัวเองไปเรื่อย ๆ โดยใช้เวลาทำงานวันละ 10 ชั่วโมง
จากขั้นตอนดังกล่าว ถ้าเราสังเกตดี ๆ จะเห็นได้ว่า จุดที่เป็นคอขวด ก็คือคนที่ 2
เพราะเขาใช้เวลาทำงาน รอบละ 14 นาที ซึ่งคนที่ 3 ก็ต้องรองานจากคนที่ 2 และคนอื่น ๆ แล้วค่อยส่งต่อ
หมายความว่า พนักงานคนอื่นหลังจากคนที่ 2 จะต้องว่างงานระยะเวลาหนึ่งในแต่ละรอบ เพราะต้องรอคนที่ 2 ทำงานเสร็จก่อน แล้วค่อยส่งต่อมา
เพราะฉะนั้น ปัญหาคอขวดตอนนี้ อยู่ที่พนักงานคนที่ 2 ในไลน์การผลิตนั่นเอง
ซึ่งสำหรับการแก้ปัญหาคอขวดแบบนี้ ก็คือการจัดลำดับการทำงานใหม่ให้ลงตัว
ตัวอย่างเช่น
เปลี่ยนคนที่ทำงาน ประกอบชิ้นส่วน C จากคนที่ 2 ไปเป็นคนที่ 3 เพื่อให้ทุกคน มีเวลาในการประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เท่ากัน ที่คนละ 10 นาที
ซึ่งจะทำให้งาน สามารถไหลไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด
และจะช่วยให้ไลน์การผลิต ทำงานได้เร็วขึ้นได้
ซึ่งอันนี้ก็เป็นแค่เคสแนวทางการแก้ไขปัญหาคอขวด เรื่องการทำงานไม่ลื่นไหลของ Toyota
และตัวอย่างวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นเท่านั้น
แต่เชื่อว่าใครที่เจอปัญหาทำงานไม่ลื่นไหลแบบนี้อยู่
ลองใช้เวลาสำรวจและทบทวน กระบวนการทำงานดูสักหน่อย
เพราะปัญหาคอขวดที่หลายคนเจออยู่
บางที แค่พลิกแพลงมันนิดเดียว
ก็อาจจะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น และลื่นไหลขึ้น ได้อีกเยอะเลย..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.