อธิบาย FIFO จัดการสินค้าแบบ “เข้าก่อน ออกก่อน” แบบตู้แช่น้ำ ใน 7-Eleven

อธิบาย FIFO จัดการสินค้าแบบ “เข้าก่อน ออกก่อน” แบบตู้แช่น้ำ ใน 7-Eleven

11 มี.ค. 2023
อธิบาย FIFO จัดการสินค้าแบบ “เข้าก่อน ออกก่อน” แบบตู้แช่น้ำ ใน 7-Eleven | BrandCase
วิธีจัดการสินค้าแบบหนึ่งที่นิยมใช้กัน คือ “FIFO” ที่ย่อมาจากคำว่า First In First Out แปลตรงตัวก็คือ “เข้าก่อน ออกก่อน”
ซึ่งตัวอย่างที่อธิบายวิธีแบบนี้ได้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ตู้แช่เครื่องดื่ม ใน 7-Eleven
แล้วยังมีอะไรที่ต้องรู้อีกบ้าง เกี่ยวกับคำว่า FIFO ที่ว่านี้ ?
BrandCase จะสรุปให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
ถ้าเราเดินเข้าไปใน 7-Eleven แล้วเปิดตู้แช่น้ำเพื่อหยิบเครื่องดื่มเย็น จะเห็นว่า ตู้ถูกออกแบบให้ทะลุไปด้านหลังเชื่อมกับห้องเย็น
ซึ่งในห้องด้านหลัง ก็จะมีเครื่องดื่มสต็อกไว้ด้านใน และพนักงานสามารถเติมเครื่องดื่ม จากด้านหลังตู้เย็นได้
การทำแบบนี้ จะทำให้เครื่องดื่มที่ถูกเติมเข้ามาในตู้เย็นก่อน ถูกหยิบออกไปก่อน แล้วชิ้นที่มาทีหลัง ก็จะถูกดันขึ้นมาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็มาอยู่ข้างหน้า
ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่อธิบายการจัดการสินค้า แบบที่เรียกว่า “เข้าก่อน ออกก่อน” หรือ FIFO (First In First Out)
หลักการของ FIFO นั้นง่าย ๆ เลยก็คือ
สินค้าล็อตไหน ที่ได้สั่งซื้อเข้ามาก่อน ให้นำออกไปจำหน่ายก่อน
ซึ่ง FIFO ก็เป็นวิธีการระบายสินค้าคงค้าง สามารถนำไปใช้ได้ดีกับสินค้าที่มีอายุสั้น เช่น อาหารสด ที่มีวันหมดอายุ
หรือจะใช้กับสินค้าอะไรก็ได้ ที่ต้องการขายของที่รับมาก่อน ให้ออกไปก่อน
ปัจจุบัน FIFO ก็ถูกนำไปใช้ ในหลากหลายธุรกิจด้วยกัน
ทั้งร้านค้าปลีก และโรงงานผลิตชิ้นส่วน
ซึ่ง BrandCase ก็จะขอยกตัวอย่างเคสที่ใช้ FIFO บ่อย ๆ
1.ภายในห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-Eleven, Makro หรือ Lotus’s
ร้านค้าปลีกเหล่านี้ ก็จะมีพนักงานคอยเติมสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาที่ด้านในสุดของชั้นวางสินค้า
โดยสินค้าที่อยู่ด้านในสุด ก็จะไปดันสินค้าที่ค้างบนชั้นวางให้ออกมาด้านนอก เพื่อให้ลูกค้าสามารถหยิบสินค้าออกไปได้ง่าย ๆ
2.ภายในโรงงานประกอบชิ้นส่วน เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ก็จะใช้วิธีการควบคุมสต็อกวัตถุดิบ (Raw Material) เช่นเดียวกัน เช่น
-ออกแบบชั้นวาง สำหรับวางวัตถุดิบให้มีความลาดเอียง
เหมือนชั้นวางสินค้าในห้างสรรพสินค้า เพื่อให้พนักงานคลังสินค้า สามารถวางวัตถุดิบจากด้านหลังให้ไหลไปด้านหน้าได้
และเพื่อให้พนักงานในไลน์ผลิต สามารถหยิบวัตถุดิบจากด้านหน้าสุด ไปทำการผลิต หรือประกอบสินค้าได้เลยทันที
-ใช้วิธีการควบคุมด้วยการมองเห็น โดยการใช้ป้ายแท็ก หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ บนวัตถุดิบล็อตที่มาก่อนหรือมาหลัง
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น การใช้ สี แทนเดือนหรือวันต่าง ๆ ที่รับวัตถุดิบเข้ามา
ซึ่งวิธีการเหล่านี้ ทำให้พนักงานในไลน์ผลิตสามารถรู้ได้ทันที ว่าวัตถุดิบในแต่ละล็อต ถูกรับมาตั้งแต่วันไหน หรือเดือนไหน
เช่น เชนร้านอาหารที่รับไก่สด อาจใช้ถุงสีเหลือง แทนไก่ล็อตที่รับมาในวันจันทร์, ใช้ถุงสีสีชมพูสำหรับไก่ล็อตที่รับมาในวันอังคาร
นอกจากที่ FIFO จะถูกนำมาใช้ในการจัดการคลังสินค้าแล้ว ก็ยังถูกนำไปใช้คิด “ต้นทุนเฉลี่ยต่อชิ้น” ของสินค้าและวัตถุดิบ ในช่วงเวลาต่าง ๆ ได้
เพื่อให้เห็นภาพ จะลองยกตัวอย่างวิธีคิด
สมมติว่า ร้านของเรา สั่งซื้อสินค้า A แบรนด์หนึ่งมาขาย โดยมีต้นทุนต่อชิ้นของแต่ละล็อต ดังนี้
ล็อตที่ 1 สั่งมา 100 ชิ้น ต้นทุนชิ้นละ 40 บาท
ล็อตที่ 2 สั่งมา 200 ชิ้น ต้นทุนชิ้นละ 50 บาท
ล็อตที่ 3 สั่งมา 100 ขวด ต้นทุนชิ้นละ 60 บาท
หลักการคือ ล็อตไหนขายหมด ค่อยเอามาคิด ล็อตไหนขายยังไม่หมด ก็จะยังไม่เอามาคิดต้นทุนเฉลี่ย
-ถ้าขายสินค้า A ล็อตที่ 1 หมด
ต้นทุนคือ 100 x 40 เท่ากับ 4,000 บาท
หารด้วยจำนวนสินค้า 100 ชิ้น เฉลี่ยแล้วต้นทุนชิ้นละ 40 บาท
-ถ้าขายสินค้า A ล็อตที่ 1 และ 2 หมด
ต้นทุนคือ 100 x 40 = 4,000 บาท บวกกับ 200 x 50 = 10,000 บาท
จะเป็นต้นทุนรวม 14,000 บาท
หารด้วยจำนวนสินค้า 300 ชิ้น เฉลี่ยแล้วต้นทุนชิ้นละ 46.7 บาท
-ถ้าขายสินค้า ได้หมดทุกล็อต
ต้นทุนคือ 100 x 40 = 4,000 บาท บวกกับ 200 x 50 = 10,000 บาท บวกกับ 100 x 60 = 6,000 บาท
จะเป็นต้นทุนรวม 20,000 บาท
หารด้วยจำนวนสินค้า 300 ชิ้น เฉลี่ยแล้วต้นทุนชิ้นละ 50 บาท
จะเห็นว่าแต่ละช่วงเวลา ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วย จะไม่เท่ากัน
ซึ่งการคิดแบบนี้ ก็เหมาะกับการคิดต้นทุนต่อหน่วย ของสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น เนื้อหมู เนื้อปลา ไข่ไก่
มาถึงตรงนี้ ก็พอจะสรุปได้ว่า..
หัวใจของการจัดการสินค้าแบบ FIFO คือการพยายามขายของที่ รับมาก่อน ให้ออกไปก่อน เหมือนกับตู้แช่เครื่องดื่มใน 7-Eleven ที่บังคับให้เราหยิบสินค้าชิ้นหน้า ๆ ก่อน
ซึ่งข้อดีของมันก็คือ ช่วยระบายของเก่าออกไปก่อนได้
นอกจากนั้น หลัก FIFO ยังสามารถนำมาปรับใช้ เพื่อช่วยในเรื่องการคิดต้นทุนเฉลี่ยของสินค้า
ที่ราคาของมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ได้อีกด้วย..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.