ทำไม ไอศกรีม Wall’s ถึงมีหลายชื่อ ในหลายประเทศ

ทำไม ไอศกรีม Wall’s ถึงมีหลายชื่อ ในหลายประเทศ

14 มี.ค. 2023
ทำไม ไอศกรีม Wall’s ถึงมีหลายชื่อ ในหลายประเทศ | BrandCase
รู้ไหมว่าไอศกรีม Wall’s มีชื่ออื่น ๆ อีกกว่า 40 ชื่อใน 52 ประเทศทั่วโลก
ตัวอย่างเช่น
ในอิตาลี ใช้ชื่อว่า Aligida
ในเยอรมนี ใช้ชื่อว่า Langnese
ในเนเธอร์แลนด์ ใช้ชื่อว่า Ola
ในสหรัฐอเมริกา ใช้ชื่อว่า Good Humor
ในบราซิล ใช้ชื่อว่า Kibon
ในอังกฤษ ที่เป็นประเทศต้นกำเนิด และประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ รวมถึงไทย ใช้ชื่อว่า Wall’s
ถึงแม้ว่าจะมีชื่อที่แตกต่างกัน แต่ทุกแบรนด์จะใช้โลโกเดียวกัน คือโลโกรูปหัวใจ ที่เรียกว่า Heartbrand Logo ที่เราคุ้นเคยกัน
แล้วเพราะอะไร ถึงต้องใช้หลายชื่อมากขนาดนี้ ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ประวัติคร่าว ๆ ของไอศกรีม Wall’s คือมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ โดยคุณ Richard Wall
โดยปัจจุบัน อยู่ในมือของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Unilever
โดยชื่อ Wall’s นั้นถือเป็นชื่อดั้งเดิม ส่วนชื่อแบรนด์อื่น ๆ นั้นก็ค่อย ๆ ตามมาทีหลัง
แต่ทั้ง Wall’s และแบรนด์รูปหัวใจชื่ออื่น ๆ ก็อยู่ภายใต้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Unilever เหมือนกัน
แล้วทำไม Unilever ถึงใช้กลยุทธ์แบบนี้ ?
1. ทำให้แบรนด์เข้าถึงคนท้องถิ่น
ต้องบอกว่าหนึ่งในกลยุทธ์หลัก ๆ ของ Unilever คือการเข้าไปซื้อกิจการ ผู้ผลิตไอศกรีมในประเทศต่าง ๆ
ซึ่งบริษัทเหล่านี้ ก็มีฐานลูกค้า และประวัติศาสตร์ของตัวเองมาอย่างยาวนานอยู่แล้ว
อย่างเช่น ไอศกรีมแบรนด์ Kibon ซึ่งเป็นแบรนด์ไอศกรีมในบราซิล ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1941
สุดท้าย Kibon แบรนด์นี้ก็ตกมาอยู่ในมือของ Unilever ในปี 1997
นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมไอศกรีม Wall’s ในบราซิล ถึงใช้ชื่อว่า Kibon โดยมีโลโกรูปหัวใจแปะอยู่อย่างทุกวันนี้
ซึ่ง Unilever ก็บอกว่า ที่พวกเขาไม่อยากจะเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น Wall’s
ก็เพราะต้องการรักษาฐานลูกค้าเดิมที่คุ้นเคยกับแบรนด์ไว้ รวมถึงรักษาประวัติของแบรนด์ที่มีมาอย่างยาวนานด้วย
กลยุทธ์นี้ก็ถูกใช้กับประเทศอื่น ๆ ที่ Unilever เข้าไปทำตลาดด้วยเช่นกัน
อย่างเช่น แบรนด์ Good Humor แบรนด์ไอศกรีมสัญชาติอเมริกันที่ก่อตั้งมาอย่างยาวนาน เมื่อถูก Unilever ซื้อไป ก็ยังคงใช้ชื่อเดิม แต่มีโลโกรูปหัวใจเพิ่มเข้ามา
2. แค่เห็นโลโกรูปหัวใจ ก็เพียงพอให้คนจำได้แล้ว
แน่นอนว่าถึงจะใช้ชื่อไม่เหมือนกัน แต่สมมติว่า หากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศสักประเทศหนึ่ง แล้วไปเห็นไอศกรีมที่ขายอยู่ในตู้ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ใช้ชื่อว่า Wall’s หรือชื่อที่หลายคนคุ้นเคย
แต่ถ้าเห็นโลโกรูปหัวใจอยู่.. มันก็จะทำให้พวกเขารู้ว่า นี่คือแบรนด์อะไร และจะรู้สึกคุ้นเคยกับแบรนด์นี้ขึ้นมาทันที
ซึ่งทาง Unilever ก็ใช้ข้อนี้ เป็นเหตุผลส่วนเสริมเหตุผลข้อแรก
ว่าแม้ชื่อจะไม่เหมือนกัน แต่โลโกรูปหัวใจของพวกเขา ก็เพียงพอให้คนจำได้แล้ว..
และปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ..
โมเดลในการนำไอศกรีมไปขายบนรถ แล้ววิ่งขายบนถนน ให้คนเรียกจอดนั้น มีขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1930
โดยแต่ก่อนนั้น Wall’s เคยใช้รถม้าเพื่อส่งไอศกรีมที่พวกเขาผลิตขึ้นไปตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ก็มาพบทีหลังว่าการขนส่งแบบนี้ ทำให้ไอศกรีมส่วนใหญ่ละลายจนต้องทิ้ง
ทางบริษัท จึงเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานสามล้อ พร้อมติดตู้แช่ขนาดเล็กไว้สำหรับใส่ไอศกรีม แล้วมาวิ่งขายตามบ้านแทน โดยเริ่มใช้จักรยานสามล้อวิ่งส่งตามบ้านครั้งแรก ตามถนนในเมืองลอนดอน
โดยใช้สโลแกนว่า “Stop Me And Buy One” หรือแปลว่า “หยุดฉัน แล้วซื้อสักอันสิ”
ซึ่งทุกวันนี้ ไอศกรีม Wall’s ก็ยังคงใช้วิธีการขายแบบนี้ให้เราได้เห็นอยู่ในหลายประเทศ
แต่เปลี่ยนจากจักรยานสามล้อมาเป็น มอเตอร์ไซค์..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.